ทำแล้ว ทำอยู่ แต่!! จะได้ทำต่อหรือไม่? ยังไม่มีใครรู้ แต่ตลอด 8 ปี 10 เดือนอันยาวนานของรัฐบาล “บิ๊กตู่” แม้มีผลงานให้เห็น แต่ก็มีอีกหลายด้านที่ยังคั่งค้าง ทั้งที่…กำลังทำอยู่แต่ยังไม่สำเร็จ หรือทำไปแล้วแต่ถูกแรงต้านตีกลับจนเสียทรง ต้องพับแผนเก็บไว้ก่อน ทีมข่าวเศรษฐกิจ เดลินิวส์“ ขอรวบ รวมรายละเอียดเพื่อส่งต่อรัฐบาลชุดใหม่

วัดใจ หวย 3 ตัว

เริ่มจากเรื่องใกล้ตัวของคนไทย ผลิตภัณฑ์ใหม่สลากเลข 3 หลัก หรือเอ็น 3 และลอตเตอรี่ 6 หลัก หรือแอล 6 ที่แม้ ครม.นัดสุดท้ายได้ผ่านหลักการไปแล้ว แต่ยังมีขั้นตอนกระบวนการที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลต้องส่งร่างประกาศ รายละเอียดของสลากใหม่มาให้ ครม.พิจารณาอีก ซึ่ง…ต้องรอดูว่าสำนักงานสลากฯจะสามารถผลักดันสลากแบบใหม่ออกมาขายได้จริงหรือไม่ ในส่วนของสลากแอล 6 หรือลอตเตอรี่แบบ 6 หลัก ที่นำออกมาขายในระบบแบบดิจิทัล โดยไม่มีการพิมพ์สลากคงไม่มีปัญหา เพราะน่าจะหาซื้อได้เพิ่มมากขึ้น และคนไทยก็คุ้นชินกันมานานนับปีแล้ว แต่!! ในแง่ของสลากเอ็น 3 หรือสลากเลข 3 หลัก นั้นอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย เพราะก็คล้าย ๆ กับหวยบนดินนั่นแหละ แต่เป็นการซื้อผ่านเครื่อง ไม่ใช่เป็นการจดในกระดาษเหมือนกับหวยบนดินที่เซียนหวยมีประสบการณ์กันมาแล้ว

อย่างไรก็ตาม แต่ไหนแต่ไรมาธุรกิจสลากถือเป็นวงการมาเฟีย มีผู้ได้เสียผลประโยชน์ในวงการมหาศาล การออกสลากใหม่เท่ากับเป็นการ “ตีวัวกระทบคราด” ไปกระทบหม้อข้าวใคร?แค่ไหน? จึงต้องรอดูว่ารัฐบาลใหม่จะเดินหน้าต่อ…หรือทิ้งกลางคัน!! เพราะขนาดรัฐบาลบิ๊กตู่ที่สั่งใส่เกียร์เดินหน้าแก้หวยแพงเป็นวาระแห่งชาติไปแล้ว ยังไม่กล้าไปสุดซอยด้วยซ้ำ!!

ทิ้งไว้กลางทางรถอีวี

อีกเรื่อง!! คงเป็นเรื่องของ “มาตรการการส่งเสริมรถยนต์ไฟฟ้า” หรือรถอีวี ที่ต้องบอกว่า…รัฐบาลเริ่มต้นมาดี แต่ลงท้ายไม่สวย โดยช่วงเริ่มโครงการ ตั้งใจออกมาตรการส่งเสริมแบบครบวงจร แต่ทำไปทำมาผลลัพธ์ที่ได้กลับออกมาแบบครึ่ง ๆ กลาง ๆ  ทำได้เพียงการลดภาษี รวมไปถึงการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อจูงใจให้คนใช้รถยนต์ไฟฟ้า รวมไปถึงการแลกกับการให้บรรดาค่ายรถเข้ามาตั้งโรงงานผลิตในไทย แต่ในส่วนของมาตรการส่งเสริม เช่น เรื่องแบตเตอรี่ที่ถือเป็นหัวใจของรถยนต์ไฟฟ้า กลับถูกทิ้งไว้กลางทาง แม้กรมสรรพสามิตพยายามชงเรื่องเข้า ครม. แต่กลายเป็น “แม่สายบัว…แต่งตัวรอเก้อ”

