ภายหลังจากปิดการโหวตโพล “เดลินิวส์ X มติชน เลือกตั้ง ’66 รอบสอง” ชี้อนาคตการเมืองไทย ที่ทางสื่อ 2 สำนักใหญ่ ได้ร่วมกันจัดทำโพลครั้งประวัติศาสตร์ เพื่อสะท้อนผลเลือกตั้ง 2566 ก่อนหน้านี้มีการจัดทำโพลรอบที่ 1 (วันที่ 8-14 เม.ย.) ทางออนไลน์ทุกแพลตฟอร์มของสื่อเดลินิวส์ ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ https://t.dailynews.co.th/election-2566/poll รวมถึงเว็บไซต์ https://www.matichon.co.th/thai-election66-poll/poll2/ และสื่อเครือมติชน นอกจากนี้ ยังโหวตผ่านทาง “คิวอาร์โค้ด” ส่องสแกนในหนังสือพิมพ์ได้ด้วย โพลรอบที่ 1 มีผู้ร่วมโหวต 84,076 ราย โดยผลประชาชนจะเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี อันดับ 1 คือ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ พรรคก้าวไกล ส่วนพรรคที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับ 1 คือ พรรคเพื่อไทย

ขณะที่โพลรอบที่ 2 เริ่มตั้งแต่วันที่ 22-28 เม.ย. มีคำถาม 4 หัวข้อ เพื่อสอบถามความเห็นประชาชนกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศผ่านช่องทางออนไลน์ 1.ท่านจะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 นี้, 2.ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใด โดยทั้งสองข้อแรกดังกล่าว คำตอบจะมีให้เลือกเป็นการคัดรายชื่อจาก 10 พรรคการเมือง ที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรก จากผลโพลรอบแรก, 3.ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี และคำตอบจะมีให้เลือกเป็นการคัดรายชื่อจาก 10 แคนดิเดตนายกฯ ที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากโพลรอบแรก และ 4.ส.ว. ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดหรือไม่

ความคืบหน้าเกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การโหวตโพล “เดลินิวส์ X มติชน เลือกตั้ง ’66 รอบสอง” ยังคงได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วประเทศเหมือนรอบแรก ประชาชนที่ร่วมกิจกรรม ต่างพูดตรงกันว่าเป็นการกระตุ้นอย่างดีและยังทำให้ประชาชนเห็นความสำคัญถึงการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66 โดยโพลรอบสอง ยังมีผู้ร่วมโหวตมากถึง 78,583 ราย ทั้งนี้ เมื่อนำจำนวนการโหวตรอบสอง มาบวกรวมกับการโหวตรอบแรก (84,076 ราย) ทำให้มียอดโหวตโพลเลือกตั้ง รวมกันยอดทะลุถึง 162,659 โหวต

สำหรับรายละเอียด หัวข้อคำถามที่ 1 ท่าน จะเลือกผู้สมัคร ส.ส.เขตจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง 2566 (เลือกจากรายชื่อ 10 พรรคการเมืองที่ได้รับการโหวตสูงสุด 10 อันดับแรกจากผลโพลรอบแรก) พบว่า ในกลุ่ม 10 อันดับแรกนั้น อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 47.97, อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 35.78, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 5.75, อันดับ 4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.69, อันดับ 5 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.56, อันดับ 6 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 1.33, อันดับ 7 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.18, อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.05, อันดับ 9 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 1.02  และอันดับ 10 ไม่เลือก ส.ส.เขต จากพรรคใดทั้งสิ้น ร้อยละ 0.56

2.ท่านจะเลือก ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ (ส.ส.บัญชีรายชื่อ) พรรคใด (เลือกจากรายชื่อ 10 พรรคการเมืองที่ได้รับการโหวตสูงสุด 10 อันดับแรกจากผลโพลรอบแรก) พบว่ากลุ่ม 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 พรรคก้าวไกล ร้อยละ 50.29, อันดับ 2 พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 33.65, อันดับ 3 พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 6.05, อันดับ  4 พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 2.46, อันดับ 5 พรรคชาติพัฒนากล้า ร้อยละ 1.60, อันดับ 6 พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 1.05, อันดับ 7 พรรคเสรีรวมไทย ร้อยละ 1.01, อันดับ 8 พรรคไทยสร้างไทย ร้อยละ 1.01, อันดับ 9 ยังไม่ตัดสินใจ ร้อยละ 0.96 และอันดับ 10 พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 0.70

