เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการจัดเก็บค่าส่วนแบ่งการขาย (ค่า GP) ที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มส่งอาหาร (ฟู้ดเดลิเวอรี่) เรียกเก็บจากร้านอาหารที่เข้าร่วมในแอปพลิเคชัน ในอัตรา 30-35% โดยอ้างว่าเพื่อความเป็นธรรมและเหมาะสม
ดร. เก่งการ เหล่าวิโรจกุล ผู้อำนวยการฝ่ายรัฐกิจสัมพันธ์ แกร็บ ประเทศไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาผู้ให้บริการแพลตฟอร์มต่างๆ ได้ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐมาโดยตลอด โดยเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กรมการค้าภายในได้ขอความร่วมมือปรับลดค่าคอมมิชชันเป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาผลกระทบให้กับร้านอาหาร โดยผู้ให้บริการรายใหญ่ทั้ง 4 รายได้ให้ความร่วมมือ แต่ได้พิสูจน์แล้วว่าการลดค่า GP ไม่เกิดประสิทธิผลเท่ากับการช่วยกระตุ้นยอดขายให้ร้านอาหารผ่านการทำโปรโมชัน มอบส่วนลด หรือการช่วยโปรโมทร้าน จึงอยากขอให้ภาครัฐทบทวนการพิจารณาและหามาตรการอื่นแทนการปรับลดค่า GP อาทิ การเร่งผลักดันให้โครงการ “คนละครึ่ง” ใช้กับบริการฟู้ดเดลิเวอรี่ได้เร็วที่สุด เพื่อเป็นโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับร้านอาหาร ไม่ว่าเล็กหรือใหญ่
“ค่าคอมมิชชันที่แพลตฟอร์มเรียกเก็บจากร้านค้านั้นไม่ใช่ ‘ผลกำไร’ ทั้งหมด แต่เป็นรายได้ที่แพลตฟอร์มต้องนำมาจัดสรรค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าตอบแทนคนขับ ค่าโฆษณาและการทำโปรโมชันสำหรับผู้บริโภค รวมถึงเทคโนโลยีและระบบต่างๆ โดยแพลตฟอร์มเองต้องพยายามรักษาสมดุลเพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย ขณะเดียวกันก็ต้องทำให้ธุรกิจยังสามารถดำเนินต่อไปได้ ซึ่งถือเป็นความท้าทายอย่างมากในช่วงโควิด” ดร. เก่งการ ย้ำ
ด้านตัวแทนไรเดอร์ นายอรรถพล คล้ายเอ็ม หนึ่งในแกนนำ “กลุ่ม Grab เคลื่อนที่เร็วเราช่วยกัน” กล่าวว่า การลดค่า GP นอกจากจะกระทบคนขับโดยตรงแล้ว ยังส่งผลถึงผู้ใช้บริการและภาพรวมธุรกิจอาหารด้วย เพราะถ้ารายได้ของแพลตฟอร์มหายไปจากการลดค่า GP บริษัทฯ ก็ต้องมาลดค่ารอบคนขับ นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นให้คนขับที่ได้รับผลกระทบรวมตัวกันออกไปแสดงพลังให้ภาครัฐได้รับรู้ถึงปัญหา
สอดรับมุมมองของ นายธนากร พลอยแสง แอดมินเพจ “กูขับ LINEMAN RIDER” ที่ระบุว่า ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดปรับลดค่า GP เพราะท้ายที่สุดย่อมมีผลกระทบมาถึงกลุ่มไรเดอร์ โดยเฉพาะอาจถูกปรับลดค่ารอบ ทั้งนี้ ผลจากโควิดฯและนโยบายล็อกดาวน์ของรัฐบาล จึงมีคนหันมาประกอบอาชีพไรเดอร์ ทำให้ไรเดอร์เดิมถูกแย่งงาน จนรายได้ต่อวันลดลง หากปรับค่า GP จนไรเดอร์ต้องถูกลดค่ารอบอีก เชื่อว่าจะต้องมีไรเดอร์จำนวนมากออกมาประท้วงแน่นอน
ขณะที่ นายสมยศ ปิงจุลัด ซึ่งรับงานส่งอาหารพาร์ทไทม์ จากค่าย Foodpanda เสริมว่า การปรับลดค่า GP จะผลกระทบต่อไรเดอร์ ทั้งกลุ่มที่ทำเป็นงานประจำและพาร์ทไทม์ ขณะที่ต้นทุนค่าน้ำมันก็สูงขึ้นตลอดเวลา หากรัฐประกาศลดค่า GP และบริษัทฯ ต้องลดค่ารอบของไรเดอร์ลงอีก คงต้องมองหาทางรอดอื่่น ถ้าไม่ย้ายไปค่ายอื่นที่ให้ค่าตอบแทนดีกว่า ก็อาจจะต้องเปลี่ยนอาชีพไปเลย
ส่วนตัวแทนผู้ใช้บริการ น.ส.ศิรินทร์รัตน์ จันทะมาต พิธีกรรายการเปิดสนามข่าวเศรษฐกิจ วิทยุ FM 97 กล่าวว่า กระแสข่าวที่เกิดขึ้นทำให้สังคมเกิดความกังวลใจว่า อาหารที่สั่งผ่านบริการฟู้ดเดลิเวอรี่จะมีราคาแพงขึ้น หรือผู้บริโภคอาจได้รับสินค้าในปริมาณที่ลดลง เพราะจากประสบการณ์หลายครั้งที่ผ่านมา เมื่อรัฐบาลควบคุมราคาสินค้าเมื่อใด ทำให้สินค้ามีราคาแพงขึ้นทันที รัฐบาลจึงไม่ควรควบคุมราคาสินค้า จนเป็นการผลักภาระให้แก่ประชาชน เพราะจะเป็นการซ้ำเติมเกินไป แต่ควรให้การสนับสนุนร้านอาหาร และผู้ให้บริการมากกว่า
ด้าน น.ส.กีรตยา กำลังมาก จนท.สมาคมช่างภาพสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ในฐานะที่ตนสั่งอาหารผ่านแพลตฟอร์มเป็นประจำ ไม่คิดว่าค่า GP จะมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจสั่งซื้ออาหารของมากนัก เพราะจะพิจารณาจากโปรโมชัน เช่น ส่วนลดค่าอาหารหรือส่วนลดค่าส่ง เป็นหลัก โดยจะสั่งอาหารจากร้านที่มีราคาถูกที่สุดอยู่แล้ว ส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่ภาครัฐจะปรับลดค่า GP เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคและยังอาจสร้างปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น รออาหารนานขึ้น หรืออาจต้องเสียค่าบริการเพิ่มขึ้นเพื่อให้ไรเดอร์จัดส่งอาหารให้เร็วขึ้น.