“ลำปาง” ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่ประกอบด้วยคนหลายชาติพันธุ์ ก่อเกิดมรดกทางวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี และได้ถูกส่งต่อ งาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง” คือ ภาพสะท้อนที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ ถือเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัดที่จัดขึ้นติดต่อกันหลายวัน ซึ่งพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และเป็นไฮไลต์ของประเพณีคือ การสรงนํ้าพระแก้วดอนเต้า พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองลำปาง ซึ่งชาวลำปางจัดพิธีแสดงความศรัทธาอย่างยิ่งใหญ่ ผ่าน “ขบวนแห่สลุงหลวง”

ย้อนถึงประวัติ “พระแก้วดอนเต้าเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่สลักจากหินมีค่าสีเขียวประเภทหยกอ่อน (Nephrite) ตามตำนานเล่าสืบต่อมาว่า นางสุชาดา เป็นผู้เลื่อมใสศรัทธาในพุทธศาสนา มีสวนแตงโมและดอกไม้อยู่ใกล้วัด ได้อุปัฏฐาก ปฏิสังขรณ์พระมหาชินเจดีย์ธาตุ อุปถัมภ์พระมหาเถระเจ้าอาวาส วัดพระแก้วชมภูอยู่เสมอ ด้วยจิตศรัทธาในบวรพุทธศาสนาที่ดำริสร้างพระพุทธรูปไว้บูชา พญานาคผู้รักษาแม่นํ้าวังได้เนรมิตแก้วมรกตมาบรรจุไว้ในผลแตงโมกลางสวนของนางสุชาดา นางเห็นแตงโมมีรูปพรรณวรรณะงดงาม จึงนำไปถวายมหาเถระเจ้า เมื่อนำมาผ่าดูปรากฏเป็นแก้วเขียวใส พระมหาเถระจึงเพียรแกะสลักเป็นพระพุทธรูป แต่สลักอย่างไรก็ไม่เข้าเนื้อ พระอินทร์จึงจำแลงเป็นชีปะขาวมาอาสาช่วยเหลือ แต่เพียงแค่มหาเถระเดินไปหยิบเครื่องมือมาส่งให้ กลับปรากฏพระพุทธรูปงดงามเกินบรรยาย จึงเกิดความปีติยินดียิ่ง เรื่องราวการอุบัติของพระแก้วที่กำเนิดมาจากแตงโมได้ถูกเล่าลือ เป็นที่สักการบูชาของสาธุชนมากมาย

หากมีผู้คิดร้าย กล่าวหาใส่ความนางสุชาดา กับ พระมหาเถระเจ้า ว่ากระทำมิจฉาการ เจ้าเมืองนครลำปางในขณะนั้นไม่ได้พิจารณาว่าความอย่างถี่ถ้วน แต่ออกคำสั่งให้เพชฌฆาตกุมตัวนางสุชาดามาประหาร ณ ริมนํ้าวัง นางจึงตั้งสัจอธิษฐานต่อหน้าหลักประหารว่า ถ้าหากผิดจริงตามข้อกล่าวหา ขอให้เลือดไหลลงดิน หากนางเป็นผู้บริสุทธิ์จริง ขอให้เลือดพุ่งขึ้นฟ้าอย่าให้ตกต้องพื้นดิน เมื่อเพชฌฆาตลงดาบ เลือดนางสุชาดาพุ่งหายไปบนฟ้าอย่างน่าอัศจรรย์ พระมหาเถระเจ้าเมื่อทราบความจึงนำพระพุทธรูปไปมอบแด่เจ้าอาวาสวัดพระธาตุลำปางหลวง ให้เป็นผู้รักษา พระแก้วดอนเต้า จึงประดิษฐาน ณ วัดพระธาตุลำปางหลวงนับแต่นั้น

