เมื่อเวลา 10.45 น. วันที่ 1 ก.พ. ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร โดยมีนายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุม ก่อนเข้าสู่วารการะประชุม นายณัฐวุฒิ บัวประทุม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เสนอญัตติด่วนด้วยวาจาให้ที่ประชุมพิจารณากรณีสิทธิการประกันตัวและการใช้กฎหมายล้นเกินกับผู้แสดงออกและแสดงความคิดเห็นทางการเมือง แต่ ส.ส.ภูมิใจไทย คัดค้านไม่ให้เสนอญัตติดังกล่าวเข้ามาแทรกคิวร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่อยู่ในวาระการพิจารณา พร้อมเสนอญัตติคัดค้านญัตติของฝ่ายค้านเช่นกัน

แต่นายจุลพันธุ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย พยายามขอรอมชอมว่า ญัตติด่วนฝ่ายค้านเป็นเรื่องสำคัญ ขอเวลาอภิปรายแค่ 2 ชั่วโมง จะให้ประชุมร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชงต่อ ในที่สุดนายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ยินยอมให้อภิปรายญัตติด่วนด้วยวาจาของพรรคฝ่ายค้าน แต่ขอให้ฝ่ายค้านอยู่ช่วยเป็นองค์ประชุมในการพิจารณาร่างกฎหมายกัญชาด้วย ถือเป็นสัจจะลูกผู้ชาย ซึ่ง ส.ส.ฝ่ายค้านรับปากจะปฏิบัติตาม

จากนั้น นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวเสนอญัตติด่วนด้วยวาจาว่า ขอให้ปล่อยตัวผู้ถูกคุมขังทางการเมือง รวมทั้ง น.ส.ทานตะวัน (ตะวัน) ตัวตุลานนท์ และ น.ส.อรวรรณ (แบม) ภู่พงษ์ สองผู้ต้องขังทางการเมือง ที่กำลังอดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 และการปล่อยตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน แม้เด็ก 2 คน ได้สิทธิประกัน แต่ภายใต้เงื่อนไขที่จำกัดสิทธิเสรีภาพาเกินขอบเขต เช่น ติดกำไลอีเอ็ม ควบคุมพื้นที่ตลอด 24 ชั่วโมง เป็นเรื่องรับไม่ได้ นี่คือคนไม่ใช่สัตว์ เป็นการจำกัดสิทธิเกินเหตุ ขอให้ผู้มีอำนาจทั้งคณะผู้พิพากษา ศาลใช้ดุลพินิจพิจารณาให้ดี

การให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองต้องมีเงื่อนไขเหมาะสม มีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ ขอให้พรรคการเมืองประกาศนโยบายคุ้มครองสิทธิเสรีภาพประชาชน โดยเฉพาะคดีการเมือง การยกเลิกมาตรา 112 ทุกพรรคควรพิจารณาจะตอบสนองข้อเรียกร้องได้อย่างไร หลายมาตราเป็นเครื่องมือกำจัดผู้เห็นต่างทางการเมือง เช่น แค่มีขันแดงในมือก็เป็นภัยความมั่นคง บางคนอาศัยกฎหมายเหล่านี้เป็นเครื่องมือทำลายคู่แข่งทางการเมือง มาตรา 112 เป็นกฎหมายอาญา แต่ถือเป็นกฎหมายความมั่นคง ถ้าเอามาใช้ไม่ถูกทาง ปัจจุบันนำมาใช้ล้นเกิน ขาดหลักนิติธรรม จนเกิดผลกระทบต่อประชาชนและสถาบัน ปากบอกจงรักภักดี แต่การกระทำไม่ใช่ ขอให้สภาช่วยหามาตรการแก้ไขด้วย

