สำนักข่าวต่างประเทศรายงานจากกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เมื่อวันที่ 24 ส.ค.ว่าสำนักงานอวกาศแห่งชาติจีน ( ซีเอ็นเอสเอ ) ออกแถลงการณ์ว่า ยานสำรวจจู้หรงสามารถเคลื่อนตัวเองไปบนพื้นผิวของดาวอังคารได้เป็นระยะทางไกลว่า 1,000 เมตร นับตั้งแต่ปลายเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา จนถึงเมื่อวันจันทร์ และปฏิบัติภารกิจสำรวจพื้นที่ครบตามแผนการ เมื่อวันที่ 15 ส.ค.ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ซีเอ็นเอสเอตัดสินใจขยายระยเวลาของภารกิจสำรวจโดยยานจู้หรง ให้เดินทางต่อไปเพื่อเข้าสู่บริเวณที่เรียกว่า "ยูโทเปีย พลานิเทีย" ซึ่งเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่ และมีน้ำแข็งมหาศาลอยู่ใต้พื้นผิว
ทั้งนี้ ยานจู้หรงซึ่งมีความหมายว่า "เทพอัคคี" ลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคาร เมื่อวันที่ 15 พ.ค.ที่ผ่านมา ทางตอนใต้ยูโทเปีย พลานิเทีย ซึ่งเป็นบริเวณเดียวกับยานสำรวจ "ไวกิ้ง 1" ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ( นาซา ) สร้างประวัติศาสตร์เป็นพาหนะจากโลกลำแรก ที่ลงจอดบนดาวอังคาร เมื่อวันที่ 20 ก.ค. 2519
อนึ่ง ยานจู้หรงเดินทางไปกับยานสำรวจ "เทียนเหวิน-1" ซึ่งมีความหมายว่า "ภาษาสวรรค์" จากศูนย์อวกาศที่เมืองเหวินฉาง บนเกาะไหหลำ นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของจีน เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่แล้ว และยานเทียนเหวิน-1 เคลื่อนตัวเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร เมื่อต้นเดือน ก.พ.ปีนี้
สำหรับความสำเร็จของยานจู้หรง สร้างประวัติศาสตร์ให้จีนเป็นประเทศที่ 2 ของโลก ต่อจากสหรัฐ ที่สามารถควบคุมยานสำรวจให้ขับเคลื่อนดาวอังคารได้สำเร็จ โดยยาน "เพอร์ซีเวียแรนซ์" ของนาซา ลงจอดบนดาวอังคาร เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา หลังใช้เวลาเดินทางนานเกือบ 7 เดือน โดยยานลำนี้เป็นยานสำรวจดาวอังคารลำใหญ่ที่สุดเท่าที่นาซาเคยสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "มาร์ส 2020" เพื่อภารกิจสำรวจดาวอังคารเชิงซับซ้อน และเป็นยานหุ่นยนต์สำรวจดาวอังคารลำที่ 3 ในรอบ 1 ทศวรรษของสหรัฐ ต่อจากยาน "คิวริออสซิตี" เมื่อปี 2554 และยาน "อินไซต์" เมื่อปี 2561.
เครดิตภาพ : AP