เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 5 ก.ค. ที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาล สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  ชั้น 1 อาคารสำนักงาน ก.พ. นายพิเชษฐ์ เจียมบุรเศรษฐ์ นายกสมาคมกิจการรถโดยสารประจำทางไทย ได้นำผู้ประกอบการรถโดยสารจากบริษัท นครชัยแอร์ จำกัด, บริษัท เทพสมบัติ จำกัด (สมบัติทัวร์), บริษัท นครชัยทัวร์ จำกัด, บริษัท กิตติสุนทร จำกัด และบริษัท นครชัยขนส่ง จำกัด เข้ายื่นหนังสือ ถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมติดตามข้อเรียกร้องเพื่อเยียวยาผู้ประกอบการรถโดยสารในสถานการณ์แพร่ระบาดโรคไวรัสโควิด-19 โดยมี นายสมพาศ นิลพันธ์ ที่ปรึกษาสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้แทนเข้ารับมอบหนังสือ 

นายพิเชษฐ์ เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อสภาพเศรษฐกิจภายในประเทศทั่วทุกภาคส่วนอย่างมาก โดยเฉพาะผู้ประกอบการธุรกิจ SME ที่ต้องประสบปัญหาขาดทุน และหยุดกิจการไปหลายแห่ง ซึ่งผู้ประกอบการรถโดยสารเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการสาธารณะ ในรูปแบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญด้านการคมนาคมทั่วประเทศ ได้รับผลกระทบจากการต้องลดเที่ยววิ่งจากเดิม เหลือเพียง 25-30% อัตราบรรทุกผู้โดยสารเฉลี่ยลดลงกว่า 50% ต่อเที่ยววิ่ง และผู้ประกอบการบางรายต้องหยุดเดินรถชั่วคราว เพราะทนต่อสู้กับค่าใช้จ่ายไม่ไหว  

ที่ผ่านมาสมาคมฯ ได้มีหนังสือขอความช่วยเหลือผู้ประกอบการรถโดยสารไปยังผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่เดือน ม.ค., เม.ย. และ พ.ค.64 รวมจำนวน 3 ฉบับ พบว่า ผลของความช่วยเหลือที่ได้รับอย่างชัดเจน และเป็นรูปธรรมเป็นเรื่องการเร่งฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้กลุ่มพนักงานบริการรถโดยสาร ส่วนข้อเรียกร้องอื่นๆ ที่ได้นำเสนอไปนั้นยังไม่มีความคืบหน้า ดังนั้นสมาคมฯ จึงเดินทางมายื่นหนังสือติดตามและเยียวยาดังกล่าว กับนายกรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือตามข้อเสนอดังนี้ 

นายพิเชษฐ์ กล่าวต่อว่า 1.ตรึงราคาน้ำมันเชื้อเพลิง เฉพาะรถขนส่งผู้โดยสาร ดีเซลไม่เกินลิตรละ 20 บาท NGV ลดเหลือ 10.62 บาท กม.รวมถึงตรึงราคา LPG ด้วย 2.ยกเว้นการเก็บภาษีรถโดยสารประจำปี 64 3.ยกเว้นการทำประกันภัยรถโดยสารภาคสมัครใจประจำปี 64 4.ให้บริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) งดเว้น หรือลดการเรียกเก็บค่าธรรมเนียม หรือค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวกับการเดินรถทั้งหมดให้ผู้ประกอบการรถร่วมเป็นระยะเวลา 1 ปี

5.ขอจัดการเดินรถโดยสารประจำทาง ให้สามารถหมุนเวียนได้ทุกเส้นทาง เหมือนธุรกิจการบิน เพื่อให้สามารถใช้ตัวรถอย่างเต็มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนผู้ประกอบการ 6.ขอให้ช่วยเหลือผู้ประกันตนอยู่ในสิทธิ์ประกันสังคม ให้ได้รับสิทธิการช่วยเหลือเยียวยา จากสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ในอัตรา 50% เป็นเวลาไม่เกิน 90 วัน และ 7.ขอให้ผ่อนคลายการจำหน่ายตั๋วโดยสารต่อรถ 1 คัน ได้ตามปกติ 100% เมื่อการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ในพื้นที่ควบคุมสีอแดงเข้มได้ระดับ 30% ของจำนวนประชากรเป้าหมาย  

นายพิเชษฐ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หวังว่าข้อเสนอดังกล่าวจะได้รับการพิจารณาจากนายกรัฐมนตรีต่อไป เพื่อเยียวยาผู้ประกอบการที่ให้บริการขั้นพื้นฐานในด้านการขนส่งสารธารณะของประเทศไทยยังคงสามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ โดยผู้ประกอบการทุกราย มีความมุ่งมั่นประกอบกิจการเดินรถโดยสาร พร้อมพัฒนา และปฏิบัติตามแนวทางและมาตรการของสาธารณสุขเพื่อช่วยควบคุม และป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ให้ร่วมกันผ่านพ้นภาวะวิกฤติ และยังให้ธุรกิจสามารถดำเนินต่อไปได้ เพื่อให้บริการขั้นพื้นฐานแก่ประชาชนที่ยังมีความจำเป็นต้องเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะ ให้เป็นบริการที่อยู่เคียงข้างการพัฒนาเศรษฐกิจประเทศไทยตลอดไป