เมื่อวันที่ 27 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 30 พ.ค. เวลา 14.30 น. พรรคก้าวไกล ได้แจ้งกำหนดการว่า พรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 8 พรรคการเมือง จะมีการประชุมพูดคุยแนวทางและแผนงานการทำงานร่วมกันหลังการลงนามเอ็มโอยูเมื่อวันที่ 22 พ.ค.ที่ผ่านมา ที่ทำการพรรคประชาชาติ เพื่อหารือกรอบถึงการเตรียมความพร้อมในการบริหารและนโยบายของแต่ละพรรคการเมืองให้ไปในทิศทางเดียวกัน
ทั้งนี้ ในวันดังกล่าวจะมีการพูดคุยถึงตำแหน่งต่างๆ ในรัฐบาลว่าสัดส่วนรัฐมนตรีของแต่ละพรรคจะได้กี่ที่นั่ง และจะได้รัฐมนตรีกระทรวงใดบ้างที่สอดคล้องกับนโยบายของแต่ละพรรค ขณะที่พรรคเพื่อไทยเองได้มีเริ่มมีการพูดคุยเรื่องวางตัวรัฐมนตรีในสัดส่วนของพรรคแล้ว แต่ยังไม่สรุปอย่างทางการว่าบุคคลใดจะเข้ามาทำหน้าที่ในกระทรวงใดบ้าง
โดยสูตรคำนวณแบ่งรัฐมนตรีจะคิดจากจำนวน ส.ส. หารด้วย 8.6 ต่อรัฐมนตรี 1 ที่นั่ง ซึ่งพรรคก้าวไกลได้ 14 ที่นั่งบวก 1 เก้าอี้นายกรัฐมนตรี พรรคเพื่อไทยได้ 14 เก้าอี้ พรรคประชาชาติ ได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรี พรรคไทยสร้างไทย ได้ 1 เก้าอี้รัฐมนตรีช่วย ส่วนพรรคเล็กที่มี ส.ส. 1-2 ที่นั่งนั้น ได้แก่ พรรคเสรีรวมไทย พรรคเพื่อไทรวมพลัง พรรคเป็นธรรม และพรรคพลังสังคมใหม่ เมื่อรวมเสียงแล้วอาจจะไม่ถึงสูตรที่กำหนดไว้ ก็อาจจะไม่ได้เก้าอี้รัฐมนตรี
ส่วนตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังไม่มีการพูดคุยในวันที่ 30 พ.ค. เพราะเป็นเรื่องที่พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล ทั้งสองพรรคต้องพูดคุยกันเองไม่ได้เกี่ยวกับพรรคอื่น แต่แกนนำพรรคเพื่อไทยมองว่าจะต้องมีการหารือกันด้วยเหตุด้วยผล
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่เลือกใช้พรรคประชาชาติในการประชุมนั้น ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเทียบเชิญให้วันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาฯ หรือเข้ามาเป็นกาวใจความไม่ลงรอยที่เกิดขึ้นภายในพรรคร่วมรัฐบาล เพราะหลังจากนี้จะมีการประชุมสลับไปในทุกพรรคเช่นกัน.