3.ท่านจะสนับสนุนใครเป็นนายกรัฐมนตรี (เลือกรายชื่อจาก 10 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับการโหวตสูงสุดสิบอันดับแรกจากโพลรอบแรก) พบว่า กลุ่ม 10 อันดับแรก ประกอบด้วย อันดับ 1 นายพิธา ลิมเจริญรัตน์ ร้อยละ 49.17 (พรรคก้าวไกล), อันดับ 2 น.ส.แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 19.59 (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 3 นายเศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 15.54 (พรรคเพื่อไทย), อันดับ 4 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 6.52 (พรรครวมไทยสร้างชาติ), อันดับ 5 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 2.35 (พลังประชารัฐ), อันดับ 6 นายกรณ์ จาติกวณิช ร้อยละ 1.74 (พรรคชาติพัฒนากล้า), อันดับ 7 ยังไม่ติดสินใจ ร้อยละ 1.18, พรรคอันดับ 8 คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ร้อยละ 1.04 (พรรคไทยสร้างไทย), อันดับ 9 พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส ร้อยละ 0.84 (พรรคพรรคเสรีรวมไทย) และอันดับ 10 นายอนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 0.64 (พรรคภูมิใจไทย)

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ผลโหวตรอบสอง ในหัวข้อที่ 3 ซึ่งเป็นเรื่องของแคนดิเดตนายกฯ นั้น นายพิธา มาอันดับ 1 ร้อยละ 49.17 ส่วนอันดับ 2-3 จากพรรคเพื่อไทยทั้งคู่ คือ น.ส.แพทองธาร ร้อยละ 19.59 และ นายเศรษฐา ร้อยละ 15.54 แม้จะนำคะแนนมารวมกันได้ ร้อยละ 35.13 ก็ยังไล่ไม่ทันนายพิธา ซึ่งคะแนนนำโด่ง (ผลรอบแรก ก็อันดับ1 ร้อยละ 29.42) ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ รอบแรกได้ ร้อยละ 13.72 แต่รอบสอง ลดลงมาอยู่ที่ร้อยละ 6.52 เท่านั้น

ขณะที่คำถามข้อสุดท้าย 4.ส.ว. ควรโหวตเลือกแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จากพรรคที่ได้ ส.ส. มากที่สุดหรือไม่ ได้ผลลัพธ์ออกมา คือ ควรเลือกแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่ได้ที่นั่ง ส.ส. มากที่สุด ร้อยละ 82.54 และเลือกจากพรรคการเมืองใดก็ได้ ร้อยละ 17.46  อย่างไรก็ดี สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ร่วมโหวตออนไลน์  “เดลินิวส์ X มติชน โพลเลือกตั้ง ’66 ครั้งที่ 2” จำนวน 78,583 ราย สามารถแยกเป็นกลุ่มช่วงอายุ 42-57 ปี หรือ “GEN-X” ร่วมโหวตมากที่สุดอันดับที่ 1 คือร้อยละ 31.48, อันดับ 2 ช่วงอายุ 26-41 ปี หรือ “GEN-Y” ร้อยละ 29.85, อันดับ 3 ช่วงอายุ 58-76 ปี หรือ “เบบี้บูมเมอร์” ร้อยละ 22.48, อันดับ 4 ช่วงอายุ 18-25 ปี  หรือ “GEN-Z” ร้อยละ  15.38 และอันดับ 5 ช่วงอายุ 77 ปีขึ้นไป หรือ “Silent-GEN” ร้อยละ 0.81 ส่วน 10 จังหวัดแรก ที่มียอดผู้ร่วมตอบโพลสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร,​ นนทบุรี, ปทุมธานี, เชียงใหม่, สมุทรปราการ, ชลบุรี, นครราชสีมา, อุบลราชธานี, ขอนแก่น และเชียงราย

ทั้งนี้ หลังจากนั้นเมื่อได้ผลโพลเสร็จสมบูรณ์ข้อมูลครบถ้วนทั้งสองครั้งแล้ว กอง บก.เดลินิวส์และมติชน ร่วมกับคณะอาจารย์และนักวิชาการ วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ จะนำข้อมูลที่ได้มาจัดเวทีวิเคราะห์ผลโพล “เดลินิวส์ X มติชน เลือกตั้ง ’66” แบบเชิงลึกและสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นในแง่มุมทางวิชาการ เผยแพร่สู่สาธารณะตั้งแต่เวลาประมาณ 10.00 น. วันที่ 5 พ.ค. 66 พร้อมกับไลฟ์สตรีมถ่ายทอดสดการจัดเวทีดังกล่าวผ่านช่องทางเฟซบุ๊กและยูทูบของเดลินิวส์ และสื่อเครือมติชน ได้แก่ มติชน มติชนสุดสัปดาห์ มติชนทีวี ข่าวสด ประชาชาติธุรกิจ.