จากกรณีมีรายงานข่าวแจ้งว่า มีชาวบ้าน จ.ตราด ไปขอแมงดาถ้วยจากชาวประมง เพื่อนำมารับประทานอาหารโดยไม่ทราบว่า แมงดาถ้วยเหล่านั้นมีพิษ ภายหลังนำมาทำยำไข่แมงดากินแกล้มเหล้า ก่อนจะแยกย้ายกลับบ้านหลับนอน พิษจึงเริ่มส่งผลทำให้เกิดอาการ มึนศีรษะ เวียนหัว อาเจียน ก่อนเกิดอาการไร้เรี่ยวแรง กระทั่งเสียชีวิตแล้ว 2 ราย ญาติส่ง รพ.เพื่อรักษาอาการ 5 ราย โดยมี 1 ราย ที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว เหตุเกิดเมื่อวันที่ 18-19 มี.ค. ที่ผ่านมา
เกี่ยวกับเรื่องนี้ เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปยังวัดบางกระดาน ต.บางปิด อ.แหลมงอบ จ.ตราด ซึ่งเป็นสถามี่ที่ตั้งศพของผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย คือ นายเอ (นามสมมุติ) อายุ 57 ปี และ น.ส.บี (นามสมมุติ) 62 ปี โดยญาติของ นายเอ เปิดเผยว่า นายเอ ไปขอแมงดาถ้วยกับชาวประมงที่รู้จัก จากนั้นก็เอามาทำ “ยำไข่แมงดา” เพื่อแกล้มเหล้ากันกับญาติและเพื่อน หลังจากนั้นทั้งหมดได้แยกย้ายกันกลับบ้านพัก แต่พอรุ่งเช้าก็พบว่า นายเอ เสียชีวิตในลักษณะนั่งอยู่บนโซฟาภายในบ้าน ขณะที่ น.ส.บี ลูกชายพาตัวส่ง รพ.กลางดึก แพทย์พยายามล้างท้อง แต่สุดท้ายทนพิษบาดแผลไม่ไหว เสียชีวิตเป็นรายที่ 2
สำหรับ “แมงดาถ้วย” หรือ แมงดาทะเลหางกลม หรือ “เห-รา” หรือ แมงดาไฟ ทางฝ่ายงานเกี่ยวข้องได้ประกาศเตือนในทุกปีไม่ให้นำมารับประทานเนื่องจากมีพิษ ลักษณะตัวจะโค้งกลม มีหางกลม ผิวด้านบนมีขนสั้น สีน้ำตาลอมแดง ต่อจากส่วนท้องมีหางค่อนข้างกลม ไม่มีสันและไม่มีหนาม พบอาศัยอยู่ตามพื้นทะเลที่เป็นดินโคลนและตามคลองในป่าชายเลน โดยฝั่งอ่าวไทยจะพบมากที่สุด ตามพื้นที่แนวชายฝั่งของทะเลตั้งแต่จังหวัดจันทบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ สมุทรสาคร เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ตลอดไปจนถึงชุมพร ส่วนฝั่งทะเลอันดามัน ก็พบเช่นเดียวกันคือตั้งแต่ จ.สตูล ไปจนถึง จ.ระนอง
จากข้อมูลทางวิชาการพบว่า สารพิษที่พบอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดาถ้วย คือ สารเทโทรโดท็อกซิน (tetrodotoxin) และ ซาซิท็อกซิน (saxitoxin) ซึ่งเป็นสารชนิดเดียวกันกับที่พบในปลาปักเป้า เป็นสารที่ส่งผลต่อระบบควบคุมการหายใจถึงขั้นเสียชีวิต โดยพิษในแมงดาถ้วยเกิดจาก 2 สาเหตุหลัก ๆ คือ 1.แมงดากินแพลงก์ตอนที่มีพิษ หรือกินสัตว์ทะเลอื่น ๆ ที่กินแพลงก์ตอนพิษเข้าไปทำให้สารพิษไปสะสมอยู่ในเนื้อและไข่ของแมงดา 2.เกิดจากแบคทีเรียในลำไส้ที่สร้างพิษขึ้นมาได้เอง หรือสาเหตุประกอบกันทั้งสอง และที่สำคัญสารพิษทั้ง 2 ชนิดนี้ เป็นสารที่ทนต่อความร้อนได้ดี การปรุงอาหารด้วยความร้อนวิธีต่าง ๆ เช่น ต้ม ทอด หรืออบ เป็นเวลานานมากกว่าชั่วโมง ไม่สามารถทำลายสารพิษชนิดนี้ได้ ประชาชนจึงไม่ควรนำมาบริโภคอย่างเด็ดขาด.