นางธัญญนิตย์ นิยมการ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท. กระทรวงการคลัง บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) สมาคมสถาบันการเงินของรัฐ และสมาคมธนาคารไทย ได้ร่วมกันจัดตั้งโครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน เพื่อเป็นช่องทางให้คำแนะนำ ความรู้ และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งรายย่อยและเอสเอ็มอีอย่างครบวงจร ตั้งแต่การวิเคราะห์สถานะหนี้และความสามารถในการชำระหนี้ การเตรียมตัวเจรจาแก้ไขหนี้ การให้ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวทางการเตรียมตัวเพื่อขอสินเชื่อเสริมสภาพคล่องหรือลงทุนปรับปรุงกิจการ

นอกจากนี้ ยังแบ่งปันประสบการณ์การปรับตัวและปรับธุรกิจของผู้ประกอบการกลุ่มต่าง ๆ และจัดบรรยายผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาหนี้ พร้อมทั้งให้คำแนะนำที่ตรงจุดของปัญหาลูกหนี้แต่ละกลุ่ม โดยมีหมอหนี้จาก 13 สถาบันการเงิน และจะขยายไปรายอื่น ๆ ขณะที่ในปลายปี 64 นี้จะพัฒนาใช้แชตบอท ช่วยตอบคำถามประชาชนที่มีหนี้ และให้ความช่วยเหลือทำได้เร็วขึ้น รวมทั้งจะประสานไปยังหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้รู้จักหมอหนี้เพื่อประชาชนมากขึ้น

ทั้งนี้ ลูกหนี้สามารถลงทะเบียนเพื่อขอรับคำปรึกษากับหมอหนี้ ผ่านเว็บไซต์โครงการหมอหนี้เพื่อประชาชน หรือติดต่อสอบถามได้ทั้งที่ ธปท. สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ และสำนักงานภาคของ ธปท. ทั้ง 3 แห่งที่ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) โทร. 1213

“หมอหนี้เพื่อประชาชน เป็นโครงการต่อยอดจากที่ บสย.ทำมาก่อนหน้านี้ ซึ่งได้เปิดนำร่องไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมามีลูกหนี้ธุรกิจเอสเอ็มอีเข้ารับคำปรึกษาแล้ว 940 ราย ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจการค้า เช่น เครื่องเงิน รถบรรทุก อาหาร วัสดุก่อสร้าง เครื่องเขียน การเกษตร เสื้อผ้า ธุรกิจบริการ เช่น ขนส่งโดยสาร ท่องเที่ยว โรงแรม นวด ทำเล็บ นักแสดง ธุรกิจจำหน่ายตั๋วโดยสารเครื่องบิน และภาคการผลิต เช่น รถแทรกเตอร์ โรงงานผลิตอาหาร เป็นต้น โดยปัจจุบันมีหมอหนี้จากสถาบันการเงินให้คำปรึกษา 200 คน สำหรับใครที่อยากพบหมอหนี้ผ่านไลน์, ซูม, กูเกิล มีท, ไมโครซอฟต์ธีม และโทรศัพท์ เป็นต้น”

สำหรับสถาบันการเงิน 13 แห่งที่เข้าร่วมโครงการนำร่อง ประกอบด้วย 1.บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม 2.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ 3.ธนาคารออมสิน 4.ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร 5.ธนาคารกรุงไทย 6.ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย 7.ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย 8.ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย 9.ธนาคารยูโอบี 10.ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อย 11.ธนาคารกสิกรไทย 12.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา และ 13.ธนาคารกรุงเทพ