เช่นเดียวกับกระทรวงอุตสาหกรรม ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ต้องเร่งสานต่อมาตรการยานยนต์ไฟฟ้ารอบใหม่ หรืออีวี 3.5 เข้า ครม. ซึ่งมีทั้งการขยายเวลา ปรับปรุงเงื่อนไข ปรับเงินสนับสนุน หลังจากที่ผ่านมาเข้า ครม.ไม่ทัน เพื่อหาแต้มต่อทำให้ไทยเป็นศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้า หรือรถอีวีต่อไป พร้อมกับเดินหน้าสร้างศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ เพื่อให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบ และรับรองในภูมิภาคอาเซียน

งบล่าช้าใช้ไม่ทัน

ถัดมา…เป็นเรื่องใหญ่กับความล่าช้าของงบประมาณแผ่นดิน ซึ่งเป็นผลพวงจากความเห็นแก่ตัวทางการเมืองที่มีการยุบสภาช้า จนจัดทำงบประมาณปี 67 ไม่ทัน คาดการณ์กันว่า…กว่างบประมาณรายจ่ายปี 67 จะออกมาใช้ได้อาจรอไปถึงช่วงเดือน ธ.ค. 66 ถึง ม.ค. 67 ซึ่งทำให้ระหว่างนั้นเศรษฐกิจประเทศจะขาดความต่อเนื่องในการใช้งบลงทุน เพราะตามระเบียบรัฐบาลทำได้เพียงใช้กรอบงบประมาณเก่าของปี 66 ไปพรางก่อนเท่านั้น เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ เงินเดือนข้าราชการ ขณะที่งบลงทุนโครงการใหม่จะไม่เกิด หรืองบผูกพันหากใช้ไม่ทันปีนี้ก็ต้องล่าช้าออกไปด้วย ซึ่งอาจทำให้เกิดสุญญากาศทางเศรษฐกิจได้ โดยในเรื่องนี้ต้องยอมรับว่าทุกฝ่ายต่างเป็นกังวล เพราะถือเป็นอุปสรรคหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จึงไม่ต้องแปลกใจใด ๆ ที่ต่างก็มีเสียงเรียกร้องให้การจัดตั้งรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นโดยเร็ว อย่ามัวแต่เล่นตัวเล่นแง่จนกระทบต่อการร่วมรัฐบาล ซึ่งเรื่องนี้…ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญลำดับแรกที่รัฐบาลใหม่เมื่อเข้ามาบริหารงานแล้วต้องเร่งดำเนินการโดยทันที เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศออกอาการสะดุด

วินัยการคลังพังเร่งแก้

ปัญหาภาระหนี้ของแผ่นดินก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าในยุครัฐบาล ประยุทธ์ เป็นช่วงที่ไทยเผชิญหนี้กองสุมเยอะสุด และมีการพังทลายเพดานวินัยการเงินการคลังไปถึง 2 ครั้ง เพื่อหาเงินมาใช้บริหารประเทศ ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สาธารณะที่พุ่งไป 61.26% ของจีดีพี จนต้องขยายเพดานหนี้จาก 60% เป็น 70% ของจีดีพี ถัดจากนั้นก็ทำลายเพดานก่อหนี้ภาครัฐ มาตรา 28 ที่ขยายจาก 30% เป็น 35% เพื่อหาเงินมาใช้หนี้ชาวนา ประกันรายได้ข้าว

แม้เข้าใจได้ว่ารัฐต้องนำประเทศฝ่าวิกฤติโควิดจึงต้องหาทางออกด้วยการนำ พ...กู้เงินมาใช้  1.5 ล้านล้าน แต่ก็มีหลายเรื่องที่ไม่ค่อยเข้าใจเช่นกัน เพราะเป็นเหมือนการหว่านเงิน แบบไร้ประสิทธิภาพ เช่น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ใช้งบประมาณสะสมหลายแสนล้าน แต่ไม่ทำให้คนไทยพ้นบ่วงความจนเลย ซึ่งรัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องรับสภาพให้ได้กับการบริหารที่ต้องพึ่งพาตัวเองมากสุด จะกู้มาทำนโยบายหาเสียง กระตุ้นเศรษฐกิจแบบฟุ่มเฟือยไม่ได้อีกแล้ว เพราะรัฐบาลลุงตู่กดเต็มแม็กซ์กู้เต็มทุกช่องทาง อีกทั้งยังต้องนำพาภาวะการคลังประเทศให้กลับเข้าสู่วินัยให้ได้โดยเร็ว

