เชฟหนุ่มอย่างคุณแบงค์ เล่าว่า “ผมเกิดมาก็คุ้นเคยกับห้องครัว ตะหลิว กระทะ เห็นอาม่าทำอาหาร และได้ลิ้มรสอาหารจีนตั้งแต่เด็ก ๆ ในขณะเดียวกันผมก็ชอบงานด้านนิเทศ จึงขอคุณพ่อไปเรียนด้านบรอดคาสติ้ง ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งคุณพ่อไม่ให้ไปเรียน แต่ด้วยความที่เป็นคนมุ่งมั่น ผมยืนยันกับคุณพ่อว่า ถ้าเรียนแล้ว เทอมไหนก็ตามได้เกรดเฉลี่ยต่ำกว่า 3.5 ผมจะลาออกและกลับมาอยู่เชียงใหม่ทันที คุณพ่อเลยให้ไปเรียน สุดท้ายผมได้เกียรตินิยมอันดับ 1 ครับ และทำงานตรงสายนี้มาโดยตลอด ได้เป็นดีเจ เป็นผู้สื่อข่าวบันเทิง รายการสีสันบันเทิงที่ช่อง 3 และวันหยุดก็ไปทำงานเป็นอาจารย์พิเศษสอนด้านการพูดและการจัดรายการวิทยุที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ซึ่งในหนึ่งสัปดาห์ ผมจะทำงานทั้งสามอย่างสลับกันไป”

ส่วนเส้นทางการเป็นเชฟ คุณแบงค์บอกถึงเส้นทางสายนี้ว่า หลังจากนั้นผมตัดสินใจเลือกทำในสิ่งที่รัก คือการเป็นเชฟ ผมได้เป็นลูกศิษย์เชฟชุมพล ซึ่งเป็นมิชลินสตาร์ 2 ดาว และได้เข้าประกวดหลายเวทีจนมีความเชี่ยวชาญ พอถึงจุดหนึ่งที่เราต้องตัดสินใจเลือกงานใดงานหนึ่งที่เราชอบ ผมคิดว่า การทำงานด้านสื่อสารมวลชน คงไม่สามารถทำได้ตลอดจนถึงบั้นปลายชีวิต และเราได้ทำตามความฝันในวงการนี้ครบแล้ว เลยตัดสินใจกลับมาอยู่กับโลกของความเป็นจริงที่เจี่ย ท้ง เฮง ปัจจุบันได้ร่วมดูแลร้าน
อาหารเจี่ย ท้ง เฮง ร่วมกับพี่น้อง 4 คน โดยพี่คนโตเป็นผู้บริหารร้าน และน้อง ๆ 3 คนเป็นผู้ดูแลด้านอาหาร ให้ร้านเจี่ย ท้ง เฮง ทั้ง 3 สาขา ได้แก่ สาขาศรีดอนไชย สาขาฟ้าฮ่าม และสาขาใหม่ล่าสุดที่วันนิมมาน”

คุณแบงค์บอกถึงการทำงานด้านธุรกิจร้านอาหารด้วยแววตาที่เปี่ยมสุขว่า “เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย ความพิเศษคือ ต้องคงคุณภาพและเมนูที่ลูกค้าเก่าแก่ชอบ และเพิ่มเติมความทันสมัยให้เข้ากับลูกค้ารายใหม่ เพราะหลายคนทานก่อนที่เราจะเกิดด้วยซ้ำ ผมทำงานในครัวเจี่ย ท้ง เฮง สาขาศรีดอนไชย ได้เห็นโมเมนต์ที่น่าประทับใจ บางคนมาทาน 5 วันต่อสัปดาห์ หรือบางคนกลับมาทานที่ร้านต่อเนื่อง 10 กว่าปี มาทานทุกวัน พอบ่าย 3 โมง จะเข้ามาในร้านและสั่งเมนูเดิม นั่งโต๊ะตัวเดิม อีกท่านเป็นคุณยาย มาทุกวันเวลา 11 โมง และจะสั่งเมนูเดิมกลับบ้านไปทานด้วย หรือบางทีก็มีบางโมเมนต์ที่น่าเศร้า เช่น ลูกค้าประจำเป็นคุณป้าท่านหนึ่งโทรฯ สั่งอาหารทุกวัน แต่ท่านหายไป 2 วัน พอวันที่ 3 เราทราบว่าท่านเสียชีวิตเนื่องจากโดนฆาตกรรม เรารู้สึกได้ว่าลูกค้าประจำเปรียบเหมือนครอบครัวเรา ไม่ใช่แค่คุณที่สูญเสีย เราก็รู้สึกสูญเสีย เราไม่ได้บ้าปรัชญา อย่างเราเห็นคุณลุงมาทานข้าวร้านเราทุกวัน เราก็อยากเห็นคุณลุงท่านมีสุขภาพแข็งแรง และลูกค้าจะทานเมนูเดิม ๆ เราจึงต้องคัดสรรวัตถุดิบที่มีคุณค่าจริง ๆ และมาทานได้ทุกวันในราคาจับต้องได้”.

เรื่อง : แก้วใจ