OpenAI ผู้สร้างอัจฉริยะการค้นหา ‘จาร์วิส’ แห่งโลกปัจจุบัน

ดร.ชัยพร เขมะภาตะพันธ์ คณบดีวิทยาลัยนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีและวิศวกรรมศาสตร์ (CITE) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า สุดยอดปัญญาประดิษฐ์ในการค้นหาคำตอบ “ChatGPT” ที่ขณะนี้กำลังได้รับความนิยมพูดถึงไปทั่วโลกนั้น ถูกสร้างและพัฒนาขึ้นในปี 2018 โดยกลุ่มนักพัฒนาที่มีชื่อว่า “OpenAI” ภายใต้การสนับสนุนอย่าง อีลอน มัสก์ และ ไมโครซอฟท์ และเหล่าบรรดาสตาร์ทอัพด้านคอมพิวเตอร์ โดยเป็น AI ชนิด Generative Pre-training Transformer (GPT) ซึ่งเป็นโมเดลการประมวลผลภาษาธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันพัฒนามาจนถึงเวอร์ชัน 3.5 โดยมีชุดความรู้จากฐานข้อมูลที่สูงถึง 175 พันล้านชุด และมี interface แบบ Chatbot ที่รู้จักการคิดวิเคราะห์แยกแยะ ลำดับเรื่องราว ลำดับประเด็นอย่างมีเหตุผล ก่อนจะเรียบเรียงเป็นคำตอบคล้ายคลึงกับหลักวิชาการถูกต้องตามหลักไวยากรณ์ออกมาให้ผู้ใช้งานได้เพียงในไม่กี่วินาที ซึ่ง ณ ตอนนี้มีให้ใช้ทั้งแบบฟรีและแบบเสียเงินรายเดือนอยู่ที่ 670 บาท สำหรับการเข้าถึงที่รวดเร็ว

ทั้งหมดนี้ทำให้ “ChatGPT” ทำงานได้หลากหลายกว่าการหาคำตอบ ไม่ว่าจะช่วยเขียนบทความ แต่งนิทาน วางแผนเตรียมข้อมูลนำเสนอ ทำรายงาน ทำโจทย์ข้อสอบ ช่วยในการวิจัย หาข้อมูล ช่วยทำให้งานที่เกี่ยวกับการทำ SEO ง่ายขึ้น รวมถึงยังเป็นตัวช่วย SMEs ในการทำคอนเทนต์มาร์เก็ตติ้ง หรือแม้กระทั่งการเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งแตกต่างจาก Search Engine อย่าง Google หรือเว็บไซต์ข่าวสารให้บริการข้อมูลปกติ ที่เมื่อกดค้นหาจะแค่ลิงค์ไปยังบทความหรือเนื้อหาที่เกี่ยวข้องเราจะต้องนำข้อมูลในแต่ละแหล่งมาวิเคราะห์ สังเคราะห์ เรียบเรียงเองอีกต่อหนึ่ง  จุดนี้จึงทำให้ “ChatGPT” มีผู้ใช้งานครบล้านคนแรกใช้เพียงระยะเวลาแค่ 5 วันเท่านั้น และปัจจุบันมียอดผู้สมัครใช้งานมากกว่า 100 ล้านคนภายในระยะเวลาแค่ 2 เดือน แซงหน้าโซเชียลมีเดียทังหมดที่เคยมี

ด้วยความอัจฉริยะสุดล้ำนี้เองของ “ChatGPT” ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าสามารถทำข้อสอบทางการแพทย์อย่าง U.S. Medical Licensing Examination   หรือกระทั่งหลักสูตร MBA ของมหาวิทยาลัยในสหรัฐ ผ่านได้อย่างสบายๆ ด้วยผลการเรียนได้ระดับเกรด B+ เมื่อปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ทำให้มีความถูกต้องในข้อมูลกว่า 90% จากองค์ความรู้ที่มีตั้งแต่ในอดีต ยกเว้นข้อมูลใหม่ล่าสุดอย่างเรื่องในวันนี้เวลานี้ อาจจะยังไม่แม่นเนื่องจากยังไม่ได้ถูกเติมอัพเดทเข้าไปในระบบ

