เมื่อเวลา 16.16 น. วันที่ 26 ม.ค. 2566 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ ณ พระที่นั่งจักรีมหาปราสาท พระบรมมหาราชวัง พระราชทานพระราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ นายแพทย์อภิชาติ อัศวมงคลกุล รองประธานมูลนิธิรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำ ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 อันประกอบด้วย เหรียญรางวัล, ประกาศนียบัตร และเงินรางวัล 100,000 เหรียญ​สหรัฐ

ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล “สาขาการแพทย์” ได้แก่ ศาสตราจารย์นายแพทย์ ราล์ฟ เอ. ดีฟรอนโซ (Ralph A. DeFronzo, M.D.) จากสหรัฐอเมริกา ซึ่งศึกษาพยาธิสรีรวิทยาโรคเบาหวานชนิดที่ 2 จนสามารถรักษาและควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนอันเป็นอันตรายถึงชีวิต

และ  “สาขาการสาธารณสุข” ได้แก่ นายแพทย์ดักลาส อาร์.โลวี, ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ จากสหรัฐอเมริกา และศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช.เฟรเซอร์ จากออสเตรเลีย/สหราชอาณาจักร ได้รับพระราชทานรางวัลร่วมกัน จากผลงานที่ต่อยอดผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ที่ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุขประจำปี 2558 จากการค้นพบเชื้อไวรัสฮิวแมนแปปปิลโลมา หรือ “เอชพีวี” ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก จนสามารถคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้ได้สำเร็จและมีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในปัจจุบัน

เนื่องจาก ศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ ไม่สามารถมาเฝ้าทูลละอองพระบาทรับพระราชทานรางวัลได้ จึงขอพระราชทานพระราชานุญาตเบิกผู้แทน คือ นางสาวแอนเจลา เจน แม็กดอนัลด์ เอกอัครราชทูตเครือรัฐออสเตรเลียประจำประเทศไทย เฝ้าทูลละอองพระบาท รับพระราชทานรางวัลแทน

ในโอกาสนี้ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชดำรัส ความว่า “…ในการดูแลสุขภาพอนามัยของมวลมนุษยชาตินั้น การป้องกันไม่ให้เกิดโรคและภาวะแทรกซ้อนในบางโรค มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการรักษาโรคโดยตรง ดังเช่นผลงานของ ศาสตราจารย์ นายแพทย์ราล์ฟ เอ.ดีฟรอนโซ ที่ได้ศึกษาพยาธิสรีรวิทยาโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 จนสามารถรักษาและควบคุมโรคไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ กับผลงานของ นายแพทย์ดักลาส อาร์.โลวี, ดร.จอห์น ที. ชิลเลอร์ และศาสตราจารย์ นายแพทย์เอียน เอช. เฟรเซอร์ อันเป็นงานที่ต่อยอดจากผลงานของ  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์ฮารัลด์ ซัวร์ เฮาเซ่น ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล สาขาการสาธารณสุข ประจำปี 2548 จากการค้นพบเชื้อไวรัสฮิวแมนแปบปิลโลมา หรือ “เอชพีวี” ซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถคิดค้นวัคซีนต้านไวรัสชนิดนี้ได้สำเร็จ และได้นำไปใช้อย่างกว้างขวางทั่วโลกในปัจจุบัน จึงขอแสดงความนิยมชื่นชมด้วยอย่างยิ่ง ที่ทั้งสี่ท่าน ได้รับรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี 2565 ทั้งเต็มใจยินดีที่จะกล่าวว่า ผลงานอันเกิดจากความวิริยอุตสาหะและเสียสละอดทนของทุกท่านทั้งนี้ เป็นการเสริมสร้างความเจริญก้าวหน้าอันยิ่งใหญ่ให้แก่การแพทย์และการสาธารณสุขของโลก ก่อให้เกิดประโยชน์อันไพศาลแก่มวลมนุษยชาติอย่างแท้จริง

ต่อมาเวลา 18.00 ฯ. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ แทนพระองค์ไปในงานพระราชทานเลี้ยงอาหารค่ำเป็นเกียรติแก่ผู้ได้รับพระราชทานรางวัลสมเด็จเจ้าฟ้ามหิดล ประจำปี พ.ศ. 2565 พร้อมคู่สมรส ณ พระที่นั่งบรมราชสถิตยมโหฬาร ในพระบรมมหาราชวัง.