จากกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2565 แต่งตั้งคณะกรรมการให้แก้ไขดำเนินการให้ชาวกะเหรี่ยงบางกลอย หมู่ 1 ต.ห้วยแม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี จำนวน 150 คน กลับไปในพื้นที่กลางป่าลึก ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน มรดกโลกได้ ทำให้เกิดเสียงวิพาก์วิจารณ์กันอย่างกว้างขวาง ส่วนใหญ่ไม่พอใจในคำสั่งดังกล่าว

ชาวเพชรบุรีฮึ่ม!! ไม่พอใจ ‘บิ๊กตู่’ เตรียมส่ง ‘กะเหรี่ยงบางกลอย’ กลับป่าลึกแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 1 พ.ค. นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักสำนักอุทยานแห่งชาติ และ ผอ.สบอ.9 อุบลราชธานี เปิดเผยว่า เรื่องนี้หลังท่านนายกเซ็นหนังสือให้คณะกรรมการอิสระพิจารณาให้ชาวบ้าน “โป่งลึก-บางกลอย” กลับเข้าไปทำไร่หมุนเวียนในพื้นที่ป่าลึกได้อีกนั้น ตนในฐานะคนเพชรบุรี และผู้อำนวยการสำนักอุทยานแห่งชาติ ขอชี้แจงว่า มติหรือเอกสารดังกล่าว ยังไม่เคยผ่านมติคณะกรรมการเห็นชอบจากสำนักอุทยานแห่งชาติแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งทางคณะกรรมการที่ตรวจสอบเรื่องนี้มา ไม่มีคณะกรรมการที่มีความเป็นกลาง และไม่มีเจ้าหน้าที่ของกรมอุทยานแห่งชาติ และคณะกรรมการของกระทรวงฯ เข้าไปเกี่ยวข้องในการร่วมพิจารณาเรื่องนี้ด้วย ที่จะเข้าไปดำเนินการเปิดพื้นที่ป่าใหม่ว่าทำได้หรือไม่

“…พื้นที่ดังกล่าวนั้น ศาลได้ตัดสินไปแล้วว่า เป็นพื้นที่ป่าอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ ไม่สามารถที่จะสั่งหรือให้บุคคลอื่นๆ กลับเข้าไปอยู่ในที่เดิมได้ กรณีนี้ต้องศึกษาและพิจารณาอย่างละเอียดเป็นสำคัญ พื้นที่ป่าอนุรักษ์ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติที่เป็นมรดกโลกนั้นมีความละเอียดอ่อน การที่สั่งให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าไปดำเนินการ หรือมีคำสั่งและเอกสารดังกล่าวให้เข้าไปดำเนินการได้นั้น ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่…” นายชัยวัฒน์ กล่าวและเผยต่อว่า

ตนในฐานะคนเพชรบุรี และอดีตหัวหน้าอุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน ได้ทราบเรื่องราวนี้ทั้งหมดแล้ว เรื่องนี้ไม่ชอบด้วยระเบียบ และก็ไม่เห็นด้วยกับการออกคำสั่งดังกล่าว ยืนยันว่า จะต้องต่อสู้เรื่องนี้อย่างที่สุดในนามของคนเพชรบุรี โดยกลุ่มชาติพันธุ์ชาวบ้านโป่งลึก-บางกลอยนี้ได้อาศัยอยู่ด้วยระเบียบมาตรา 64 ที่คุ้มครองชาวบ้านอยู่แล้ว ทางเจ้าหน้าที่ให้สิทธิทำกินตามปกติ หากมาตรฐานมาตรา 64 ดำเนินการแล้วเสร็จ ทางเจ้าหน้าที่จะพัฒนาสาธารณูปโภค อาชีพ และด้านการพัฒนาที่ดินให้แก่ชาวบ้านตามลำดับ หากเข้าใจในข้อนี้และอาศัยอยู่ในที่ดินที่ทำกินไม่มาก เราต้องใช้โมเดลหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของในหลวงรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 มาช่วยเหลือ หน่วยงานของรัฐทุกหน่วยงานพร้อมที่จะไปช่วยเหลืออยู่แล้ว สำหรับการให้ไปเปิดพื้นที่ป่าใหม่นั้นผิดกฎหมายแน่นอน

ด้าน นายพงศ์ศักดิ์ ต้นน้ำเพชร อายุ 28 ปี ชาวบ้านกะเหรี่ยงบางกลอย กล่าว่า สำหรับกลุ่มชาวบ้านที่จะขึ้นไปกลางป่าใจแผ่นดินนั้นเป็นกลุ่มที่ไม่มีที่ทำกิน และกลุ่มที่มีที่ทำกินแล้วแต่ไม่เพียงพอ ประมาณ 3-4 ครอบครัว อยากปลูกข้าวไร่กินเนื่องจากอยู่ที่โป่งลึก-บางกลอย ทำเกษตรเชิงเดี่ยวไม่ถนัด ถ้าหากปลูกทุเรียนต้องใช้ต้นทุนสูง แต่ชาวบ้านหาเช้ากินค่ำไม่มีกำลังพอที่จะปลูก ส่วนกรณีที่รัฐจัดสรรที่ดินทำกินให้ชาวบ้านต้องขอบอกตรงๆ ว่า สมัยก่อนชาวบ้าน ชุดที่ 57 ครอบครัวแรกได้รับการจัดสรรที่ดินจริง แต่ยังมีชาวบ้านบางส่วนที่หลบซ่อนตัวอยู่ในป่า ไม่ได้ออกมารับการจัดสรรที่ดินทำ พอลงมาทีหลังก็เลยตกหล่นไม่ได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินสมัยก่อนยังไม่มีเทคโนโลยีในการรังวัดที่ดิน หรือ GPS เจ้าหน้าที่ได้ใช้สายตาวัดกับพื้นที่เอาให้ชาวบ้านได้ทำกิน ซึ่งบางครอบครัวได้เพียง 3 ไร่

ส่วนประเด็นที่ชาวเพชรบุรีไม่พอใจที่ชาวบ้านอาจจะได้ไปอยู่ในป่าลึกอีกครั้งและได้ที่ทำกินเพิ่ม หากได้เพิ่มชาวบ้านที่เคยอาศัยอยู่ก่อนประกาศเป็นอุทยานฯ นั้น ตนคิดว่าต้องแยกแยะว่า คนไทยกลุ่มนั้นอยู่ที่ไหน มาจากไหน แต่ถ้าเป็นต้นกำเนิดของตนนั้นอาศัยอยู่มาตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เรื่องนี้ชาวบ้านอยากกลับขึ้นไปเยอะ ตนกังวลว่าการที่ไปอยู่รวมกันเยอะๆ จะไม่สามารถควบคุมได้ ต้องมีกฎระเบียบควบคุมดูแล จึงเอาแค่เฉพาะชุดเดิมที่เคยขึ้นไปก่อนเพื่อทดลองอาศัยอยู่จริง ชาวกะเหรี่ยงหากไม่มีวิถีชุมชนจะลำบาก ปัจจุบันเสื้อผ้าทอมือของชาวกะเหรี่ยง ชาวบ้านแทบจะทำไม่เป็นแล้ว ต้องไปจ้างให้เขาทอผ้าก่อนนำมาขาย คนในหมู่บ้านไม่ได้ใส่เสื้อผ้าทอ เพราะชาวบ้านไม่ได้ทำไร่หมุนเวียนแล้ว เสื้อผ้าทอมือกะเหรี่ยงมาจากการปลูกฝ้าย ก่อนนำฝ้ายมาปั่นเป็นเส้นด้ายก่อนนำไปทอเป็นเสื้อผ้า

สำหรับการที่ชาวบ้านขึ้นไปอยู่ใจกลางป่าลึกขัดต่อกฎหมายนั้น ต้องดูว่ามีกฎหมายข้อไหนบ้าง ไล่ชาวบ้านออกจากที่ดั้งเดิม และมี พ.ร.บ.อุทยานฉบับไหนที่ให้ชาวบ้านออกจากที่ดั้งเดิมของเขา ซึ่งตนรู้สึกว่าที่ผ่านมาไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม เช่น การเข้าออกหมู่บ้านของเราเอง ที่ต้องโดนปิดกั้น ห้ามเข้าออกเขตอุทยานฯ หลัง 22.00 น. ชาวบ้านคิดว่าแต่เดิมต้องปลูกข้าวกินเองได้ แต่ปัจจุบันนี้ต้องออกไปรับจ้างในเมืองเอาเงินมาซื้อข้าวกิน หลังจากนี้จะดูว่าคณะเขาทำงานอิสระมีแนวทางช่วยเหลือแบบไหน ทางชาวบ้านก็เตรียมรับมือว่าจะจัดการบริหารกลุ่มชาวบ้านที่ขึ้นไปอาศัยอยู่ใจกลางป่าอย่างไร.