กลายเป็นประเด็นติดไฟลุกขึ้นมาทันที หลังราชกิจจานุเบกษา ประกาศว่ามาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดวันที่ 20 ก.ค.นี้ จนทำให้ชาวบ้านกังวลว่าหลังจากนั้น ราคาน้ำมันดีเซลจะพุ่งทันทีลิตรละ 5 บาท จากปัจจุบัน 32 บาท เป็น 37 บาท เลยหรือไม่ เรื่องนี้ ทีมเศรษฐกิจเดลินิวส์ พาไปหาคำตอบ

คือ ไม่จำเป็นว่าหลังสิ้นสุดมาตรการภาษีแล้ว ราคาน้ำมันดีเซลจะขึ้นเลยลิตรละ 5 บาท เพราะปัจจุบันการลดภาษี ส่วนหนึ่งนำตัวเงิน ไปใช้เข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง และอีกส่วนก็นำไปลดราคาขายปลีก ไม่ใช่เอาภาษีที่ลดไปช่วยราคาขายปลีกให้ประชาชนทั้งหมด ที่สำคัญกระทรวงพลังงาน ก็ยังสามารถใช้กลไกของกองทุนน้ำมันฯ เข้าไปดูแลราคาขายปลีกดีเซลได้อีก

จำเป็นไหมต้องลดภาษีอีก?

  • หากเทียบสถานการณ์ช่วงที่รัฐบาลใช้มาตรการลดภาษีดีเซลเพื่อดูแลราคาปลีก สถานการณ์ในอดีต น้ำมันดิบตลาดโลกพุ่งขึ้นสูงเกินลิตร 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล อีกทั้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมีหนี้เกิน 1 แสนล้านบาท ทำให้ต้องลดภาษีเข้าช่วยพยุงราคาน้ำมันในประเทศ
  • สถานการณ์ปัจจุบัน ได้เปลี่ยนไป น้ำมันดิบลดเหลือ 70 กว่าดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ประกอบกับกองทุนน้ำมัน สามารถจัดเก็บรายได้เอง และมีหนี้กองทุนลดเหลือ 7.2 หมื่นล้านบาท อีกทั้งกองทุนน้ำมันฯ ยังมีกรอบเงินกู้ให้ใช้ได้กว่า 1.1 แสนล้าน
  • ทำให้ความจำเป็นในการใช้มาตรการลดภาษีน้ำมันลดน้อยลง และสามารถใช้กลไกกองทุนน้ำมันเข้าไปดูแลราคาน้ำมันดังเช่นปกติได้

สำหรับสถิติการใช้มาตรการลดภาษีดีเซล ของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เริ่มขึ้นตั้งแต่เดือน ก.พ. 65 ที่ผ่านมา ถึงปัจจุบัน ได้เห็นชอบใช้มาตรการลดภาษีดีเซลไปแล้ว 7 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 1.58 แสนล้านบาท มีรายละเอียด ดังนี้

  • ครั้งที่ 1 วันที่ 18 ก.พ.-20 พ.ค. 65 ลดภาษีลิตร 3 บาท เป็นเวลา 3 เดือน รัฐสูญรายได้ 18,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่2 วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 3 ช่วงวันที่ 21 ก.ค.-20 ก.ย. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 4 ช่วงวันที่ 21 ก.ย.-20 พ.ย. 65 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 5 ช่วงวันที่ 21 พ.ย. 65-20 ม.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 6 ช่วงวันที่ 21 ม.ค.-20 พ.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 4 เดือน รัฐสูญรายได้ 40,000 ล้านบาท
  • ครั้งที่ 7 ช่วงวันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 66 ลดภาษีดีเซลลิตรละ 5 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รัฐสูญรายได้ 20,000 ล้านบาท โดยทุกการลดภาษีดีเซล 1 บาท จะทำให้รัฐสูญเสียรายได้ไป 1,000 ล้านบาทต่อเดือน