เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 18 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวในการประชุมปิดศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลสงกรานต์ พ.ศ. 2566 ว่า มาตรการควบคุมความปลอดภัยเข้มข้นในช่วงเจ็ดวันอันตราย เทศกาลสงกรานต์ปี 2566 ระหว่างวันที่ 11-17 เม.ย. 66 ที่ผ่านมา ภาพรวมเป็นที่น่าพอใจและบรรลุเป้าหมายที่ทางรัฐบาลตั้งไว้ คือการลดอุบัติเหตุจากค่าเฉลี่ยสามปีย้อนหลังให้ได้ 5% ขณะที่ยอดผู้เสียชีวิตมีจำนวนผู้เสียชีวิตจำนวน 264 คน ซึ่งนับว่าลดลงจำนวนมาก เช่นเดียวกับจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุที่ลดลงกว่า 10% โดยสำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร มีจำนวนผู้เสียชีวิตมากเกินกว่าที่คาดไว้คือ 22 ราย ซึ่งเจ้าหน้าที่จะต้องนำมาปรับปรุงเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป อีกทั้งยอมรับว่าการดำเนินการในปีนี้ยากกว่าปีที่ผ่านมา เนื่องจากเป็นการเล่นน้ำสงกรานต์อย่างเต็มรูปแบบในรอบ 3 ปี แต่ถือว่าเป็นปีที่สามารถลดอุบัติเหตุได้ ซึ่งเกิดจากความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งภาคีเครือข่าย ฝ่ายปกครองของแต่ละจังหวัดที่ขับเคลื่อนร่วมกับตำรวจทุกวัน

ผบ.ตร. กล่าวอีกว่า ในช่วง 7 วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่ได้เน้นบังคับใช้กฎหมายใน 10 ข้อหาหลัก และจากสถิติพบว่า สามารถจับกุมในข้อหาใช้ความเร็วเกินกำหนดและเมาแล้วขับได้มากที่สุด โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการควบคู่ไปกับการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเข้าใจถึงความจำเป็นในการบังคับใช้กฎหมายเมื่อมีการกระทำผิดด้วย

สำหรับผลการดำเนินการในแต่ละด้าน มีดังนี้ 1.การอำนวยความสะดวกและจัดการจราจร จัดกำลังตำรวจกว่า 1 แสนนาย ดูแลการจราจรตลอด 7 วัน มีปริมาณรถ เข้า-ออกจาก กทม. รวมจำนวน 6,777,659 คัน ออกจาก กทม. จำนวน 3,318,418 คัน และเข้า กทม. จำนวน 3,459,241 คัน วันที่ประชาชนเดินทางออกจาก กทม. มากที่สุด คือวันที่ 12 เม.ย. 66 วันที่ประชาชนเดินทางเข้า กทม. มากที่สุด คือวันที่ 16 เม.ย. 66 มีการเปิดช่องทางพิเศษ (Reversible Lane) จำนวนทั้งสิ้น 82 ครั้ง (ระบายรถขาออก 32 ครั้ง/ขาเข้า 50 ครั้ง) รถบรรทุก 10 ล้อขึ้นไป ที่ขออนุญาตเดินรถในช่วงเวลาห้าม ผ่านระบบออนไลน์ จำนวน 41,941 คัน อนุญาตให้เดินรถได้ 41,348 คัน (รถที่ได้รับอนุญาตมากที่สุด คือรถบรรทุกน้ำมันหรือแก๊ส (ร้อยละ 49.9) รองลงมา คือรถบรรทุกอาหาร เครื่องอุปโภค บริโภค (ร้อยละ 40.0)) ไม่อนุญาตจำนวน 593 คัน และพบผู้ฝ่าฝืนเดินรถในเวลาห้าม จำนวน 327 ราย เนื่องจากเป็นสาเหตุให้การจราจรติดขัด

2.การบังคับใช้กฎหมาย 10 ข้อหาหลัก มีการตั้งจุดตรวจทุกวันเพื่อบังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืนทั่วประเทศ มีจำนวนจุดตรวจกวดขันวินัยจราจร 2,183 จุดตรวจ จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ 1,637 จุดตรวจ พบผู้ที่ฝ่าฝืนทั้งสิ้น 499,282 ราย เป็นข้อหาขับรถในขณะเมาสุรา 23,278 ราย (มากกว่าค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลังคิดเป็น 21.31 %) ขับรถเร็วเกินกำหนด 195,118 ราย/ไม่สวมหมวกนิรภัย 94,745 ราย/ไม่รัดเข็มขัดนิรภัย 24,967 ราย โดย 10 ข้อหาหลักนี้ จะก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อผู้ใช้รถใช้ถนนรายอื่น จึงจำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะการดำเนินคดีเมาแล้วขับ เป็นการนำผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ซึ่งมีโอกาสก่ออุบัติเหตุออกจากท้องถนน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุได้จำนวน 23,278 คน

3.การป้องกันและลดอุบัติเหตุ รัฐบาลกำหนดค่าเป้าหมายให้ จำนวนครั้ง การเกิดอุบัติเหตุ จำนวนผู้เสียชีวิต และจำนวนผู้บาดเจ็บ (admit) ต้องลดลงไม่น้อยกว่า 5% เมื่อเทียบกับสถิติในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เฉลี่ย 3 ปีย้อนหลัง (พ.ศ. 2563, 2564 และ 2565) ซึ่งจากการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ส่งผลให้สถิติอุบัติเหตุลดลงตามเป้าในทุกด้าน
-การเกิดอุบัติเหตุ 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ 2566 เกิดจำนวน 2,203 ครั้ง ลดลงจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง (2,540 ครั้ง) เป็นจำนวน -337 ครั้ง (ลดลง 13.27%)
-จำนวนผู้เสียชีวิต 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ 2566 มีจำนวน 264 ราย ลดลงจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง (314 ราย) เป็นจำนวน -50 ราย (ลดลง 15.83%)
-จำนวนผู้บาดเจ็บ 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ 2566 มีจำนวน 2,208 คน ลดลงจากค่าเฉลี่ยสงกรานต์ 3 ปีย้อนหลัง (2,556 คน) เป็นจำนวน -348 คน (ลดลง 13.62%) ทั้ง 3 สถิติถือว่าลดลงมากกว่า 5% สำเร็จตามค่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนด

ทั้งนี้ บช. ที่ลดจำนวนอุบัติเหตุทางถนนได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 3, 4 และ ภาค 2 บช. ที่ลดจำนวนผู้เสียชีวิตได้มากที่สุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ ตำรวจภูธรภาค 9, 3 ลำดับที่สามเท่ากัน คือ บช.น. และภาค 6 จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต มีจำนวน 2 จังหวัด ได้แก่ พังงา และพัทลุง

4.สาเหตุการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ ขับรถเร็วเกินกฎหมายกำหนด (36.67%) ดื่มแล้วขับ (27.23%) และตัดหน้ากระชั้นชิด (17.63%) ประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด 3 ลำดับแรก คือ รถจักรยานยนต์ (82.01%) รถกระบะ (7.05%) และรถยนต์นั่งส่วนบุคคล (2.96%) สำหรับพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บมากที่สุด คือไม่สวมหมวกนิรภัย (65.02 %) และดื่มแล้วขับ (21.10%)