เมื่อวันที่ 26 พ.ค. พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย กล่าวถึงกรณีการแย่งเก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคก้าวไกล กับ พรรคเพื่อไทย (พท.) ว่า เข้าใจดีทั้งสองพรรค เพราะพรรค พท. และพรรคก้าวไกล มีคะแนนห่างกันไม่มาก พรรคก้าวไกลมี 151 เสียง พรรค พท. 141 เสียง แต่เป็นห่วงว่า หากพรรค พท. ไม่ร่วมรัฐบาลด้วยจะเป็นปัญหาจัดตั้งรัฐบาล จะไปหาเสียงใหม่จากไหน จึงต้องคุยกันเพื่อหาทางออกร่วมกัน ส่วนข้อเสนอของนักวิชาการให้พรรคอันดับ 3 คือ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา หัวหน้าพรรคประชาชาติ เป็นประธานสภาผู้แทนราษฎรนั้น ส่วนตัวเห็นด้วยเพื่อเป็นคนกลาง และเป็นผู้มีความอาวุโส เคยเป็นประธานสภามาแล้ว รู้กฎระเบียบ อย่างการเลือกตั้งปี 62 พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ได้ 58 เสียง ก็ได้เป็นประธานสภา

แต่หากจะให้พรรคก้าวไกล กับ พรรค พท. แบ่งวาระการดำรงตำแหน่งประธานสภาคนละ 2 ปีนั้น ไม่เห็นด้วย เพราะบ้านเมืองไม่ใช่ตัวตลกแบ่งครึ่งประธานสภา หรือนายกฯ ส่วนการแบ่งโควตารัฐมนตรีนั้น ขึ้นอยู่กับพรรคร่วมรัฐบาลจะให้ดำรงตำแหน่งอะไร พูดอะไรมากไม่ได้ เพราะมีแค่ 1 เสียง

ทางด้าน นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบายพรรคเสรีรวมไทย กล่าวว่า คงไม่ลุกลามเป็นความขัดแย้งระหว่าง 2 พรรค น่าจะเจรจาตกลงกันได้ ทุกอย่างจบลงด้วยการพูดคุย โดยจะต้องตกลงให้ได้ภายในวงก่อนที่จะนำมาพูดภายนอก

ส่วนตัวเชื่อว่าพรรค พท. ไม่ได้อยากได้เก้าอี้ประธานสภาผู้แทนราษฎร แต่เป็นเกมต่อรองเพื่อให้ได้ของที่เยอะกว่า เช่น โควตาคณะรัฐมนตรี (ครม.) หากนำเก้าอี้ รมว.มหาดไทย (มท.1) มาแลกกับประธานสภา อาจจะตกลงกันได้ เพราะพรรคก้าวไกลมองว่า ตำแหน่งประธานสภามีความสำคัญ จำเป็นต้องได้มา เพื่อไว้คุมเกมในการโหวตเลือกนายกฯ หากต้องไปฟรีโหวตในการเลือกประธานสภาจริงๆ มีความเป็นไปได้สูงที่พรรค พท. จะได้เป็นประธานสภาเพราะพรรคอื่นๆ อย่างพรรค ปชป. พรรคภูมิใจไทย (ภท.) พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) น่าจะลงคะแนนให้ตัวเลือกจากพรรค พท. ในกรณีที่มีการชิงตำแหน่งกันแค่ 2 พรรค ส่วนข้อเสนอให้นายวันมูหะมัดนอร์ มาดำรงตำแหน่งประธานสภาแทนนั้น ก็เป็นไปได้ แต่อาจจะมีปัญหาเรื่องอายุที่นายวันมูหะมัดนอร์มีอายุมากแล้ว