แนวทางการสานพลังของบ้าน วัด โรงเรียน/ราชการ หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า “บวร” เป็น 1 ใน 10 แฟลคชิป(10 Flagships) นโยบายของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย อ.ท่าตะเกียบ จ.ฉะเชิงเทรา ได้นำหลักบวรมาปรับเปลี่ยนการทำงานเชิงรุกหยุดยั้งการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเป็นรูปธรรม และน่าชื่นชม
โดยท่าตะเกียบเป็นหนึ่งในอำเภอเข้มแข็งมีความร่วมมือร่วมใจจากทุกภาคส่วนผ่านการรวมพลัง ภายใต้โครงการ”บวร”ในการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านและตำบลตามนโยบาย 10 แฟลคชิปของนายธนาคม จงจิระ อธิบดีกรมการปกครอง โดยมีเป้าหมายสำคัญให้ประชาชน “ทุกข์น้อยลง สุขมากขึ้น”
“10 แฟลคชิปมีหลายมิติในมิติหนึ่งคือการสร้างความเข้มแข็งให้กับหมู่บ้านชุมชนให้สามารถพึ่งตนเองได้ เมื่อเขาสามารถพี่งตนเองได้ เขาก็สามารถดูแลตัวเองและครอบครัวในเศรษฐกิจแบบนี้ได้ จึงได้ร่วมมือกับหน่วยราชการที่เกี่ยวข้องในระดับอำเภอมาร่วมกันขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนเพื่อคนท่าตะเกียบ”
นายอำเภอท่าตะเกียบ บอกเล่าถึงการทำงานเชิงรุกว่า จะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ประกอบด้วยการรับมือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และการพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุมชน โดยสองมาตรการจะขับเคลื่อนไปพร้อม ๆ กัน
“อย่างสถานการณ์โควิดตอนนี้เราเห็นได้ชัดเลยว่าชาวบ้านมีการปลูกพืชผักสวนครัว ทำไร่นาสวนผสมหลังจากเขาสามารถเลี้ยงดูตนเองในเรื่องของบริโภคในครัวเรือนแล้ว ผลผลิตที่เหลือเขายังเอาไปจำหน่ายมีรายได้ ส่วนหนึ่งก็จะแบ่งปันให้กับคนอื่นด้วย อย่างทุกวันนี้ชาวบ้านเอาพืชผักผลผลิตทางการเกษตรมาส่งให้กับทางอำเภอท่าตะเกียบเพื่อจะได้นำเอาไปให้ผู้กักตัวหลายร้อยครัวเรือน ซึ่งเขาเดือดร้อนไม่สามารถออกมาทำมาหากินได้”
นางสาวรัศมินท์ กล่าวว่า สำหรับการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอยได้รับความเมตตาจากวัดเทพพนารามและโรงเรียนวัดเทพพนาราม ในการจัดตั้งเป็นสถานที่ศูนย์พักคอย
“ที่อำเภอท่าตะเกียบท่านเจ้าอาวาสวัดเทพพนาราม ท่านก็อนุญาตให้เราใช้สถานที่จัดตั้งโรงพยาบาลสนามหรือศูนย์พักคอย อีกสถานที่เราได้รับความร่วมมือจากโรงเรียนวัดเทพพนาราม รองรับผู้ป่วยได้60 เตียง เพิ่งเปิดใช้งานไปเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา”นายอำเภอท่าตะเกียบกล่าวย้ำ
นายสมหมาย ชินนะหง ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 12 บ้านทุ่งส่าย ต.คลองตะเกรา และที่ปรึกษากลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านทุ่งส่ายกล่าวว่านอกจากมีหน้าที่ดูแลความปลอดภัยของคนในหมู่บ้าน ตามมาตรการของนายอำเภอในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วยังประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลเรื่องน้ำเพื่อการบริโภคอุปโภค ตลอดจนใช้เพื่อการเกษตรกร ขณะเดียวกันก็มีหน้าที่รับส่งผลิตผลทางการเกษตรที่ได้รับการบริจาคจากสมาชิกกลุ่มเพื่อนำไปให้ผู้กักตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสนามและศูนย์พักคอยตามจุดต่าง ๆ อีกด้วย
ด้านนางบุญโฮม บุญสนิท ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดสารพิษบ้านทุ่งส่าย หมู่ 12 ต.คลองตะเกรา กล่าวว่า
“สมาชิกกลุ่มตอนนี้มีอยู่ 41 ราย แต่ละคนปลูกพืชผักหลากหลายตามความถนัด วิธีการปลูกต้องไม่ใช่สารเคมี ใช้ปุ๋ยชีวภาพ ผลผลิตที่ได้จะนำมาส่งที่กลุ่ม จากนั้นทางกลุ่มก็จะนำไปขายที่หน้าศาลากลางจังหวัดทุกวันอังคาร พฤหัสและศุกร์ ส่วนวันพุธขายที่โรงพยาบาลท่าตะเกียบ เอาไปเท่าไหร่ไม่มีเหลือ หมดทุกวัน ขณะเดียวกันก็จะจัดสรรไว้บางส่วนนำไปส่งให้กับทางอำเภอเพื่อนำไปแจกจ่ายให้กับผู้กักตัวที่ศูนย์พักคอยตามชุมชนตามหมู่บ้านต่าง ๆ รวมทั้งโรงพยาบาลสนามทั้ง 3 แห่งด้วย” นางบุญโฮมกล่าว
บทบาทของอำเภอประสานทุกภาคส่วนมาช่วยเหลือกันในยามวิกฤติ ช่วยให้ประชาชนสุขมากขึ้น ทุกข์น้อยลงอย่างน้อยมีอาหารอิ่มท้อง ที่ได้มาจากน้ำจิตน้ำใจของคนท่าตะเกียบด้วยกัน