ขณะที่ข้อเสนอทางวิชาการว่า พระแก้วดอนเต้า อาจจะเป็นพระแก้ว พระพุทธรูปองค์สำคัญของเชียงแสนในอดีต ที่ปรากฏอยู่ในพงศาวดารโดยระบุว่า ในปี พ.ศ. 1929 พระเถระสิริวังโส ได้นำพระแก้วและพระคำพร้อมด้วยพระบรมธาตุไปประดิษฐาน ณ วัดเกาะดอนแท่น กลางแม่นํ้าโขงในเมืองเชียงแสน แต่เมื่อ พระยากาวิละ ยกทัพเข้าโจมตีในปี พ.ศ. 2346 หลังจากเชียงแสนแตกแล้วกลับไม่ปรากฏการกล่าวถึงพระพุทธรูปองค์นี้อีกเลย ในขณะที่ก่อนจะมีการอพยพและกวาดต้อนชาวเชียงแสน มาอาศัยบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่นํ้าวังราวกลางพุทธศตวรรษที่ 24 ก็ไม่เคยปรากกฏหลักฐานใด ๆ เกี่ยวกับพระแก้วในเมืองลำปางเลยเช่นกัน

อ.ธวัชชัย ทำทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ให้ข้อมูลเพิ่มเติม “ตำนานพระแก้วดอนเต้านี้ ถูกเผยแพร่ในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ โดยครูบาจากลำปางได้จารึกไปพบพงศาวดารที่บันทึกไว้เป็นภาษาพม่า จึงคัดลอกมาและนำมาเผยแพร่ มีบันทึกต่อท้ายว่าผู้ที่เผยแพร่ตำนานนี้จะได้อานิสงส์ผลบุญมากมาย ตำนานนึ้จึงถูกเล่าขานกันไปในวงกว้าง อย่างไรก็ตามมีข้อสันนิษฐานว่า พระแก้วดอนเต้าอาจเป็นพระพุทธรูปที่ถูกเคลื่อนย้ายมาพร้อมการกวาดต้อนชาวเชียงแสนเมื่อครั้งเก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง เพราะแม้แต่ตำนานนางสุชาดาที่แต่งขึ้นมาภายหลังก็มีเนื้อหาที่สะท้อนเรื่องราวเกี่ยวกับชาวเชียงแสนที่ถูกกวาดต้อนมาอยู่บริเวณวัดพระแก้วชมภูหรือพระแก้วดอนเต้าในปัจจุบัน เมื่อประกอบกับลักษณะพุทธศิลป์ที่เป็นพระพุทธรูปศิลปะเชียงแสนตอนปลาย แกะสลักจากเนื้อหินที่พบได้มากมายในแม่นํ้าโขงเขตเมืองเชียงแสน จึงมีความเป็นไปได้ว่าพระแก้วดอนเต้าน่าจะเป็นพระพุทธรูปที่ถูกเคลื่อนย้ายมาพร้อมกันกับมหาเถรองค์สำคัญของเชียงแสน โดยมีหลักฐานคือแท่นสังฆะ หรือเสลี่ยงสำหรับพระมหาเถระที่มีมากกว่า 5 หลังในนครลำปาง เมื่อพระแก้วมาประดิษฐานที่ลำปางแล้ว จึงสร้างตำนาน กฤษดาอภินิหารขึ้นเพื่อรักษาองค์พระไว้ให้เป็นที่สักการบูชาของลูกหลานชาวเชียงแสนสืบไป”

นอกจากนี้ประเพณีการสรงนํ้าพระแก้วดอนเต้า ยังมีความเชื่อมโยงกับประเพณีการสรงนํ้าพระธาตุ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนเชียงแสนยึดถือปฏิบัติในช่วงเทศกาลสงกรานต์มาตลอดหลายร้อยปี พระแก้วดอนเต้า อันเป็นที่สักการบูชาของชาวลำปางที่บางส่วนสืบเชื้อสายมาจาก ชาวเชียงแสน อาจเป็นพระพุทธรูปองค์สำคัญเมืองเชียงแสนซึ่งดำรงอยู่แต่ครั้งอดีตกาลถึงปัจจุบัน จึงเป็นข้อสันนิษฐานที่น่าสนใจไม่น้อย

