สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากเมืองมาร์แซย์ ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 5 ก.ย. ว่า องค์การระหว่างประเทศเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ ( ไอยูซีเอ็น ) เผยแพร่รายงานประจำปี ว่าด้วยการประเมินสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตบนโลก 138,374 สายพันธุ์ ปรากฏว่า ประมาณ 28% ของสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตดังกล่าว มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ "เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนัก จากกิจกรรมทำลายล้างของมนุษย์ที่มีต่อระบบนิเวศ"
หนึ่งในสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่มีการยกตัวอย่างว่าอยู่ใน "บัญชีแดง" คือ มังกรโคโมโด ซึ่งเป็นตะกวดขนาดใหญ่ที่สุดในโลก กำลังเผชิญกับความยากลำบากในการดำรงชีวิต ด้วยภาวะโลกร้อนส่งผลให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูง สถานที่อาศัยของมังกรโคโมโดเหลือเพียงที่อินโดนีเซีย คือ อุทยานแห่งชาติโคโมโด บริเวณหมู่เกาะซุนดาน้อย ซึ่งองค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ( ยูเนสโก ) ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางธรรมชาติ และที่เกาะโฟลเรสซึ่งอยู่ใกล้กันเท่านั้น
ทั้งนี้ ไอยูซีเอ็นเตือนว่า หากภาวะโลกร้อนยังคงมีความรุนแรงระดับนี้ต่อไป ประชากรมังกรโคโมโดที่มีน้อยอยู่แล้ว อาจลดลงอีก 30% ภายในเวลา 45 ปีนับจากนี้
ขณะที่ประชากรฉลามและกระเบน 37% จากประมาณ 1,200 สายพันธุ์ "อยู่ในภาวะอันตราย" และเผชิญกับความเสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ พร้อมทั้งแสดงความกังวลด้วยว่า ฉลามบางสายพันธุ์อาจสูญพันธุ์ไปแล้วด้วย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ของปลาทูน่าสายพันธุ์หลัก 4 สายพันธุ์บนโลก รวมถึง ปลาทูน่าครีบน้ำเงิน และปลาทูน่าครีบเหลือง มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความพยายามของหลายฝ่าย ในการจำกัดโควตาการจับปลาทูน่า และสอดส่องการลักลอบจับปลาทูน่า แม้ความเปลี่ยนแปลง "อย่างรุนแรง" ของระบบนิเวศ เพิ่มแรงกดดันให้กับประชากรปลาทูน่าบนโลกเช่นกัน.
เครดิตภาพ : REUTERS