เมื่อวันที่ 25 มี.ค. นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์เฟซบุ๊กระบุว่า กรณีคุณทักษิณ : ไม่ติดคุก ไม่นิรโทษ ต้องลบล้างผลพวงรัฐประหาร ดำเนินคดีใหม่อย่างเป็นธรรม สำนักข่าวจากประเทศญี่ปุ่น รายงานข่าว เมื่อวันที่ 24  มี.ค. ความว่า คุณทักษิณ ชินวัตร พร้อมกลับมาติดคุก และไม่ต้องการให้พรรคเพื่อไทยผลักดันกฎหมายนิรโทษกรรมให้แก่ตนเอง ประเด็นปัญหา “กลับบ้าน” ของคุณทักษิณ อยู่ในสังคมไทยมาเกือบสองทศวรรษ เมื่อไรที่มีการเลือกตั้ง เมื่อไรได้รัฐบาลใหม่จากขั้วเพื่อไทย ก็จะมีผู้หยิบยกประเด็นนี้ขึ้นมาเสมอ หากใครได้ติดตามการแสดงความเห็นของผมตั้งแต่ปี 2548/49 คงจำได้ว่า ผมไม่เห็นด้วยกับการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่เรียกร้อง “นายกฯ พระราชทาน มาตรา 7” ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 

นายปิยบุตร ระบุต่อว่า ผมและเพื่อนอาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. รวม 5 คน ในเวลานั้น ได้ออกแถลงการณ์ ไม่เห็นด้วยกับรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ในเวลาต่อมา พวกเรายังได้แถลงการณ์แสดงความไม่เห็นด้วยและวิจารณ์การดำเนินคดีคุณทักษิณในหลายกรณี รวมทั้งคำพิพากษากรณียึดทรัพย์ด้วย หลังเหตุการณ์การสลายการชุมนุมปี 53 พวกเราได้รวมตัวก่อตั้ง “คณะนิติราษฎร์” 18 ก.ย. 2554 คณะนิติราษฎร์ เสนอข้อเสนอ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 กันยายน 2549” ดังนี้ หนึ่ง ให้รัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 และการกระทำของ คปค. ตั้งแต่ 19 ก.ย. 2549 ถึง 30 ก.ย. 2549 เป็นโมฆะ สอง ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 36 (ซึ่งรับรองให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย) ตกเป็นโมฆะ ทำให้การกระทำทั้งหลายของคณะรัฐประหารถูกโต้แย้งได้ว่าขัดรัฐธรรมนูญและกฎหมาย สาม ให้รัฐธรรมนูญ 49 มาตรา 37 (ซึ่งนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร) ตกเป็นโมฆะ ทำให้ การนิรโทษกรรมรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 เป็นโมฆะ สิ้นผลไป เหมือนไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

นายปิยบุตร ระบุต่อว่า เมื่อไม่มีการนิรโทษกรรมการรัฐประหาร ทำให้การรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2549 ยังคงมีความผิดฐานกบฏในราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 113 เจ้าหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรมย่อมสามารถดำเนินคดีเอาคณะรัฐประหารมาลงโทษได้ สี่ ให้คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่เป็นผลต่อเนื่องจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ตกเป็นโมฆะ ห้า ให้เรื่องที่อยู่ในกระบวนพิจารณา ที่เกิดจากการริเริ่มของ คตส. ยุติลง ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ต้องทำโดยผ่านการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ หากข้อเสนอเหล่านี้สำเร็จ ผลที่ตามมา คือ ดำเนินคณะรัฐประหารได้ทันที ส่วนคดีความของคุณทักษิณและนักการเมืองอีกหลายคน ที่สืบเนื่องจากรัฐประหาร 49 ก็ไม่ได้นิรโทษหรืออภัยโทษแต่อย่างใด เพียงแต่ลบล้างคำพิพากษาเหล่านั้นทิ้ง และสามารถดำเนินคดีต่อไปตามกระบวนการปกติ เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกกล่าวหาและจำเลย 

นายปิยบุตร ระบุอีกว่า เมื่อเข้าปี 2556 มีการเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” จนเป็นชนวนให้การชุมนุมของ กปปส. จุดติด และนำมาซึ่งรัฐประหาร 22 พ.ค. 2557 ในเวลานั้น ผมและเพื่อนอาจารย์คณะนิติราษฎร์ ยืนยันว่า นิรโทษกรรม “เหมาเข่ง” แบบนี้ไม่ได้ เราเสนอร่างกฎหมายให้นิรโทษกรรมเฉพาะผู้ชุมนุม ในส่วนกรณีของคุณทักษิณและนักการเมืองรายอื่นๆ ที่ถูกดำเนินคดีสืบเนื่องจากรัฐประหาร 49 ต้องใช้ “ลบล้างผลพวงรัฐประหาร” มิใช่ “นิรโทษกรรม” ข้อเสนอทั้งหมดนี้ ไม่ถูกนำไปปฏิบัติ ทั้งจากรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ทั้งจากรัฐบาลประยุทธ์ เมื่อข้อเสนอของเราไม่ถูกฝ่ายการเมืองนำไปใช้ ก็เหลืออยู่ทางเดียว คือ ลงมาปฏิบัติเอง นี่เป็นมูลเหตุสำคัญหนึ่งที่ทำให้ผมตัดสินใจลาออกจากอาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มธ. และมาก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่ ด้วยความตั้งใจว่า จะเข้าไปมีอำนาจ เพื่อทำข้อเสนอเหล่านี้ให้เป็นจริง วันนี้ ประเด็น “ทักษิณกลับบ้าน” กำลังถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้ง ผมยังคงยืนยันตามเดิมว่า การดำเนินคดีคุณทักษิณ โดยใช้องค์กรและกระบวนการที่เริ่มต้นจากรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ไม่เป็นธรรมต่อคุณทักษิณ 

“ผมเห็นว่า จนถึงวันนี้ คุณทักษิณไม่ต้องติดคุก และเช่นเดียวกัน ก็ไม่ควรมีการตรากฎหมายนิรโทษกรรมให้คุณทักษิณด้วย แต่หนทางที่ถูกต้อง เป็นธรรมต่อคุณทักษิณ และยืนอยู่บนหลักการ ก็คือ ลบล้างผลพวงรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 ตามข้อเสนอคณะนิติราษฎร์ ที่เสนอไว้ เมื่อ 12 ปีก่อน คุณทักษิณไม่ต้องติดคุก ไม่ต้องนิรโทษกรรมคุณทักษิณ ดำเนินคดีกันใหม่อย่างเป็นธรรม เอาคณะรัฐประหาร 49/57 มาลงโทษ” นายปิยบุตร กล่าว.