เมื่อวันที่ 2 ก.พ. ที่ศาลอาญาคดีทุจริตเเละประพฤติมิชอบกลาง ถนนตลิ่งชัน พนักงานสอบสวน สน.ห้วยขวาง นำตัว ร.ต.อ.ยอดฤทธิ์ รอง สวป.สน.ห้วยขวาง ผู้ต้องหาที่ 1, ร.ต.อ.ปฏิภาณ รอง สว.ธร.สน.ห้วยขวาง ปฏิบัติหน้าที่ รอง สวป.สน.ห้วยขวาง ผู้ต้องหาที่ 2, ส.ต.อ.นันทวัชร์ ผบ.หมู่ ป. สน.ห้วยขวาง ผู้ต้องหาที่ 3, ด.ต.กฤษฎา ผบ.หมู่ ป. สน.ห้วยขวาง ผู้ต้องหาที่ 4, ส.ต.อ.เฉลิมชัย ผบ.หมู่ ป. สน.ห้วยขวาง ผู้ต้องหาที่ 5, ส.ต.อ.วัชรนนท์ ผบ.หมู่ ป. สน.ห้วยขวาง ผู้ต้องหาที่ 6

ไปยื่นคำร้องฝากขังครั้งเเรกต่อศาลในความผิดฐาน เป็นเจ้าพนักงานร่วมกัน เรียกรับ หรือยอมจะรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ เพื่อกระทำการ หรือไม่กระทำการอย่างใดในตำแหน่งไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่, เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหน้าที่หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต อันเป็นความผิดตามมาตรา 149, 157 แห่งประมวลกฎหมายอาญา

วันที่ 5 ม.ค. 66 เวลา 00.00 น. เจ้าพนักงานตำรวจทั้งหกนายที่ถูกกล่าวหาปฏิบัติหน้าที่ตั้งด่าน อยู่บริเวณถนนรัชดาภิเษก หน้าสถานทูตจีนประจำประเทศไทย แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร จนกระทั่งเวลาประมาณ 02.27 น. มีนายเป จึง ชื่อ หรือ สกาย สัญชาติสิงคโปร์ กับพวกรวม 4 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 1 คน โดยสารรถยนต์ยี่ห้อมาสด้าสีแดง คันหมายเลขทะเบียน 4กส 522 กรุงเทพมหานคร มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ ซึ่งผู้ต้องหากับพวกตั้งด่านอยู่ มีผู้ต้องหาที่ 5 เป็นผู้คัดรถยนต์เข้ามาให้ผู้ต้องหาที่ 6 ตรวจค้นบุคคลในรถ ผู้ต้องหาทั้งหกเชิญ นายเป จึง ชื่อ ลงจากรถเพื่อค้นตัวมีผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้ค้นตัวส่วนเพื่อนของ นายเป จึง ชื่อ อีก 2 คน ถูกกลุ่มผู้ต้องหาค้นตัว การตรวจค้นพบบุหรี่ไฟฟ้า จำนวน 3 อัน ผู้ต้องหาที่ 2-3 พูดคุยสอบถาม เพื่อขอดูหนังสือเดินทางและวีซ่าจาก นายเป จิง ชื่อ กับพวก ขณะนั้นนายเป จึง ชื่อ กับพวก ไม่ได้พกหนังสือเดินทางติดตัวมาด้วย มีเพียงภาพถ่ายหนังสือเดินทางในโทรศัพท์มือถือผู้ต้องหาที่ 2-3 พยายามพูดจาข่มขู่ นายเป จิง ชื่อ กับพวก ว่ากระทำความผิดโดยครอบครองบุหรี่ไฟฟ้ากับไม่พกหนังสือเดินทางพร้อมวีซ่า อ้างว่าจะพาไปสถานีตำรวจ ทั้งที่ไม่มีเจตนาที่จะพาไปจริง กลับข่มขู่ให้ นายเป จิง ชื่อ กับพวก เกิดความกลัว จนกระทั่งผู้ต้องหาที่ 2-3 ปรึกษาและตกลงกันเรียกเงินจากนายเป จึง ชื่อ กับพวก เป็นเงิน 27,000 บาท แบ่งเป็น ค่าที่พกบุหรี่ไฟฟ้าอันละ 8,000 บาท ทั้งหมด 3 อัน และค่าไม่พกหนังสือเดินทางอีก 3,000 บาท รวมเป็นเงิน 27,000 บาท นายเป จึง ชื่อ ยืนยันว่า ตนกับพวกไม่ได้ทำผิดกฎหมาย เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ที่ตนกับพวกซื้อจากร้านที่วางขายของย่านห้วยขวาง ไม่ผิดกฎหมาย แต่ด้วยความกลัวและเกรงว่าจะเสียเวลา นายเป จึง ชื่อ และ น.ส.ชาลีน หรือ อันชิง ชาวไต้หวัน จะเดินทางกลับต่างประเทศในคืนวันเกิดเหตุ

