ในช่วงฤดูร้อนของจีนเมื่อปีที่แล้ว ทีมนักโบราณคดีที่แหล่งขุดค้นโบราณวัตถุเย่วหยาง ในเมืองซีอาน มณฑลฉ่านซี ได้ขุดเจอชิ้นส่วนเครื่องใช้ที่แตกหักหลายชิ้นท่ามกลางซากปรักหักพังของพระราชวังเก่า และใช้เวลานานหลายเดือนกว่าจะนำมาประกอบกันเป็นรูปเป็นร่างได้สำเร็จ 

วันที่ 15 ก.พ. ที่ผ่านมา ทีมนักโบราณคดีได้เปิดเผยหน้าตาของเครื่องใช้ที่ประกอบขึ้นมาใหม่จากชิ้นส่วนที่ขุดพบว่า มันคือส้วมชักโครกระบบแมนวล ซึ่งคาดว่ามีอายุเก่าแก่ย้อนไปถึง 2,400 ปีก่อน

ทีมงานเชื่อว่า ส้วมชักโครกชุดนี้น่าจะเป็นของใช้ส่วนตัวของชนชั้นผู้ปกครอง มีการสันนิษฐานรายนามของผู้ที่อาจเป็นเจ้าของไว้หลายราย ตั้งแต่ ฉินเซี่ยวกง เจ้าผู้ครองนครรัฐฉินในช่วง 381-338 ปีก่อน ค.ศ. หรือ ฉินเซี่ยนกง ผู้เป็นบิดาของเขา และ หลิวปัง ซึ่งต่อมาทรงเป็นปฐมกษัตริย์ของราชวงศ์ฮั่น ในพระนามว่า จักรพรรดิฮั่นเกาจู่ (ฮั่นโกโจ) เนื่องจากพระราชวังโบราณที่ทีมงานขุดค้นอยู่นั้น ได้รับการประเมินว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ใช้ว่าราชการของเหล่ากษัตริย์และจักรพรรดิ

หลิวรุ่ย นักวิจัยของสถาบันโบราณคดีแห่งสถาบันสังคมศาสตร์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมขุดค้นอธิบายว่า ของใช้ที่หรูหรา เช่น ระบบส้วมชักโครกนี้ เป็นเครื่องใช้ที่มีไว้สำหรับชนชั้นสูงของยุคนั้นเท่านั้น นอกจากนี้ เขายังระบุด้วยว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ขุดพบส้วมระบบชักโครกเช่นนี้ในประเทศจีน ซึ่งทำให้ทีมงานประหลาดใจมาก

ส้วมชักโครกโบราณแบบนี้จะติดตั้งไว้ในอาคาร โดยมีการต่อท่อออกมาด้านนอกสู่หลุมรองรับสิ่งปฏิกูล ที่เรียกว่าเป็นระบบ ‘แมนวล’ นั้นก็เนื่องจากบ่าวรับใช้จะเป็นผู้ราดน้ำลงโถ หลังจากที่มีการใช้งานเสร็จทุกครั้ง 

หลิว กล่าวว่า ขณะนี้ยังขุดไม่พบชิ้นส่วนด้านบนของโถชักโครก จึงยังไม่สามารถระบุได้ว่า ในการใช้งานส้วมชักโครกนี้ ผู้ใช้จะนั่งลงบนโถเหมือนการนั่งบนเก้าอี้หรือจะต้องนั่งยอง ๆ 

อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาจากบันทึกเก่าแก่เกี่ยวกับสุขาโบราณ เช่น ภาพสลักหินตามสุสานของสมาชิกราชวงศ์ในยุคราชวงศ์ฮั่นตะวันตก ซึ่งอยู่ระหว่าง 206 ก่อน ค.ศ. ถึง ค.ศ. 24 เป็นไปได้ว่าผู้ใช้งานจะต้องนั่งยอง ๆ 

หลิว อธิบายว่า การค้นพบชิ้นส่วนสุขาโบราณเป็นการช่วยยืนยันได้ว่า ชาวจีนโบราณให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัยอย่างยิ่ง 

ก่อนหน้าที่จะมีการขุดเจอชิ้นส่วนของระบบส้วมชักโครกชิ้นนี้ มีการบันทึกอย่างเป็นทางการว่า ผู้ที่คิดค้นระบบส้วมชักโครกคือ จอห์น แฮริงตัน ข้าราชสำนักของอังกฤษในศตวรรษที่ 16 โดยเขาประดิษฐ์สุขาชนิดนี้เพื่อให้สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธที่ 1 ได้ทรงใช้

นอกเหนือจากชิ้นส่วนของสุขาโบราณแล้ว ทีมนักโบราณคดีแห่งเย่วหยางยังขุดตัวอย่างดินในบริเวณใกล้เคียงมาวิเคราะห์ด้วย โดยหวังว่าจะพบร่องรอยจากซากของเสียที่ช่วยให้ข้อมูลเรื่องอาหารการกินของคนยุคโบราณ แต่ ณ เวลานี้ยังพบเพียงร่องรอยของการใช้ปุ๋ยคอกในการเพาะปลูกของยุคราชวงศ์ฮั่นเท่านั้น

แหล่งข่าวและเครดิตภาพ : global.chinadaily.com.cn