เมื่อวันที่ 9 พ.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อคืนวันที่ 8 พ.ค. ที่ผ่านมา น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้โพสต์ภาพผ่านทางทวิตเตอร์ส่วนตัว โดยเป็นภาพชุดยิงเลเซอร์แสงสีข้อความหาเสียงที่เสาสะพานพระราม 8 รวม 4 ชุด โดยชุดแรก “บัตรสีเขียว กาเบอร์ 22 พรรครวมไทยสร้างชาติ รวมไทยสร้างชาติ เบอร์ 22 พร้อมมีโลโก้พรรค และภาพข้อความชุดที่ 2 “กา 22 มั่นคง มั่งคั่ง” พร้อมมีโลโก้พรรคติดเอาไว้ด้วย พร้อมแคปชั่นว่า มั่นคงมั่งคั่ง …พรรครวมไทยสร้างชาติ #หาเงินได้ใช้เงินเป็น

ต่อมาได้ทวิตภาพชุดที่ 3 “โครงสร้างพื้นฐานดี กา 22” พร้อมโลโก้พรรค พร้อมแคปชั่นว่า โครงสร้างพื้นฐานดี…พรรครวมไทยสร้างชาติ #สร้างรากฐานความมั่งคั่งให้คนไทยทุกคนอย่างมั่งคงและยั่งยืน และภาพข้อความเบาเสาสะพานชุดที่ 4 “กา 22 ลุงตู่ อยู่ต่อ” พร้อมมีโลโก้พรรคติดเอาไว้ด้วย

ต่อมาเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักถึงความเหมาะสม และตั้งคำถามตามกฎหมายทำได้หรือไม่ ก่อนที่ น.ส.ทิพานัน จะลบโพสต์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงเช้าก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค เลขาธิการนายกฯ ในฐานะหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) ได้เรียก น.ส.ทิพานัน พบที่ทำเนียบรัฐบาล โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และรมว.กลาโหม ในฐานะประธานคณะกรรมการกำหนดแนวทางและยุทธศาสตร์พรรค ในฐานะแคนดิเดตนายกฯ พรรครวมไทยสร้างชาติ (รทสช.) นั่งอยู่ด้วย โดยนายพีระพันธุ์ ได้กล่าวตำหนิ น.ส.ทิพานัน ว่า “คุณทำอะไรไม่ปรึกษาผมเลย เรื่องใหญ่ขนาดนี้ คุณทำไปได้อย่างไร คุณใช้อะไรคิด”

ทางด้าน นายอิทธิพร บุญประคอง ประธานกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้สัมภาษณ์กรณีที่พรรครวมไทยสร้างชาติ ยิงเลเซอร์หาเสียงบริเวณเสาบนสะพานพระราม 8 โดยระบุทั้งโลโก้พรรค และข้อความเชิญชวน เช่น “กาเบอร์ 22” ซึ่งเป็นเบอร์ของพรรค, มั่นคงมั่นคั่งลุงตู่อยู่ต่อ ว่า ขณะนี้ปลัด กทม. ในฐานะเจ้าของพื้นที่กำลังดำเนินการตรวจสอบแล้วว่า มีการขออออนุญาตใช้พื้นที่หาเสียงหรือไม่ ซึ่งปกติแล้วการใช้พื้นที่ราชการต้องขออนุญาตก่อน และเจ้าของสถานที่จะเป็นผู้พิจารณา หากตรวจสอบพบว่ามีความผิด ก็จะผิดเรื่องการวางป้ายหาเสียงที่ไม่เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดและจะดำเนินคดีต่อไป ส่วนจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย หรือเหมาะสมหรือไม่ ส่วนตัวคิดว่าพรรคการเมืองนั้นน่าจะเข้าใจเรื่องดังกล่าวเป็นอย่างดี เพราะก่อนเปิดรับสมัครเลือกตั้ง ได้ชี้แจงกับพรรคการเมืองและผู้สมัครแล้ว โดยกรณีดังกล่าวเจ้าของพื้นที่คือ กทม. หากอนุญาตก็ต้องอนุญาตทั้งหมด เพื่อรักษาความเป็นกลาง ทั้งนี้ช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง ขอเน้นย้ำไปยังพรรคการเมือง หาเสียงให้ถูกต้องตามระเบียบการหาเสียงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

นายอิทธิพร กล่าวต่อว่า ในการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. นี้ ตั้งเป้าว่าจะมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง 80% ขึ้นไป จึงหวังว่าประชาชนจะพร้อมใจกันออกมาใช้สิทธิโดยขอให้ดูกฎ กติกา ให้เรียบร้อย เพื่อป้องกันไม่ให้บัตรเสีย ซึ่ง กกต. ตั้งเป้าว่าไม่อยากให้บัตรเสียเกิน 2% จึงจะพยายามทำทุกวิถีทาง สร้างความมั่นใจ สร้างความเข้าใจให้ทุกคนได้ทราบก่อนเข้าคูหาเลือกตั้ง ส่วนข้อผิดพลาดที่เกิดในการเลือกตั้งล่วงหน้าวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา ก็จะตรวจสอบหาสาเหตุและหาวิธีแก้ไขให้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้กระทบสิทธิของผู้ที่ใช้สิทธิไปแล้ว และป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีก ซึ่งได้กำชับและสร้างความเข้าใจให้กับผู้ปฏิบัติงาน ว่าจุดไหนที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความผิดพลาดอีก