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า พรรคเพื่อไทยเห็นว่าเรื่องนี้ละเอียดอ่อน มีความเห็นต่างสุดขั้ว ลักษณะเช่นนี้จะสร้างความแตกแยกในสังคม ดังนั้นสภาควรเป็นเวทีพูดคุย หาจุดร่วมในสังคม คาดการณ์จะยุบสภาวันที่ 15 มี.ค. แต่เกรงว่าจะไม่มีการเลือกตั้ง ถ้าปล่อยให้เหตุการณ์นี้บานปลาย หรืออาจมีใครต้องการให้เหตุการณ์นี้เกิดขึ้น และชักใยอยู่ โดยไม่ยอมทำอะไรเลย ถือว่าอำมหิตมาก เอาชีวิตเด็กมาแลกกับการสืบทอดอำนาจต่อไป เพื่อไม่ให้มีการเลือกตั้ง ถ้าข้อกล่าวหานี้เกิดขึ้นจริงต้องไปสืบเสาะให้ได้ว่า เป็นใคร สมควรอยู่ในประเทศนี้หรือไม่ เพียงต้องการสืบทอดอำนาจ ก็เอาชีวิตมนุษย์ไปแลกกับความต้องการของตัวเอง หวังว่าจะไม่เกิดขึ้น อยากให้นำข้อเสนอเหล่านี้ส่งให้ ครม. และรัฐบาลนำไปดำเนินการแก้ไขด้วย ฝากกรมราชทัณฑ์การที่เด็ก 2 คน ขอเรียกร้องไปรักษาในโรงพยาบาลที่มีความมั่นใจ แสดงว่า โรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่สามารถสร้างหลักประกันที่เป็นความมั่นใจในความปลอดภัยให้เด็กทั้ง 2 คน

ต่อจากนั้น นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ชี้แจงว่า เมื่อวันที่ 31 ม.ค. 66 ไปเยี่ยมตะวันและแบม น้ำหนักตัวลดไป 10 กิโลกรัม กระทรวงพยายามแก้ปัญหานี้ตั้งแต่วันที่ 30 ม.ค. โดยส่งทั้ง 2 คน เข้ารักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์รังสิต และล่าสุดวันที่ 1 ก.พ. ได้คุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นต้น มีข้อสรุปเบื้องต้น 4 ประเด็นคือ 1.กระทรวงดำเนินการปฏิรูปการปล่อยตัวชั่วคราวให้สอดคล้องรัฐธรรมนูญมากขึ้น โดยการจับกุมคุมขังจะกระทำเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนีเท่านั้น

2.ทบทวนระเบียบปฏิบัติต่อผู้ต้องขังคดีความเห็นต่างทางการเมืองที่ไม่ได้รับสิทธิประกันตัวชั่วคราว ให้สามารถกุมขังในสถานที่อื่นที่ไม่ใช่เรือนจำได้ รวมถึงคุมขังที่บ้าน ไม่ให้มีการปฏิบัติต่อบุคคลที่มีความเห็นต่างเสมือนเป็นผู้กระทำความผิดแล้ว 3.สนับสนุนหลักประกันปล่อยตัวชั่วคราว ผ่านกลไกลกองทุนยุติธรรม 4.กสม. จัดทำข้อเสนอแนะปรับปรุงแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องหลักสิทธิมนุษยชนไปยัง ครม. และรัฐสภา รู้สึกสงสารเด็กทั้ง 2 คนจริงๆ ได้เห็นถึงความตั้งใจและเอาจริงเอาจัง และในวันที่ 1 ก.พ. นี้ ได้ส่งตัว นายสิทธิโชค เศรษฐเศวต ที่ได้อดอาหารมาตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ไปอยู่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์รังสิต อยู่ร่วมกับแบมและตะวันแล้ว

ขณะที่ นายรังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ต้องยอมรับความจริงถึงการอยู่ในช่วงเวลามืดมน วิกฤติของกระบวนการยุติธรรม ทั้งที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้ต้องหาถือเป็นผู้บริสุทธิ์ ตราบใดที่ศาลยังไม่ตัดสิน แต่คนจำนวนมากกลับไม่ได้รับประกันตัว ทำราวกับผู้ต้องหาเหล่านี้ถูกตัดสินเป็นผู้กระทำผิด ต้องหาทางออกจากวิกฤตินี้ มีเด็กนับร้อยนับพันถูกพิจารณาด้วยกระบวนการไม่เป็นธรรม การปล่อยให้ตัดสินล่วงหน้าว่า ทำผิดไปแล้ว มีแต่ทำให้ความศรัทธาของประชาชนต่อวงการตุลาการเสื่อมถอย

ต้องยอมรับวิกฤติความยุติธรรมเกิดขึ้นแล้ว ที่ผ่านมามีการเข้าชื่อขอแก้ไขมาตรา 112 แต่มีคนถูกดำเนินคดีเพิ่มขึ้น วันนี้สภาสามารถทำในสิ่งที่ถูกต้องได้ โดยพรรคก้าวไกลเสนอแก้ไขมาตรา 112 แต่สภาฯไม่เคยบรรจุวาระให้  ถ้าไม่บรรจุปัญหาประชาชนมาแก้ปัญหาให้ จะมีสภาไปทำไม