เมื่อวันที่ 4 เม.ย. ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวว่า พฤติการณ์ของกลุ่มผู้ต้องหาชาวจีน ที่ร่วมกันก่อเหตุฆาตกรรม น.ส.จิน ซ่าน นักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง ย่านธนบุรี พบว่าเดินทางมาที่ไทยเมื่อวันที่ 8 มี.ค. 66 จากนั้นได้มีการจัดหาที่พักอาศัย โดยมีหญิงไทยวัย 19 ปี ที่รู้จักกับกลุ่มผู้ต้องหาผ่านแอปพลิเคชันแชตชื่อดัง ทำหน้าที่เป็นนางนกต่อ ช่วยแนะนำสถานที่พักอาศัย ยานพาหนะ เส้นทาง รวมทั้งร่วมสนับสนุนก่อเหตุฆาตกรรมอำพราง ที่ผ่านมา ทางกลุ่มผู้ต้องหามีความสัมพันธ์รู้จักกับผู้เสียชีวิตระดับหนึ่ง ตอนอยู่ที่ประเทศจีน

และเมื่อมาไทย ก็มีการนัดพบกัน และ 1 ใน 3 คนร้าย ก็บังคับให้ผู้เสียชีวิตร่วมหลับนอน แต่ถูกปฏิเสธทำให้ไม่พอใจ จนนำมาสู่การวางแผนเรียกค่าไถ่จากบิดาที่อยู่เมืองจีน เป็นเงิน 5 แสนหยวน หรือราว 2.5 ล้านบาท แต่ยังไม่มีการตกลงกัน ทางบิดาก็ได้รับแจ้งว่าลูกเสียชีวิตแล้ว จนกระทั่งทางการจีนประสานว่า สามารถจับกุมผู้ต้องชาวจีนได้ที่เมืองอู่ฮั่น มณฑลเหอเป่ย์ ประเทศจีน และขยายผลจับหญิงไทยอายุ 19 ปี ที่เป็นนกต่อ และจากการตรวจสอบประวัติพบว่า ผู้ต้องหาชาวจีนเคยก่อเหตุคดีอาชญากรรมที่จีนมาแล้ว ส่วนรายละเอียดทางคดีเพิ่มเติม ตำรวจอยู่ระหว่างการขยายผล ส่วนรายละเอียดทางคดี ได้มอบหมายให้กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 แถลงให้สื่อมวลชนทราบอีกครั้ง

เผยโฉมเเก๊งจีนโหดอุ้มฆ่า น.ศ.สาว หมกศพทิ้งร่องน้ำ ก่อนเผ่นหนีกลับประเทศ

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า วันพรุ่งนี้ (5 เม.ย.) ได้เรียก พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ผบช.สตม.) มาพูดคุยเพื่อวางแนวทางป้องกันและแก้ไขปัญหาเรื่องชาวต่างชาติเข้ามาก่อเหตุอาชญากรรมในไทย ซึ่งส่วนหนึ่งต้องมีการทบทวน Visa on Arrival ที่อนุญาตให้คนจีนมาขอทำที่สนามบินปลายทาง ส่วนจะถึงขั้นยกเลิกวีซ่าดังกล่าวกับนักท่องเที่ยวชาวจีนหรือไม่ เห็นว่าเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ตนเองไม่อาจก้าวล่วงได้ต้องหารือร่วมกันหลายหน่วยงาน

เบื้องต้นเจ้าหน้าที่ตำรวจแจ้งข้อหาทั้ง 4 ราย “ร่วมกันเอาตัวบุคคลอายุกว่าสิบห้าไปโดยใช้อุบายหลอกลวงขู่เข็ญ ใช้กำลังประทุษร้าย หรือใช้วิธีการข่มขืนใจด้วยประการอื่นใด หน่วงเหนี่ยวหรือกักขังบุคคลใดให้ผู้อื่นปราศจากเสรีภาพในร่างกายเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าไถ่ เป็นเหตุให้ผู้ถูกเอาตัวไป ถูกหน่วงเหนี่ยว หรือถูกกักขังนั้นถึงแก่ความตาย, ร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพื่อปกปิคความผิดอื่นของตน หรือเพื่อหลีกเลี่ยงให้พ้นอาญาในความผิดอื่นที่ตนได้กระทำไว้ โดยไม่มีเหตุอันสมควรร่วมกันทำให้เสียหาย เคลื่อนย้าย ทำลาย ซ่อนเร้น ยักย้าย ทำให้เสื่อมค่าหรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งศพหรือส่วนของศพ เพื่อปิดบังการตายหรือเหตุแห่งการตาย และร่วมกันลักทรัพย์”

ด้าน พล.ต.ท.ไตรรงค์ ผิวพรรณ ผู้บัญชาการกองกฎหมายและคดี (ผบช.กมค.) กล่าวถึงขั้นตอนการดำเนินคดีกับผู้ต้องหาชาวจีน ที่มาก่อเหตุฆ่าชาวจีนด้วยกัน และหลบหนีไปที่ประเทศจีน และถูกทางการจีนจับกุมตัวได้ กรณีดังกล่าวเทียบเคียงกับกฎหมายไทย จะสามารถดำเนินคดีกับผู้ต้องหาตามมาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และกรณีผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดได้เกิดขึ้นหรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชน ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 ถึงมาตรา 223 ทั้งนี้ เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับมาตรา 220 วรรคแรก และมาตรา 224 มาตรา 226 มาตรา 228 ถึงมาตรา 232 มาตรา 237 และมาตรา 233 ถึงมาตรา 236 ทั้งนี้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตามมาตรา 238