เมื่อวันที่ 17 เม.ย. นายวีระกิตติ์ หาญปริพรรณ์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ เปิดเผยถึงสถิติคดีที่ศาลสั่งคุมความประพฤติ (16 เม.ย. 66) มีจำนวนทั้งสิ้น 843 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 836 คดี และคดีขับเสพ 7 คดี สำหรับยอดรวมสะสม 6 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-16 เม.ย. 66 มีจำนวน 6,959 คดี จำแนกเป็น คดีขับรถขณะเมาสุรา 6,705 คดี คิดเป็นร้อยละ 96.35 คดีขับรถประมาท 23 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.33 คดีขับซิ่ง 1 คดี คิดเป็นร้อยละ 0.01 และคดีขับเสพ 230 คดี คิดเป็นร้อยละ 3.31 หากเปรียบเทียบสถิติคดีเข้าสู่คุมประพฤติในวันที่ 6 ของ 7 วันอันตราย ปี พ.ศ. 2565 พบว่า คดีขับรถขณะเมาสุรา จำนวน 1,145 คดี ปี พ.ศ. 2566 มีจำนวน 836 คดี ลดลง 309 คดี คิดเป็นร้อยละ 23.98 ทั้งนี้ จังหวัดที่มีสถิติคดีเมาแล้วขับสะสมสูงสุด 3 อันดับ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 435 คดี รองลงมา นนทบุรี 333 คดี และอันดับสาม ร้อยเอ็ด 331 คดี

นายวีระกิตติ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมคุมประพฤติให้ความสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ควบคู่กับมาตรการแก้ไขฟื้นฟู เพื่อให้ผู้ถูกคุมความประพฤติในฐานความผิดขับรถขณะเมาสุรามีความรับผิดชอบต่อสังคม รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน โดยให้ผู้กระทำผิดปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ได้แก่ การรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติ การพักใช้ใบอนุญาตขับรถซึ่งจะมีการกำหนดระยะเวลา การเข้าอบรมความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย/วินัยจราจร และใช้กระบวนการกลุ่มร่วมกับการทำงานบริการสังคม เช่น การดูแลเหยื่ออุบัติเหตุ ผู้พิการ การช่วยเหลืองานในโรงพยาบาล เพื่อเป็นการกระตุ้นจิตสำนึกแก่ผู้ถูกคุมความประพฤติไม่ให้หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำอีก

นายวีระกิตติ์ กล่าวต่อว่า ในส่วนของการสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ประจำจุดบริการประชาชน ด่านชุมชนและด่านตรวจค้น สำนักงานคุมประพฤติทั่วประเทศ พร้อมด้วยอาสาสมัครคุมประพฤติ ภาคีเครือข่าย และผู้ถูกคุมความประพฤติ จำนวน 370 คน ร่วมปฏิบัติงานประจำจุด จำนวน 32 จุด พร้อมกันนี้ ยังช่วยดูแลความปลอดภัยให้กับประชาชนในการเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ.