เพราะห้วงเวลาแสนสั้นของความมหัศจรรย์ธรรมชาติที่จะมีสีเหลืองสีแดงมาแต่งแต้มสีสันให้กับผืนป่าเขียวชอุ่ม จะเกิดขึ้นก่อนที่ฤดูแล้งจะมาเยือนอย่างเป็นทางการ และจุดชมวิวป่าเปลี่ยนสีที่ดีที่สุดของคลองลานก็คือ “จุดชมวิวกิ่วงวงช้าง”

ราวปลายเดือนมกราคม จนถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ของทุกปี คือช่วงเวลาทองที่ว่า ใบไม้ในอุทยานแห่งชาติคลองลาน จะเริ่มเปลี่ยนสีให้เห็นความสวยงาม ผู้ที่ตั้งใจจะมาชมจะต้องเดินไปตามเส้นทางเดินป่าศึกษาธรรมชาติระยะทางประมาณ 735 เมตร ที่อยู่ด้านหน้าอุทยานแห่งชาติคลองลาน เส้นทางที่เดินได้แบบสบาย ๆ เพราะมีทั้งช่วงที่เป็นบันได และเส้นทางดินที่มีความลาดชันไม่มากนัก ใช้เวลาประมาณ 30-45 นาที ก็จะถึงจุดชมวิวที่อยู่ด้านบน ณ จุดนั้นจะสามารถมองเห็นผืนป่าที่โอบล้อมท่ามกลางทิวเขาสลับซับซ้อน โดยมีนํ้าตกคลองลานเป็นส่วนหนึ่งของวิวที่ตั้งตระหง่านให้ชมอยู่เบื้องหน้า และช่วงเวลานี้ก็ทำให้นํ้าตกคลองลานแห่งนี้ มีสีสันที่ต่างไปจากเดิม

“นํ้าตกคลองลาน” ได้รับการยอมรับเรื่องความสวยงาม ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ 200 เมตร เป็นนํ้าตกขนาดใหญ่ไหลตกลงมาตามหน้าผากว่า 100 เมตร กว้าง 40 เมตร นั้น ด้านบนเป็นที่ราบกว้างมีลักษณะเป็นแอ่งนํ้าขนาดใหญ่ที่รวมของสายนํ้าจากลำห้วยมากมาย การเดินขึ้นมามองนํ้าตกจากระยะไกลบนกิ่วงวงช้างจึงเป็นอีกบรรยากาศหนึ่งที่ทำให้เห็นนํ้าตกทั้งสายแบบเต็มตา ขณะที่บางคนอาจจะเลือกที่จะมีความสุขกับการลงเล่นในแอ่งนํ้าใสไหลเย็นเบื้องล่างอุทยานแห่งชาติคลองลานมีเนื้อที่ 187,500 ไร่ สภาพป่าส่วนใหญ่เป็นป่าดงดิบผสมป่าเบญจพรรณ บนเทือกเขาสลับซับซ้อน ภูเขาแต่ละลูกเชื่อมโยงติดต่อกับขุนคลองลานซึ่งเป็นจุดสูงสุดสูงจากนํ้าทะเลประมาณ 1,439 เมตร มีสัตว์ป่านานาชนิดไม่น้อยกว่า 265 ชนิด 81 วงศ์ และเป็นป่าต้นนํ้าของลำนํ้าหลายสาย เช่น คลองขลุง คลองสวนหมาก และคลองลาน ซึ่งหลากไหลรวมกันสู่แม่นํ้าปิง นอกจากนํ้าตกคลองลานยังมีนํ้าตกปางควายอยู่ห่างจากที่ทำการประมาณ 25 กิโลเมตร จากทางหลวงหมายเลข 1117 ตรงหลักกิโลเมตรที่ 35-36 จะมีป้ายบอกทางเข้าอีก 10 กิโลเมตร เป็นนํ้าตกขนาดกลางมี 9 ชั้น ไหลจากหน้าผาสูง 60 เมตร

บริเวณด้านล่างเป็นแอ่งนํ้าเช่นเดียวกับนํ้าตกคลองลานสามารถเล่นนํ้าได้ตลอดทั้งปี และยังมีกิจกรรมล่องแก่งที่แก่งเกาะร้อย ซึ่งเป็นลำธารจากคลองสวนหมากไหลผ่านซอกแก่งหินตามลำห้วย ดูคล้ายเกาะเล็ก ๆ กลางนํ้า มีจุดลงแพที่ตาดผาแดง จากนั้นล่องแก่งผ่านผาชมจันทร์ ตาดช่องแคบ แล้วล่องผ่านแก่งร้อยเกาะที่บริเวณนี้มีนํ้าแรงและแก่งมากมายท้าทายความสนุกสนาน ความยากในการล่องอยู่ที่ระดับ 2-3 ใช้เวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ช่วงเวลาที่ดีที่สุดคือเดือนสิงหาคม จนถึงเดือนมกราคม

นอกจากธรรมชาติแล้ว กำแพงเพชร ยังมีอุทยานประวัติศาสตร์ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ในปี พ.ศ. 2534 ร่วมกับอุทยานประวัติศาสตร์สุโขทัย-ศรีสัชนาลัยด้วย เพราะหลักฐานที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงผลงานอันลํ้าเลิศทางสถาปัตยกรรมไทยยุคแรก ความงดงามอลังการของศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมแห่งอาณาจักรสุโขทัย ตามปกติทั่วไปการเข้าชม “อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร” ในช่วงเวลากลางวันอาจเป็นสิ่งที่คุ้นเคย แต่สำหรับในช่วงนี้เรื่อยไปจนถึง 31 มีนาคม 2566 บริเวณเขตวัดพระแก้วมีการประดับตกแต่งโบราณสถานยามคํ่าคืนด้วยแสงไฟ โดยเริ่มตั้งแต่เวลา 18.30-20.00 น.

ทันทีที่เดินเข้าสู่วัดพระธาตุ จะพบกับเจดีย์ศิลาแลงวัดพระธาตุ และวัดพระแก้ว มีเจดีย์สิงห์รอบ 32 ตัว พระพุทธรูปนั่งซึ่งได้รับอิทธิพลจากศิลปะล้านนา เป็นหลักฐานบ่งบอกกำแพงเพชรเป็นศูนย์กลางของศิลปะอยุธยา สุโขทัย และล้านนา วิหารพระสามองค์มีศิลปะแบบอยุธยา พระพุทธรูปแบบอู่ทอง ซึ่งเป็นไฮไลต์ของวัดพระแก้ว โดยสามารถบูรณปฏิสังขรณ์ได้ครบทั้ง 3 องค์ เจดีย์ด้านในเรียกว่าเจดีย์ช้างเผือก คาดว่าน่าจะสร้างในสมัยสุโขทัย

ประตูทางเข้าจะเปิดให้เข้าประตูเดียวคือทางเข้าบริเวณหน้าวัดพระธาตุ (สนามหน้าเมือง) หากมาถึงในเวลา 18.30 น. จะมีวิทยากรบรรยายฟรีทั้งภาษาไทย และภาษาอังกฤษ วันละ 1 รอบ โดยจะพาเดินชม 1 รอบใหญ่ ไปกลับ ระยะทาง 1.5 กิโลเมตร ถือเป็นการท่องเที่ยวยามคํ่าคืนสุดไพรเวท หรือถ้าใครที่เป็นสายถ่ายรูป ก็สามารถเข้าชมพร้อมกับถ่ายรูปไปเรื่อย ๆ จนกว่าไฟจะปิดในเวลา 20.00 น. ได้แบบที่ไม่ต้องรอวิทยากร แต่สำหรับคนที่มากันเป็นหมู่คณะ แนะนำให้ติดต่อล่วงหน้าเพื่อมีวิทยากรบรรยายเฉพาะกลุ่ม

หากใครไม่สะดวกเข้าชมในตอนกลางคืน สามารถเข้าชมตอนกลางวันได้ทั้ง 2 เขตอุทยานคือ เขตอรัญญิก (วัดป่า) และเขตวัดพระแก้ว หากต้องการวิทยากรของอุทยานฯ สามารถแจ้งล่วงหน้าได้สำหรับเขตวัดพระแก้ว ส่วนเขตอรัญญิก ช่วงกลางวันจะมีวิทยากรบรรยายประจำจุด 3-4 คน โดยราคาตั๋วเข้าชมเขตอรัญญิก กับเขตวัดพระแก้วจะแยกโซนกัน ถ้าเข้าทั้งสองเขตซื้อแบบเหมารวมจะประหยัดกว่าทั้งคนไทยและคนต่างชาติ ส่วนยานพาหนะเข้าได้เฉพาะเขตอรัญญิก โดยเสียค่าธรรมเนียมคันละ 50 บาท