เมื่อถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ กกต. ตกเป็นเป้าและถูกโจมตี นายอิทธิพร กล่าวว่า ตนไม่รู้สึกตกเป็นเป้าและถูกถล่ม แต่ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ประชาชนมีการตรวจสอบการทำงานของ กกต. และการเลือกตั้ง ทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ทันท่วงที ถ้าไม่มีการตรวจสอบจากภาคประชาชนโดยสื่อมวลชน การทำงานของ กกต. อาจไม่ 100% อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจ่าหน้าซองรหัสผิดพลาดนั้น มีน้อยมากเพราะคนที่ลงทะเบียนใช้สิทธิ 2.2 ล้านคน และที่กรอกผิดนั้นพบว่า มีการกรอกเขตเลือกตั้งผิด ไม่ใช่กรอกรหัสไปรษณีย์ แต่เมื่อมีการหย่อนบัตรลงไปในหีบเลือกตั้งแล้ว หลัง 17.00 น. จะมีการตรวจสอบแต่ละหน้าซองว่าถูกต้องหรือไม่ และจะแก้ไขแล้วส่งไปในจุดหมายที่ควรจะเป็น

เมื่อถามถึงกรณีมีคนจะไปฟ้องร้องเอาผิด กกต. ตามมาตรา 157 หรือการเลือกตั้งครั้งนี้จะเป็นโมฆะนั้น ประธาน กกต. กล่าวว่า มองว่า เป็นแค่กระแสและความคิดของคนที่เห็นว่าการทำงานของ กกต. เป็นอย่างไร ซึ่งเป็นสิทธิที่ทำได้ กกต. ไม่ได้อยู่เหนือกฎหมาย ถ้าเห็นว่าการทำงานของ กกต. บกพร่องและต้องได้รับการพิจารณา ก็เป็นสิทธิที่จะฟ้องได้ ทุกครั้งที่มีการฟ้องร้องก็ต้องพร้อมสู้คดี ที่สู้เพราะเราปฏิบัติงานโดยสุจริต ปฏิบัติตามกฎหมาย อีกทั้งตอนนี้ไม่มีปัจจัยที่ต้องเป็นห่วงว่า การเลือกตั้งจะเป็นโมฆะ และการเลือกตั้ง 14 พ.ค. เสียงลงคะแนนเป็นอย่างไรก็เป็นเช่นนั้น

เมื่อถามถึงความคืบหน้าการร้องเรียนเรื่องซื้อเสียง ที่เขตคลองสามวา กทม. นายอิทธิพร กล่าวว่า ทุกคำร้องที่มีอยู่ระหว่างการตรวจสอบ หากมีมูลก็จะรับเป็นคำร้องเข้าสู่การสืบสวนไต่สวนของ กกต. ต่อไป ขณะนี้มีเรื่องร้องเรียนทั้งหมด 101 เรื่อง เป็นเรื่องการให้เงินซื้อเสียง 38 เรื่อง การหลอกลวงใส่ร้าย 34 เรื่อง ทั้งนี้หากมีการร้องเรียนที่ใด ก็ต้องเข้าไปตรวจสอบในเบื้องต้น แล้วรวบรวมข้อเท็จจริง โดยคณะกรรมการประจำจังหวัด มีเวลาภายใน 20 วัน แต่หากยังไม่เสร็จ สามารถต่อเวลาได้อีกครั้งละ 15 วัน โดยขอมาทางเลขาฯ กกต. และต้องผ่านคณะอนุกรรมการ กกต. วินิจฉัยอีกครั้ง ถ้ามีเหตุเชื่อได้ว่ามีการทุจริต ก็จะรับเป็นคำร้องและดำเนินการตามระเบียบต่อไป ส่วนจะดำเนินการเสร็จก่อนการเลือกตั้งหรือไม่ขึ้นอยู่กับพยานหลักฐาน เพราะหากเป็นคำร้องแล้ว การซื้อเสียงถือว่าผิดมาตรา 73 (1) ต้องมีการดำเนินคดีอาญาให้ใบส้มหรือไม่ หรือต้องไปศาล ซึ่งต้องให้ความเป็นธรรมกับพวกร้องและผู้ถูกร้อง จะเร่งรัดไม่ได้ ให้เป็นไปตามขั้นตอน

ส่วน นายแสวง บุญมี เลขาธิการ กกต. กล่าวว่า เมื่อเกิดปัญหาการจ่าหน้าซองผิด สำนักงาน กกต. ได้แจ้งไปยัง ผอ.เขตเลือกตั้งทั่วประเทศว่า ก่อนมอบบัตรให้กับไปรษณีย์ ให้ตรวจหน้าซองก่อน เพราะพบข้อผิดพลาด และเมื่อประสานไปทางไปรษณีย์ ก่อนรับให้ตรวจนับว่าหน้าซอง มีการกรอกตัวเลขหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบแล้วจนถึงวันนี้ ไม่พบกรณีไม่ได้จ่าหน้าซอง มีแต่การกรอกเกรดผิด ก็ต้องมีกรรมการวินิจฉัย