ผศ.ดร.ภญ.พิมพร ทองเมือง ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษา จ.สมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.สมุทรสงคราม เปิดเผยว่า ท่ามกลางสภาวการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 ซึ่งได้กลายเป็นโรคระบาดครั้งใหญ่ของโลก จนทำให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งประเทศไทยต้องชะงัก ประชาชนจำนวนไม่น้อยได้รับความลำบากหลายคนต้องหยุดงานขาดรายได้ไม่มีปัจจัยช่วยในการดำรงชีวิต ขณะที่คนส่วนใหญ่ก็ไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้ต้องเดือดร้อนหนักถึงขั้นขาดแคลนอาหาร กลายเป็นปัญหาเรื่องปากท้องที่ยากแก้ไขในยามวิกฤติ จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทางหน่วยงานภาครัฐจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงลงมาสู่การปฏิบัติเพื่อเป็นแนวทางในการแก้ไขปัญหา ส่งเสริมให้พี่น้องประชาชนได้ปลูกพืชผักสวนครัวไว้สำหรับรับประทานกันเองในครัวเรือน เพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ซึ่งจะช่วยแก้ไขบรรเทาผลกระทบได้ในระยะสั้น และเพื่อเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับสถานการณ์วิกฤติลักษณะดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นได้อีกในอนาคต

มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นสถาบันที่น้อมนำแนวทางการดำเนินชีวิต ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมีพันธกิจในการให้บริการวิชาการและเผยแพร่องค์ความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดช มหาราชบรมนาถบพิตร จึงร่วมฝ่าวิกฤติโควิด-19 ต่อยอดการพัฒนาตามแนวเศรษฐกิจพอเพียงจากรัชกาลที่ 9 สืบสานสู่รัชกาลที่ 10

ผศ.ดร.ภญ.พิมพรผอ.ศูนย์การศึกษา จ.สมุทรสงคราม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา กล่าวอีกว่าได้สานต่อนโยบาย รองศาสตราจารย์ ดร.ชุติกาญจน์ ศรีวิบูลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สู่ศูนย์การศึกษานอกพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการต่อยอดและการขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ว่าทางมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา สถาบันราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่นเป็นสถาบันอุดมศึกษาตั้งอยู่ในพื้นที่ จ.สมุทรสงคราม ได้มีการบูรณาการร่วมกันของหน่วยงานราชการ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานราชการประจำ จ.สมุทรสงคราม องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) สมุทรสงคราม ทั้งนี้ ผู้บริหารได้เล็งเห็นถึงความสำคัญเป็นอย่างมากในการบูรณาการร่วมกัน นำองค์ความรู้มาสืบสาน ต่อยอด แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นแนวพระราชดำริในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 เป็นแนวทางการพัฒนาที่ตั้งบนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท คำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันในตัวเอง ตลอดจนใช้ความรู้และคุณธรรม เป็นพื้นฐานในการดำเนินชีวิต สืบสานต่อยอดจนมาถึงรัชกาลปัจจุบันในสมัยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ด้วยการนำพืชสวนครัว จากศูนย์เรียนรู้ตามรอยเท้าพ่อของแผ่นดิน อบจ.สมุทรสงคราม การส่งเสริมการปลูกป่าชายเลน โดยความร่วมมือจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การปรับปรุงพัฒนาดินสำหรับปลูกพืชจากสถานีพัฒนาที่ดิน


นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือของสำนักงานเขตพื้นที่การประถมศึกษา จ.สมุทรสงคราม และหน่วยงานอื่นๆ ในการส่งเสริมปัจจัยของความสืบสานต่อยอด ความสำเร็จที่เกิดขึ้น “สวนสุนันทา” จึงส่งต่อโครงการอาหารกลางวัน ที่สด สะอาด ปลอดภัย ให้แก่บุคลากรของมหาวิทยาลัย เสมือนครัวเรือนหนึ่งที่สามารถฝ่าวิกฤติการณ์ในปัจจุบันได้ สามารถยังชีพเลี้ยงตนเองได้ ขยายผลไปจนถึงการจำหน่ายผลผลิตดังกล่าวไปยังชุมชน และพื้นที่เครือข่ายของมหาวิทยาลัย ให้สามารถพัฒนาต่อยอดเผยแพร่ไปยังคณาจารย์ บุคลากร นักศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา และประชาชนที่สนใจได้ในอนาคตอีกด้วย.