ขบวนแห่สลุงหลวง ได้ซ่อนสัญลักษณ์ของเมืองลำปางตั้งแต่ครั้งบรรพกาลไว้ แต่เดิมนั้นจะจัดขบวนแห่เดินข้ามแม่นํ้า พร้อมตักนํ้ามาจากกลางนํ้าวังใส่สลุง เพื่อใช้เป็นนํ้าที่นำไปสรงพระแก้วดอนเต้า ปัจจุบันได้ ปรับเปลี่ยนเป็นอัญเชิญนํ้าทิพย์ จาก 13 อำเภอมาในปราสาทแก้ว วิมานคำ ทั้งยังโดดเด่นด้วยเทพบุตรสลุงหลวงที่ทรง เครื่องทรงแบบเทวดา ซึ่งเป็นเครื่องเงินขึ้นรูปที่ได้รับอิทธิพลจากภาพเขียนโบราณและภาพปูนปั้นลายนูนสูงของเตวะบุตรที่จำหลักอยู่ ณ วัดเจ็ดยอด ในขบวนแห่ดั้งเดิม ใช้เสลี่ยงคานหามมากกว่า 50 คน แต่งกายด้วยกางเกงสะดอ เสื้อก้อม โพกหัวและมัดเอว ตามโบราณประเพณี

ดร.อนุกูล ศิริพันธ์ ประธานสภาวัฒนธรรมเมืองลำปาง บอกว่า ความพิเศษของขบวนแห่สลุงหลวง ต้องเรียกว่าหาไม่ได้จากที่ไหนในโลก มีเพียงหนึ่งเดียวที่จังหวัดลำปางเท่านั้น เต็มไปด้วยงานศิลป์พื้นถิ่น ที่สอดแทรกอัตลักษณ์ของแต่ละอำเภอไว้เป็นกิมมิคในขบวน โดยแต่ละปีนั้น แม้โครงสร้างขบวนยังคงเดิมไว้ หากใช้ธีมที่แตกต่างกันไป โดยเนื้อหาจะอ้างอิงกับกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลำปาง ไม่ว่าจะเป็น ไทลื้อ ไทเขิน ไทยลั้วะ ขมุ จีนเงี้ยว แสดงถึงความเป็นพหุวัฒนธรรมของจังหวัดลำปางได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ เทพบุตร-เทพธิดาสลุงหลวง ยังมีการคัดเลือกใหม่ทุกปี วิธีการคัดเลือกนั้นยิ่งพิเศษ เพราะจะมีการเชิญพ่ออาจารย์มาประกอบพิธีอัญเชิญเครื่องสักการะ และภาชนะที่ ใส่ใบมะยม ให้ผู้เข้ารอบสุดท้ายเลือกจับใบมะยมคนละ 3 ก้าน แล้วจึงเสี่ยงทายเลขคู่หรือคี่ ดังนั้น เทพบุตร-เทพธิดาสลุงหลวง จึงมีนัยว่าเป็นผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจากเทวดานั่นเอง”

สำหรับพิธีสรงนํ้าพระเจ้าแก้วดอนเต้านั้น เน้นพิธีการที่ถูกต้องตามประเพณี โดยเปิดโอกาสให้ประชาชนตักนํ้าขมิ้น ส้มป่อย นํ้าอบ นํ้าหอม จาก “สลุง” เทสู่ “รางริน” ซึ่งเป็นทางให้นํ้าไหลไปสรงองค์พระ อันถือว่าเป็นการสรงนํ้าที่ถูกต้องตามประเพณี และนํ้าที่สรงองค์พระจะไหลไปสู่ภาชนะที่รองรับไว้ถือเป็นนํ้าศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวล้านนาในอดีตนำมาประพรมศีรษะ ร่างกายหรือที่อยู่อาศัยเพื่อความเป็นสิริมงคล ร่มเย็นเป็นสุขแก่ชีวิตและครอบครัว

งาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปีใหม่เมืองนครลำปาง” ไม่ได้เป็นเพียงมรดกทางวัฒนธรรมของชาวลำปางที่สืบสานจากรุ่นสู่รุ่นเท่านั้น หากเต็มไปด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีอันงดงาม ที่สัมผัสได้ถึงความศักดิ์สิทธิ์ ความเชื่อ พิธีกรรม ตลอดจนความตั้งใจของลูกหลานเมืองลำปางที่จะสานต่อและเผยแพร่ภูมิปัญญา วิถีชีวิตท้องถิ่นให้ผู้คนได้ชื่นชมในความรุ่งเรืองแห่งอดีตกาลที่ฉายชัดมาถึงปัจจุบัน.

พรประไพ เสือเขียว