ระเบิดเวลาหนี้เน่า

อีกเรื่องคือวังวนหนี้ ไม่ได้มีแค่ภาครัฐเท่านั้น แต่ยังลุกลามไปถึงภาคประชาชน และสถาบันการเงินด้วย โดยผลงานที่ผ่านมารัฐบาลใช้มาตรการพักหนี้เกษตรกรพร่ำเพรื่อตั้งแต่ก่อนเกิดโควิดจนเกิดอาการดื้อยา ทำให้เกษตรกรบางส่วนที่เป็นหนี้เคยตัว มีหนี้แล้วไม่อยากใช้ พอถึงรอบก็มาก่อม็อบกดดันรัฐบาลให้พักหนี้ใหม่ หรือแฮร์คัทหนี้ออก ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้นอกจากเป็นการเอาใจคนไม่ดีแล้ว ยังทำให้คนดี ๆ ที่ผ่อนหนี้ตรง อยากจะทิ้งตัวเลิกผ่อนไปด้วย ส่งผลให้ที่ผ่านมาธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรมีหนี้เสียพุ่งไปเกือบ 16% 

ขณะเดียวกัน ยังต้องจับตาผลพวงจากโควิดที่ยังคงมีระเบิดเวลาหนี้เสียรอรัฐบาลใหม่อยู่ หลังจากที่ผ่านมารัฐบาล และแบงก์ชาติมีการใช้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ผ่อนไม่ไหว และวงเงินกู้ใหม่ รวมถึงขยายเวลาออกไป เช่น ขยายสินเชื่อฟื้นฟูไปอีกถึง เม.ย. 67 หรือออมสิน และ ธ.ก.ส. ขยายเวลาสินเชื่อผู้มีอาชีพอิสระไปถึงเดือน มี.ค. 68 เพื่อไม่ให้ลูกหนี้ที่ครึ่งผีครึ่งคนกลายเป็นหนี้เสีย ซึ่งเปรียบเสมือนการซื้อเวลาที่จะเกิดหนี้เสียไว้ใต้พรมรอรัฐบาลใหม่เข้ามาจัดการ 

สางปัญหาหนี้ครัวเรือน

ปัญหาหนี้ครัวเรือนเกือบ 15 ล้านล้านบาท หรือ 88% ของจีดีพี ก็เป็นโจทย์ท้าทายรัฐบาลใหม่เช่นกัน ซึ่งแบงก์ชาติก็พยายามแก้อยู่ ทั้งทบทวนเกณฑ์เพดานดอกเบี้ยให้ยืดหยุ่นตามความเสี่ยงของผู้กู้ เสี่ยงมากดอกแพง เสี่ยงต่ำดอกถูก รวมถึงคุมโฆษณาบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลไม่ไปกระตุ้นการกู้เงินจนเกินตัว เพราะปัจจุบันหนี้ที่ต้องเร่งแก้ไขมาจากธนาคารของรัฐสูงถึง 70% หนี้จากนอนแบงก์ 20% และจากธนาคารพาณิชย์ 10% ส่วนใหญ่พบพฤติกรรมหนี้ที่เป็นปัญหาเรื้อรังยังไม่เป็นหนี้เสียแต่ปิดจบไม่ได้ เช่น กู้หนี้ใหม่ไปโปะหนี้เก่า จ่ายแต่ขั้นต่ำ กู้สหกรณ์เพิ่มตามเงินเดือนที่เพิ่มจนเกษียณ  หนี้ใหม่เพิ่มขึ้นเร็วและอาจเป็นหนี้เสียในอนาคต นี่ยังไม่รวมตัวเลขหนี้อื่นที่อาจเกิดปัญหาในอนาคต เช่น หนี้ กยศ. และสินเชื่อสหกรณ์อื่น 7 แสนล้านบาท รวมทั้งหนี้นอกระบบ ซึ่งปัญหาหนี้ต่าง ๆ นี้ หากปล่อยไว้อาจกลายเป็นเนื้อร้ายให้กับเศรษฐกิจไทยในอนาคต

ส่งออกโคม่า ให้ยาด่วน

ถัดมาดูงานด้านเศรษฐกิจประเทศ ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่า ความอ่อนแอของเศรษฐกิจโลกรอบนี้ ส่งแรงกระแทกต่อไทยเร็ว และแรงกว่าที่คาดไว้ โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่ติดลบติดกันแล้วถึง 4 เดือน แถมมูลค่าล่าสุด เดือน ม.ค. 66 ยังตกต่ำสุดในรอบ 23 เดือน หลังประเทศคู่ค้าไม่มีกำลังซื้อ ทำให้สินค้าของไทยตกลงตาม จนคาดกันว่า ในปี 66 การส่งออกจะเผชิญตัวเลขติดลบ ดังนั้น…เป็นหน้าที่ของรัฐบาลใหม่และกระทรวงพาณิชย์ ที่จะต้องเข้ามาผลักดันการส่งออกให้ดีกว่าเดิม จะทำตัวเป็นกระทรวงอีเวนต์แบบ 4 ปีที่ผ่านมาไม่ได้ หากส่งออกไม่รอดแล้ว เศรษฐกิจไทยปีนี้ที่ตั้งไว้ 3-3.5% มีหวังพินาศตามไปด้วย เนื่อง จากสัดส่วนรายได้การส่งออกมีมากถึง 60% ของจีดีพี

