เมื่อวันที่ 31 ส.ค. พล.ต.ต.ปิยะ ต๊ะวิชัย รอง ผบช.น. ในฐานะโฆษก บช.น. เปิดเผยถึงสถานการณ์การชุมนุมว่าในวันที่ 1 ก.ย. พบมีการนัดหมายชุมนุม 3 กลุ่ม คือ กลุ่มราษฎรตาลีบัน มีการนัดหมายเวลา 14.00 น. บริเวณแยกลาดพร้าว กลุ่มรามคำแหงเพื่อประชาธิปไตย นัดหมายเวลา 15.00 น. บริเวณหน้าสภารัฐสภา แยกเกียกกาย และ กลุ่มทะลุแก๊ส บริเวณแยกดินแดง จึงย้ำเตือนว่า พื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด การรวมกลุ่มชุมนุม ยังไม่สามารถทำได้ โดยจะมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ และความผิดอื่นที่เกี่ยวข้อง
“ส่วนที่จะมีการชุมนุมบริเวณอาคารรัฐสภาในช่วงการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ยืนยันว่า หากพบมีการละเมิดกฎหมาย หรือ ความพยายามฝ่าฝืนเข้าไปในสถานที่ราชการ เจ้าหน้าที่ก็จำเป็นต้องบังคับใช้กฎหมาย พร้อมย้ำว่า ตำรวจจะใช้อุปกรณ์ควบคุมฝูงชนตามหลักสากล ดังที่เคยใช้ เช่น แก๊สน้ำตา น้ำสีม่วงผสมแก๊สน้ำตา กระสุนยาง ส่วนการตั้งเครื่องกีดขวาง และปิดเส้นทาง จะพิจารณาตามสถานการณ์ โดยต้องจะคำนึงถึงการเปิดทางเข้าออกสถานที่ การรักษาความปลอดภัยสถานที่ และการลดผลกระทบกับประชาชนทั่วไป แต่กรณีที่ไม่สามารถเข้าออกได้ตามเส้นทางปกติ ก็มีการเตรียมแผนอพยพ และเส้นทางสำรองไว้แล้ว ส่วนแกนนำหรือผู้ชุมนุมที่มีหมายจับ หากตำรวจพบ ก็จำเป็นต้องจับกุม เว้นแต่การจับกุม อาจทำให้เกิดความวุ่นวาย ก็อาจมีการติดตามไปจับกุมภายหลัง” โฆษก บช.น. กล่าว
พล.ต.ต.ปิยะ กล่าวต่อว่า ส่วนการตรวจสอบบุคคลที่ถือปืนในพื้นที่การชุมนุม บริเวณแยกดินแดง เมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา ตำรวจมีข้อมูลอยู่แล้ว โดยพบว่า เป็นอาชีวะกลุ่มหนึ่ง อย่างน้อย 2 คน กรณีผู้ที่ร่วมทำร้ายเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงในพื้นที่การชุมนุม พบมีผู้ร่วมก่อเหตุประมาณ 6 คน โดยสามารถจับได้แล้ว 2 คน นอกจากนี้ในวันดังกล่าว มีรถตำรวจ ถูกวัตถุคล้ายกระสุนปืนยิงเข้าใส่ ซึ่งจะต้องมีการตรวจสอบขีปนวิธี หาทิศทางยิง เพื่อหาตัวผู้ก่อเหตุต่อไป
ทั้งนี้ ในช่วงเดือนกรกฎาคม (64) ถึงปัจจุบัน มีคดีเกี่ยวกับการชุมนุม 169 คดี มีผู้ที่อยู่ในข่ายถูกดำเนินคดี 644 คน จับได้แล้ว 374 คน ขณะที่ ภาพรวมตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2563 มีจำนวนคดีทั้งสิ้น 421 คดี สอบสวนแล้วเสร็จ 201 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 220 คดี โดยมีการออกหมายเรียกแล้ว 164 หมาย