อีกสิ่งของกำแพงเพชรที่หนึ่งปีมีครั้งเดียวก็คือ งานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง” คำว่า “นบ” เป็นคำโบราณที่หมายถึง “ไหว้” โดยนบพระเป็นคำเรียกสั้น ๆ ของประเพณีที่จะมีขึ้นในช่วงวันเพ็ญเดือนสาม หรือวันมาฆบูชา ในสมัยพระยาลิไทนั้น เจ้าฟ้า เจ้าแผ่นดิน จะนำผู้ครองนครเจ้าเมืองน้อยใหญ่ พร้อมทั้งเหล่าไพร่ฟ้าข้าราชบริพารและประชาชน จัดตกแต่งเป็นขบวนพยุหยาตรา พากันไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ณ วัดพระบรมธาตุนครชุมเป็นประจำ ดังจารึกในศิลาจารึกศรีนครชุม หลักที่ 3 ที่ว่า ในสมัยพระยาลิไทได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุจากประเทศศรีลังกามาบรรจุไว้ในองค์เจดีย์ที่วัดพระบรมธาตุเจดียาราม ต.นครชุม ทุกปีจึงมีการจัดขบวนแห่พยุหยาตราจำลองไปนบพระและเวียนเทียนพระบรมธาตุเจดีย์ ตลอดจนมีการร้องรำทำเพลงกันเป็นที่เอิกเกริก

ส่วน “เล่นเพลง” เป็นการละเล่นเฉลิมฉลองหลังจากได้ทำบุญทำกุศลแล้ว เนื่องจากสมัยก่อนการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลำบากต้องเดินทางด้วยเท้า พาหนะมีแต่ ช้าง ม้า วัว ควาย และเกวียน กว่าจะนมัสการพระบรมธาตุเสร็จเรียบร้อยก็มืดคํ่า จึงจำเป็นต้องนอนค้างพักแรมกันในบริเวณวัด เมื่อมาอยู่ร่วมกันจำนวนมากจึงจัดให้มีการแสดงการละเล่นต่าง ๆ ประกวดประชันแข่งขันกันตามขนบธรรมเนียมประเพณีของแต่ละหมู่บ้านขึ้นนั่นเอง

ประเพณีนบพระ-เล่นเพลง ถูกลืมเลือนไปท่ามกลางความเจริญที่เข้ามาแทนที่ ก่อนจะรื้อฟื้นกลับมาอีกครั้งในปี พ.ศ. 2526 เพื่อเป็นการอนุรักษ์ขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงามไว้ให้อนุชนรุ่นหลังได้พบเห็น โดยมีทั้งพิธีบวงสรวงอดีตกษัตริยาธิราช ณ วัดพระแก้ว อุทยานประวัติศาสตร์กำแพงเพชร ชมขบวนแห่พยุหยาตราจำลองพระยาลิไท และเจ้าเมือง เสด็จนบพระบรมธาตุเจดีย์ และสักการะต้นพระศรีมหาโพธิ์ โดยขบวนแห่เริ่มต้นจากลานโพธิ์ ไปยังวัดพระบรมธาตุ พระอารามหลวง ตำบลนครชุม พิธีทำบุญตักบาตรเนื่องในวันมาฆบูชา ชมการรำพุทธบูชา เพื่อถวายพระบรมธาตุเจดีย์ 666 ปี และพิธีเวียนเทียน

นอกจากนี้ ยังมีการจัดแสดงนิทรรศการวัฒนธรรม “งานเสน่ห์วิถีถิ่นดินแดนมรดกโลกทางวัฒนธรรมกำแพงเพชร” กิจกรรมมัจฉากาชาด รวมถึงการจำหน่ายสินค้าอุปโภค บริโภค สินค้าของดีเมืองกำแพงเพชร สินค้า OTOP ของดี 11 อำเภอ สินค้ามาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สินค้าราชทัณฑ์ คาราวานสินค้าจากภาครัฐ-ภาคเอกชน การจำหน่ายอาหารพื้นบ้านกลุ่มแม่บ้านเกษตร ตลาดย้อนยุคนครชุม อาหารพื้นบ้านตลาดย้อนรอยฯ ถนนคนเดิน ตลาดประชารัฐ OTOP ชวนชิม

งานประเพณี “นบพระ-เล่นเพลง และงานกาชาดจังหวัดกำแพงเพชร” ประจำปี พ.ศ. 2566 จัดขึ้นระหว่าง 3-12 มีนาคม 2566 โดยมีการเชิญชวนให้ผู้เข้าร่วมงานสวมใส่ชุดผ้าไทยหรือผ้าไทยย้อนยุคด้วย ดูรายละเอียดเพิ่มเติมที่แฟนเพจ: TAT Sukhothai-Kamphaeng Phet

อธิชา ชื่นใจ