พึ่งท่องเที่ยวได้แค่ไหน

หันมาดูภาคการท่องเที่ยว ความหวังหนึ่งเดียวของไทย ซึ่งสิ่งที่อยากให้รัฐบาลชุดใหม่เข้ามาทำ คือผลักดันให้ท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวทุกรูปแบบ รวมถึงช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยให้เข้าถึงแหล่งเงินดอกเบี้ยต่ำ ตลอดจนสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลด้านการท่องเที่ยวของไทยเอง ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังไม่มี ทั้งที่เป็นเมืองท่องเที่ยวระดับโลก แต่ต้องไปพึ่งพาเทคโนโลยีจากชาติอื่น โดยมีการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เป็นตัวกลาง หากทำสำเร็จจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการ ไม่ทำให้เงินทองรั่วไหลออกไปต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกัน รัฐบาลต้องใส่ใจพัฒนาท่องเที่ยวเมืองรอง โดยให้การสนับสนุนให้หน่วยงานภาครัฐจัดกิจกรรมสัมมนา ประชุมนอกพื้นที่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเมืองรอง หรือการเชื่อมถนนท่องเที่ยวในรูปแบบคลัสเตอร์เที่ยวเมืองหลัก อาทิ ให้ภูเก็ตเป็นศูนย์กลาง แต่ต้องเชื่อมต่อไปจังหวัดใกล้เคียงอย่าง กระบี่ พังงา สตูล ระนอง เป็นต้น

เร่งลดฝุ่นพิษพีเอ็ม 2.5

ขณะที่ กระทรวงอุตสาหกรรม สิ่งที่ยังค้างเติ่ง รอการสานต่อ ได้แก่ มาตรการแก้ปัญหาอ้อยที่ถูกลักลอบเผา ช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดคุณภาพดี เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 โดยชาวไร่อ้อยรอเงินช่วยเหลือเพิ่มอีก 120 บาทต่อตัน เพิ่มเติมจากที่ ครม. ได้อนุมัติไปแล้วที่ 1,080 บาทต่อตัน รวมถึงการผลักดันมาตรฐานการปล่อยมลพิษตามมาตรฐานยูโร 6 ให้เร็วขึ้น เพื่อลดฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ซึ่งจะทำควบคู่กับการใช้มาตรฐานยูโร 5 สำหรับรถยนต์ใหม่ หลังจาก ครม. ได้เลื่อนให้เริ่มใช้เป็นวันที่ 1 ม.ค. ปี 67 จากเดิมต้องใช้ภายในปี 64 เพราะช่วงนั้นเกิดโควิดระบาดพอดี

ฝ่าพลังงานค่าไฟแพง

ส่วนกระทรวงพลังงาน สิ่งที่ต้องติดตามใกล้ชิดเลย คือ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2566-2580 หรือพีดีพี 2023 คาดจะเสร็จกลางปี 66 โดยสาระสำคัญของแผนใหม่ เช่น บรรจุปริมาณการผลิตไฟฟ้าในระบบ 3 การไฟฟ้ามากกว่าแผนเดิมที่มีอยู่ 77,211 เมกะวัตต์ เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าจะสูงขึ้น ส่วนค่าไฟฟ้าจะพยายามให้เท่าแผนพีดีพีเดิมที่เฉลี่ยทั้งแผนอยู่ที่ 3.60 บาทต่อหน่วย  รวมถึงวาระสำคัญ การแต่งตั้งผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. คนใหม่ ซึ่งต้องดูว่ารัฐบาลใหม่ จะเสนอชื่อ “เทพรัตน์ เทพพิทักษ์” รองผู้ว่าการประจำสำนักผู้ว่าการ กฟผ. ตามบอร์ด กฟผ. ลงมติมาแล้วหรือไม่

เคาะแล้วค่าไฟงวดใหม่ บ้านราคาเดิม4.72บ. อุตฯอ่วมจ่าย5.69บ.  จับตาเอกชนขู่ขึ้นราคา! | เดลินิวส์

นอกจากนี้ ยังมีโจทย์รอแก้ราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซล ก๊าซแอลพีจีที่ยังผันผวน พร้อมกับการเร่งสางหนี้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ติดลบอยู่กว่าแสนล้านบาท ตลอดจนการดูแลค่าไฟฟ้า ที่ไทยสูงกว่าเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะเวียดนาม ที่ราคาประมาณหน่วยละ 2.80 บาท ขณะที่ราคาค่าไฟของไทยงวดใหม่ พ.ค.-ส.ค. อยู่ที่หน่วยละ 4.77 บาท  