ทั้งนี้อย่างไรก็ตามแชตบอทดังกล่าวยังถูกโปรแกรมให้มีจริยธรรมและศีลธรรม เช่น ถามวิธีแฮกข้อมูลเว็บไซต์ หรือทำกิจกรรมอะไรที่ไม่ดี ก็จะไม่มีคำตอบออกมา ซึ่งในตัวระบบเองจะมีรูปแบบการเตือนหากถามในหัวข้อที่ผิดแนวทางศีลธรรม โดยเฉพาะในเรื่องที่ข้องเกี่ยวกับ Hate, Harassment, Violence, Self-harm, Sexual, Political, Spam, Deception, Malware  ก็จะมีกลไลการควบคุมกำกับ ทำให้เวลาใช้ งานเราจะรู้สึกว่าเหมือนกำลังคุยกับ ‘จาร์วิส’ ปัญญาประดิษฐ์ในภาพยนตร์ยอดฮิตเรื่อง ‘ไอรอนแมน’ ที่คอยเป็นผู้ช่วยและเป็นเลขาที่มีความฉลาดเหลือล้นในการให้คำตอบ

ใช้งาน ‘ChatGPT’ อย่างไรดี

ดร.ชัยพร กล่าวว่า การใช้งาน ChatGPT ไม่ได้ยุ่งยาก เหมือนเรากำลังพูดคุยและสอบถามกับใครสักคนที่มีความรู้ แต่อยู่ในรูปแบบของการพิมพ์ข้อความผ่านจอแสดงผล ทำให้เหมือนว่าเรากำลังสนทนากับ ChatGPT รวมทั้งรองรับการถามตอบเป็นภาษาไทยแต่อาจจะช้ากว่าการถามตอบเป็นภาษาอังกฤษ อย่างไรก็ตามขณะนี้ก็กำลังมีผู้พัฒนาอินเตอร์เฟสให้สามารถถามตอบเป็นเสียงพูดได้เลย ดังนั้นหากจะใช้ ChatGPT ให้ได้ดีและมีประโยชน์ต้องมีเทคนิคอะไรบ้าง

1.ภาษาอังกฤษเบื้องต้น

ถ้าผู้ใช้งานที่สามารถใช้ภาษาอังกฤษพอสื่อสารได้เบื้องต้น จำพวกศัพท์ที่เป็นส่วนประกอบหลักของคำถาม what (อะไร) who (ใคร)  when (เมื่อไหร่)  ถึงแม้จะพิมพ์ผิดบ้าง ตัว ChatGPT ก็สามารถเข้าใจความหมายและวัตถุประสงค์ของคำถามได้ค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามเราสามารถถามเป็นภาษาไทยเลยก็ได้ แต่อาจเสียเวลาหน่อยเพราะ ChatGPT ต้องแปลภาษาเพิ่มขึ้น

2. หัวข้อชัดเจน

จะถามหาข้อมูลอะไรจาก ChatGPT ควรจะกำหนดหัวข้อให้ชัดเจน ไม่ต้องเยิ่นเย้อ อาทิ วิธีการต่ออายุใบขับขี่ต้องใช้เอกสารอะไรบ้างและได้ที่ไหนในกรุงเทพฯ

3.ถามเพิ่มเติมได้

เมื่อใดก็ตามที่ผู้ใช้งานอยากสืบค้นต่อให้กระจ่างลึกลงไปหรือได้คำตอบในรูปแบบอื่น ๆ ก็สามารถตั้งคำถาม ChatGPT ต่อได้เลย เช่น Make it in lists (โปรดแสดงผลคำตอบให้เป็นข้อๆ หรือเป็นรายการ) หรือ in table (คำตอบในรูปแบบตาราง) หรือ Explain to me like I am 10 years old (โปรดอธิบายคำตอบให้ใช้ภาษาง่ายเหมือนเด็กอายุ 10 ขวบ) หรือ in Thai (เป็นภาษาไทย) เป็นต้น      