หิ้ว 6 ตร.ฉาวไถเงินดาราไต้หวันฝากขัง-ค้านประกัน สุดรันทดบางคนไม่มีทนาย

จึงจำยอมจ่ายเงินจำนวน 27,000 บาท ให้กับ ผู้ต้องหาที่ 3 เป็นผู้รับเงินใส่ในกระเป๋าเสื้อนอก นายเป จึง ชื่อ กับพวก ถามว่าตนกลับได้หรือไม่ ผู้ต้องหาที่ 3 บอกว่า ต้องสอบถามผู้ต้องหาที่ 2 ก่อนที่ผู้ต้องหาที่ 2-3 เดินมายังนายเป จึง ชื่อ กับพวก พร้อมยื่นบุหรี่ไฟฟ้าที่ยึดไว้ในตอนแรกให้นายเป จึง ชื่อ กับพวก ถือไว้คนละอัน ผู้ต้องหาที่ 2 เป็นผู้สั่งให้ผู้ต้องหาที่ 3 ใช้ไฟฉายส่อง ขณะผู้ต้องหาที่ 3 ถ่ายรูปเพื่อให้แสงสว่างในการถ่าย จากนั้นผู้ต้องหาที่ 2 อนุญาตให้นายเป จิง ชื่อ กับพวกกลับไปได้

ภายหลัง ผู้ต้องหาที่ 3 นำเงิน 27,000 บาท ที่ได้รับ มอบให้กับผู้ต้องหาที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าชุดที่นั่งในรถที่จอดไว้บริเวณที่เกิดเหตุรับเงินจำนวนดังกล่าว แล้วนำไปแบ่งในกลุ่มผู้ต้องหา เหตุเกิดบริเวณถนนรัชดาภิเษก หน้าสถานทูตจีนประจำประเทศไทย ในชั้นสอบสวน ผู้ต้องหาทั้งหมดให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา

พนักงานสอบสวน ขอฝากขังผู้ต้องหาทั้งหก มีกำหนด 12 วัน ตั้งแต่วันที่ 2-13 ก.พ.66 และขอคัดค้านการขอปล่อยชั่วคราว เนื่องจากคดีมีอัตราโทษสูง หากผู้ต้องหาได้รับการปล่อยชั่วคราว เกรงว่าจะหลบหนีและยากแก่การติดตามตัวมาดำเนินคดีภายหลัง ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางพิจารณาคำร้องขอฝากขังแล้ว อนุญาตให้ฝากขังผู้ต้องหาทั้งหกได้

ส่วนที่ผู้ต้องหาทั้งหกยื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราว ศาลพิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีแล้ว กรณีเป็นเรื่องร้ายแรงกระทบต่อภาพลักษณ์และกระบวนการยุติธรรมของประเทศโดยรวม อีกทั้งผู้ต้องหาเป็นเจ้าพนักงานตำรวจ อาจไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและกระบวนการในชั้นสอบสวนประกอบกับพนักงานสอบสวนคัดค้าน จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ให้ยกคำร้องจากนั้นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์คุมตัวผู้ต้องหาไปคุมขังยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับกรณีความผิดอาญาอัตราโทษสูงตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป จะมีโทษปรับหรือไม่ ศาลมีอำนาจสั่งขัง หลายครั้งติดกัน ครั้งละไม่เกิน 12 วัน แต่รวมแล้วต้องไม่เกิน 84 วัน ดังนั้นผู้ต้องหาจะถูกฝากขังสูงสุดได้ไม่เกิน 7 ครั้ง โดยชั้นนี้เป็นการฝากขังระหว่างตำรวจทำสำนวน ให้อัยการมีความเห็นว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ต่อไป.