นายยงยุทธ นาคแดง รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยว่า กรมฯ ได้ทำหนังสือส่งถึงกลุ่มผู้ประกอบการแท็กซี่ เพื่อให้แจ้งรายชื่อรถแท็กซี่ที่จะเข้าร่วมโครงการติดตั้งอุปกรณ์กั้นระหว่างที่นั่งผู้ขับรถกับคนโดยสาร (ฉากกั้น) ของรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคน หรือรถแท็กซี่ในระยะ (เฟส) แรกจำนวน 3,000 คัน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จากนั้น ขบ. จะรวบรวมรายชื่อ เพื่อเตรียมดำเนินการติดตั้งฉากกั้นต่อไป ขณะนี้ได้รับจัดสรรงบประมาณทั้ง 3,000 คันเพื่อนำมาดำเนินการดังกล่าวในรถแท็กซี่ 3,000 คันแล้ว กำลังจัดซื้อจัดจ้างหาผู้ดำเนินการ คาดว่าจะเริ่มติดตั้งได้ช่วงเดือน ก.ย.นี้ โดยแบ่งเป็นล็อตๆ ในการติดตั้ง และทยอยติดตั้งให้แล้วเสร็จตามสัญญาต่อไป
นายยงยุทธ กล่าวต่อว่า หลังจากนั้นจะประเมินผลใน 2 ส่วน คือ 1.ความพึงพอใจของผู้โดยสารที่ใช้บริการ ความสะดวก สบายและเพิ่มความมั่นใจให้ผู้โดยสารที่ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) หรือ โควิด-19 และ 2.คนขับรถแท็กซี่ อุปกรณ์การติดตั้งครั้งนี้บดบังทัศนวิสัยในการขับขี่หรือไม่ เมื่อได้ข้อมูลแล้วหากพบว่าประสบความสำเร็จจะนำมาปรับปรุงรูปแบบให้เหมาะสมและดำเนินการขยายผลติดตั้งรถแท็กซี่ที่เหลือที่ยังให้บริการในปัจจุบันต่อไป ที่มีประมาณ 20,000-30,000 คัน และ ในอนาคตติดตั้งให้ครบทุกคันที่มีอยู่ในระบบในพื้นที่กรุงเทพฯ ประมาณ 80,000 กว่าคัน ตลอดจนจะพัฒนาติดตั้งในระบบขนส่งสาธารณะอื่นๆ ด้วย เช่น รถโดยสารประจำทาง (รถเมล์) และ รถตู้โดยสาร
รายงานข่าวจาก ขบ. แจ้งว่า ในวันที่ 13 ก.ย.นี้ จะเริ่มติดตั้งฉากกั้นรถแท็กซี่ โดยใช้เวลาติดตั้ง 100 คัน/วัน คาดว่าใช้เวลา 1 เดือนครึ่ง หรือประมาณปลายเดือน ต.ค.นี้ จะติดตั้งครบทั้งหมด 3,000 คัน สำหรับฉากกั้นที่ดำเนินการครั้งนี้จะรูปแบบจะเป็นการติดตั้งพลาสติกใสแข็งบนบริเวณด้านหลังพนักงานขับรถและด้านข้างพนักงานขับรถกับที่นั่งผู้โดยสารด้านหน้า
ซึ่งการดำเนินครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจาก เอสซีจี เคมิคอลส์ ในการผลิตฉากกั้นในราคาพิเศษ 1,300 บาท/คัน จากเดิมจะจำหน่ายอยู่ที่ 2,000 บาท/คัน โดยใช้งบประมาณในการดำเนินโครงการราว 4 ล้านบาท เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะช่วยส่งเสริมความมั่นใจให้ประชาชนมาใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะในช่วงโควิด-19 แทนการเดินทางด้วยรถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น และลดความเสี่ยงในการติดเชื้อต่อไป