 4. ช่วยตรวจสอบและเรียบเรียงภาษาอังกฤษให้ถูกไวยากรณ์

เนื่องจากเราเป็นคนไทย ภาษาอังกฤษจึงเป็นเหมือนของแสลงสำหรับเรา ดังนั้นลูกเล่นหนึ่งที่สามารถให้ ChatGPT ช่วยเราได้อย่างมากคือช่วยตรวจสอบและเรียบเรียงไวยากรณ์ภาษาอังกฤษได้ เช่น ให้เราถาม ChatGPT ไปเลยว่า Please revise  the sentence “I has a toy that I love so much and I will so sad if I lost it”  to the corrected sentence ซึ่ง ChatGPT จะช่วยวิเคราะห์ให้ด้วยว่าผิดตรงไหน แล้วแก้ไขให้เป็น “I have a toy that I love so much, and I will be so sad if I lose it.”

5. ใช้ให้เหมือน โทนี สตาร์ค

ถ้าจะใช้ ChatGPT ให้ได้ดี ตัวผู้ใช้ควรมีพื้นฐานความรู้หรือหลักการในเรื่องนั้น ๆ ในระดับหนึ่ง แล้วให้ ChatGPT ช่วยตรวจสอบหรือให้รายละเอียดเพิ่มเติมหรือวิเคราะห์เพิ่มให้ เหมือนกับที่พระเอกโทนี สตาร์ค ในหนังภาพยนตร์ไอรอนแมนใช้งานจาวิส นั่นเอง

‘New Normal’ การทำงานและเรียนที่ต้องปรับตัว

ดร.ชัยพร มองเห็นต่างความกังวลที่หลายฝ่ายออกมาพูดถึงการอุบัติขึ้นของ ‘ChatGPT’ ไม่ว่าจะเรื่องของ AI แย่งงานมนุษย์ในอนาคตบางประเภทหรือจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการเรียนรู้ของนักเรียนและนักศึกษา กรณีต้องทำการบ้าน รายงานหรือวิทยานิพนธ์ ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากรู้จักใช้ให้ ChatGPT เสมือนเป็นผู้ช่วยที่คอยเติมเต็มให้เรา

ตัวอย่างเช่น ในอดีตเราไม่เคยมี Search Engine ที่เข้าถึงได้เพียงปลายนิ้วอย่าง Google แต่ทุกวันนี้เราก็ใช้ประโยชน์จาก Search Engine แทบจะทุกวัน ทั้งนี้เพราะว่ามนุษย์เรารู้จักปรับตัวและเรียนรู้ที่จะใช้อย่างฉลาด สุดท้ายเราก็พบว่ามี ‘ผลดี’ มากกว่า ‘ผลเสีย’ เพราะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา เกิดการช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำงานได้เพิ่มยิ่งขึ้น

“ดังนั้น จึงยังเร็วไปในการด่วนตัดสินใจว่าจะมีข้อดีหรือข้อเสียมากกว่ากัน ขึ้นอยู่ที่เราจะใช้งานอย่างไร เช่น ครูซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการกำหนดพฤติกรรมการเรียนของนักเรียนนักศึกษา ถ้าครูมอบหมายงานให้นักเรียนนักศึกษาไปทำ แล้วเด็กไปเอาคำตอบจาก ChatGPT มาส่งเป็นเล่มรายงานก็พอ ถ้าแค่นี้ก็จบ แสดงว่าครูไม่ได้ช่วยส่งเสริมศักยภาพการเรียนของเด็ก ๆ เลย แต่ให้ถ้านักเรียนนำข้อมูลมานำเสนอ ถกเถียง ช่วยกันวิเคราะห์ อันนี้จะก่อให้เกิดกระบวนการวิเคราะห์ ซึ่งทำให้เกิดการเรียนรู้ของเด็ก ๆ อย่างมาก ถ้าทำเช่นนี้ได้ถือว่าได้ใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ช่วยเตรียมข้อมูล”

“ChatGPT หรือ AI ในตอนนี้ก็คือ New Normal แน่นอนที่จะมากระทบกับวิถีชีวิตของเรา ดังนั้นถามว่าน่ากลัวไหม น่ากลัวแต่ไม่น่ากลัวเท่ากับคนที่ไม่คิดที่จะปรับตัวหรือเรียนรู้เพิ่ม” ดร.ชัยพร กล่าวทิ้งท้าย.