เคลียร์ปมภาษีหุ้น

สำหรับวงการ “ตลาดทุน” สิ่งที่ให้รัฐบาลใหม่มาสะสางก็หนีไม่พ้นเรื่อง “การเก็บภาษีหุ้น” ว่าสรุปแล้วจะไปทางไหน เพราะทางเอกชนค้านหัวชนฝามาตลอดว่า สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยขณะนี้ยังผันผวน อีกทั้งมีนักลงทุนรายย่อยสัดส่วนในตลาด 40% ซึ่งมีการหมุนเวียนซื้อขายหุ้นอยู่มาก ที่สำคัญเคยประเมินกันว่า หากเก็บภาษีขายหุ้นจริงจะทำให้มูลค่าการซื้อขายหุ้นไทย หดตัว 30-40% ด้วยภาวะเช่นนี้…ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอย ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 4 ปี ออกมาต่ำกว่าคาดที่ยังกดดันตลาด จึงทำให้ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวลง และเงินทุนต่างชาติขายสุทธิไหลออกอย่างต่อเนื่อง จึงต้องวัดใจรัฐบาลใหม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร เลือกระหว่างรายได้เงินภาษีมาปะตูดรัฐบาล หรือซื้อเวลาประคองความเชื่อมั่นจากนักลงทุนไปก่อน ในช่วงที่มีความไม่แน่นอน

งานหินโจทย์ 30:30

การบ้านกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ที่รอรัฐบาลใหม่ คือ “โจทย์ 30:30” หมายถึง การเพิ่มสัดส่วนมูลค่าเพิ่มเศรษฐกิจดิจิทัลต่อจีดีพีของไทยเป็น 30% และขยับแรงกิ้ง ความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยให้อยู่ใน 30 อันดับแรกของโลกภายในปี 70  ตามแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมที่ได้กำหนดไว้ เพราะเมื่อดูตัวเลขเศรษฐกิจดิจิทัลต่อจีดีพี ปี 64 พบว่าไทยอยู่ที่ 12.97% จากปี 63 มีสัดส่วนที่ 11.77% ส่วนความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัลของไทยปี 65 อยู่อันดับ 40  ซึ่งขณะนี้เหลือเวลาอีก 4 ปีกว่าเท่านั้น กับการเพิ่มสัดส่วนให้กระโดดขึ้นมาตามเป้า นอกจากนี้ยังมีการบ้านพาคนไทยให้เข้าถึงอินเทอร์เน็ตให้แตะ 75% ของคนไทยทั้งประเทศ จึงเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป รัฐบาลใหม่จะนำพาประเทศไทยไปสู่เป้าหมายที่วางไว้หรือไม่

ปราบโจรไซเบอร์

ส่งท้ายกับเรื่องปวดตับคนไทยที่ต้องเผชิญแก๊งมิจฉาชีพหลอกลวงบนโลกออนไลน์ทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะมาในรูปแบบแก๊งคอลเซ็นเตอร์ เอสเอ็มเอส โหลดแอปพลิเคชันปลอม ดูดเงินเกลี้ยงวับ แม้มีการออก พ.ร.ก.ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไปแล้ว เช่น การให้อำนาจการปิดกั้นบัญชีม้า การให้อำนาจภาคธนาคารยับยั้งภัยจากมิจฉาชีพ รวมถึงล่าสุดแบงก์ชาติได้ออกมาตรการจัดการภัยทุจริตทางการเงิน เช่น ต้องให้คนใช้แอปธนาคาร สแกนหน้าเพื่อยืนยันตัวตนทุกครั้งเมื่อโอนเงินเกิน 5 หมื่นบาทต่อครั้ง หรือเกิน 2 แสนบาทต่อวัน และการปรับเปลี่ยนวงเงินโอนมากเกินกว่า 5 หมื่นบาท แต่แม้ภาคการเงินยกระดับความปลอดภัย แต่คำถามคือ จะแก้ไขได้จริงหรือไม่ เพราะมิจฉาชีพได้เปลี่ยนรูปแบบและยังนำหน้า 1 ก้าวเสมอ

Free photo side view of male hacker with gloves and laptop

ทั้งหลายทั้งปวง…ก็ต้องรอดูว่า รัฐบาลใหม่เข้ามาตัดสินว่าจะเดินต่อหรือฉีกทิ้ง!!

…ทีมเศรษฐกิจ…