เมื่อวันที่ 30 ม.ค. กลุ่มเพื่อนสาธารสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นพ.ภีศเดช สัมมานันท์ นาวาเอกพิเศษ พ.ญ.สุพัตรา สิทธิราชา นพ.ยุทธนา ป้องโสม กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย นายเสนัชย์ ทองประดิษฐ์ เนติบัณฑิตไทย ร่วมกันออกแถลงการณ์ กรณี น.ส.ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือตะวัน น.ส.อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือแบม และนายสิทธิโชค เศรษฐเศวต เรียกร้องสิทธิในการประกันตัว ผู้อดอาหารประท้วง เพื่อเรียกร้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และสิทธิการประกันตัว โดยอดอาหารมากว่า 13 วันแล้ว จนร่างกายเข้าสู่ขั้นวิกฤติ อาเจียนเป็นเลือด ระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หัวใจเต้นผิดปกติ อาจเกิดอันตรายต่อร่างกายอย่างร้ายแรง หรือ ถึงแก่ชีวิตได้

กลุ่มเพื่อนสาธารณสุขเพื่อประชาธิปไตย จึงมีข้อเท็จจริงและความคิดเห็นนำเสนอ ดังนี้ 1.คณะแพทย์ผู้ดูแล ควรให้การช่วยเหลือทันที แม้ผู้อดอาหารประท้วงจะแสดงความประสงค์ไม่รับอาหาร น้ำ ยา และยอมรับการเกิดอันตรายถึงแก่ชีวิต แต่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 374 ระบุว่า “ผู้ใดเห็นผู้อื่นตกอยู่ในภยันตรายแห่งชีวิตซึ่งตนอาจช่วยได้โดยไม่ควรกลัวอันตรายแก่ตนเองหรือผู้อื่นแต่ไม่ช่วยตามความจำเป็น ต้องระวางโทษ..” และคำประกาศสิทธิและข้อพึงปฏิบัติของผู้ป่วย ที่ออกโดย กระทรวงสาธารณสุข และแพทย์สภา เรื่องสิทธิผู้ป่วย ข้อ 3 ที่ให้แพทย์สามารถช่วยชีวิตผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะเสี่ยงต่อชีวิตได้ โดยไม่ต้องคำนึว่าผู้ป่วยจะร้องขอหรือไม่

นอกจากนี้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 67 ที่ให้แพทย์สามารถให้การช่วยเหลือได้ เนื่องจากการช่วยเหลือชีวิตของผู้อดอาหารนอกจาการให้การรักษาพยาบาล ไม่มีวิธีอื่นแล้ว

ทั้งนี้ แม้ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 จะให้บุคคลมีสิทธิแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุขเพื่อยืดการตายได้ แต่ให้สิทธิเฉพาะผู้ผู้ป่วยที่อยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยเท่านั้น แต่ผู้ประท้วงเป็นผู้มีสุขภาพดีอยู่เดิม หากรอดชีวิตก็จะมีชีวิตต่อไปยืนยาวและมีสุขภาพแข็งแรง ดังนั้น คณะแพทย์จึงไม่สามารถปฏิเสธการรักษาตามความต้องการของผู้อดอาหารได้ จึงขอให้คณะแพทย์และผู้เกี่ยวข้อง ชักจูงให้ผู้อดอาหารยอมรับอาหาร น้ำ และยา หากผู้ป่วยยังยืนยันจะอดอาหาร เมื่อผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาพที่ขัดขืนจนทำให้เกิดความรู้สึกกระอักกระอ่วนใจต่อคณะแพทย์และผู้พบเห็นจนเกินไปแล้ว ขอให้เข้าให้การช่วยเหลือโดยทันทีเพื่อรักษาชีวิต ซึ่งไม่ถือเป็นความผิดกฎหมาย และจรรยาบรรณแพทย์

2.รัฐบาลและทุกองค์กรในกระบวนการยุติธรรม ควรรับข้อเสนอปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมีผู้ถูกแจ้งความดำเนินคดี และถูกจับกุมคุมขังเป็นจำนวนมาก เพียงเพราะต้องการแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย โดยเปิดรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆ

3.การพิจารณาคดีอาญา ขอให้สันนิษฐานว่าผู้ต้องหาบริสุทธิ์ และยึดถือระบบกล่าวหา ผู้ต้องหาทุกคนควรได้รับการประกันตัวก่อนการตัดสินคดี โดยผู้มีส่วนได้เสียทางคดี ไม่ควรดำเนินการโดยศาลเอง และการสั่งถอนประกันกระทำเฉพาะกรณีผู้ต้องหาอาจจะหลบหนี หรือมีเหตุอันควรเชื่อตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 108 เท่านั้น

4.ขอให้ผู้ประท้วงรักษาชีวิต แม้สิ่งที่เรียกร้องยังไม่ประสบความสำเร็จในวันนี้ แต่ทำให้ทุกฝ่ายได้ตระหนักถึงปัญหาของกระบวนการยุติธรรม เห็นความสำคัญของสิทธิ เสรีภาพของประชาชน การต่อสู้อาจต้องใช้เวลา แต่เวลาที่ใช้จะสั้นลง หลังจากการแสดงความกล้าหาญและเสียสละของผู้อดอาหารประท้วง ทั้งชีวิตของผู้อดอาหารยังมีคุณค่าต่อการต่อสู้เพื่อเรียกร้องประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบในอนาคต.