เมื่อวันที่ 18 พ.ค. นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงกรณีผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกประสานความร่วมมือเฝ้าติดตามสายพันธุ์โรคโควิด-19 “FU.1” หรือ XBB.1.16.1.1 หลานของสายพันธุ์โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย XBB.1.16 ซึ่งพบมีความได้เปรียบในการเติบโตและแพร่ระบาดสูงกว่า XBB.1.16 ถึง 50% โดยไทยพบแล้ว 1 คนว่า รายงานพบผู้ป่วยในไทย 1 รายนั้น เป็นข้อมูลที่กรมวิทย์ฯ รายงานเข้าสู่ฐานข้อมูลโควิดโลก(GISAID) แต่ยังไม่พบความรุนแรงจนส่งผลถึงเสียชีวิต ทั้งนี้การแพร่ระบาดเร็วอาจจะมาจากปัจจัยอื่นๆ ด้วย ทั้งการรวมตัวทำกิจกรรมมากขึ้น ประชาชนใส่หน้ากากน้อยลง

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ยังจำเป็นต้องมีมาตรการ อาทิ 1.การฉีดวัคซีนป้องกันโรค โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 ซึ่งขณะนี้มีวัคซีนเพียงพอ รวมถึง LAAB 2.กรณีกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะคนที่ฉีดวัคซีนมานานแล้ว หากติดเชื้อขอให้รีบไปพบแพทย์ ได้รับยาต้านไวรัส 3.เฝ้าระวังต่อเนื่องในกลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มต่างชาติ หากพบคลัสเตอร์ หรือการระบาดเป็นกลุ่มก้อน จะเก็บตัวอย่างเพื่อส่งเชื้อตรวจหาสายพันธุ์ อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่าสายพันธุ์ที่ระบาดในประเทศไทยตอนนี้ยังเป็นสายพันธุ์ XBB ยังไม่ใช่ตัวใหม่ แต่เรามีการติดตามต่อเนื่อง

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า วันนี้มีการเปิดเทอมวันแรกดังนั้นกลุ่มเด็กจึงเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังและคาดว่าจะมีการติดเชื้อเพิ่ม ซึ่งก่อนหน้านี้กรมควบคุมโรคได้มีข้อแนะนำผ่านกระทรวงศึกษาธิการ ไปถึงโรงเรียน หากพบเด็กที่มีอาการก็ขอให้ตรวจ ATK โดยเด็กนักเรียนที่ติดเชื้อไม่จำเป็นต้องหยุดเรียน ขึ้นอยู่กับมาตรการของโรงเรียนนั้นว่า หากไม่มีอาการมากสามารถแยกห้องเรียน หรือแยกไม่ให้รับประทานอาหารร่วมกับเพื่อนหรือบุคคลอื่นๆ หากติดเชื้อเป็นกลุ่มก็สามารถแยกห้องในการเรียนการสอน หรือเรียนออนไลน์ได้ อยู่ที่ความเหมาะสมของสถานการณ์และโรงเรียนจะออกมาตรการ

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมามีรายงานการติดเชื้อเป็นคลัสเตอร์ประปรายเข้ามาที่กรมควบคุมโรค ทั้งใน กทม. และต่างจังหวัด ทั้งนี้ การติดเชื้อในกลุ่มเด็กไม่ได้น่าห่วงมาก เพราะอาการไม่มากและหายได้ แต่ที่น่าห่วงคือนำเชื้อกลับไปติดปู่ย่าตายาย จึงแนะนำให้ผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงมารับวัคซีน และหากติดเชื้อขอให้เข้าโรงพยาบาลเพื่อรักษาตัวจะดีที่สุด.