เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่แปลงนาหมู่ 5 ต.บางดี อ.ห้วยยอด จ.ตรัง มีการลงแขกเกี่ยวข้าวพันธุ์พื้นเมือง ซึ่งเกษตรกรจากหลายตำบล ต่างนำอาหารหวานคาวไปร่วมรับประทาน โดย นายเปลื้อง ช่วยรุย อายุ 52 ปี เกษตรกรหมู่ 6 ต.หนองช้างแล่น อ.ห้วยยอด ได้นำนวัตกรรมใหม่ “ข้าวหลามอบโอ่ง” มาโชว์และแจกในงาน แม้จะตั้งโอ่งไว้ช่วงท้ายงาน แต่ความหอมของข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง ผสมกับน้ำกะทิ ถั่วและไม้ไผ่ สามารถดึงดูดใจชาวบ้านให้หันมามองและมาต่อคิว เพื่อขอชิมจนหมดเกลี้ยงเกือบ 100 กระบอก จนข้าวหลามสุกไม่ทันกันเลยทีเดียว และนับเป็น “ข้าวหลามอบโอ่ง” ที่ทำเป็นรายแรกใน จ.ตรัง

ส่วนแนวคิดการทำข้าวหลามอบโอ่ง มาจากการที่นายเปลื้อง เป็นเกษตรกรผู้ปลูกไผ่หลากหลายสายพันธุ์บนเนื้อที่กว่า 10 ไร่ ซึ่งแต่เดิมขายเฉพาะต้นไผ่กับหน่อไม้ แต่เมื่อเห็นชาวตรังชอบกินข้าวหลาม และมีขายในงานเทศกาลทุกงาน จนข้าวหลามกลายเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อ และแทบทุกคนจะต้องซื้อติดมือกลับบ้าน ประกอบกับ ต.บางดี อ.ห้วยยอด มีการปลูกข้าวเจ้าและข้าวเหนียวไว้กินเอง ทำให้คิดทำข้าวหลามขึ้น และทำมานาน 4-5 ปีแล้ว โดยใช้ไผ่ที่ปลูกคือไผ่ข้าวหลามกาบแดง, ไผ่กิมซุง และไผ่สีสุก

โดยนำโอ่งมังกรที่บ้านมาเจาะรู เพื่อระบายอากาศเล็กน้อย ใช้เตาถ่านอยู่ด้านล่างสุดของโอ่ง อบด้วยอุณหภูมิที่เหมาะสม อาศัยการดูสีของกระบอกไม้ไผ่เป็นหลัก ซึ่งสามารถอบข้าวหลามได้ครั้งละไม่ต่ำกว่า 20 กระบอก โดยใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงเศษ นอกจากจะประหยัดพลังงานแล้ว ยังทำให้มีกลิ่นหอม ไม่ร้อน ไม่มีควันไฟ ไม่มีกลิ่นควันไฟในเนื้อข้าวหลาม ทั้งยังไม่มีปัญหาไฟลุกไหม้หรือลุกลามไปติดพื้นที่ข้างเคียง ขนย้ายสะดวก และยังนำอาหารชนิดอื่นๆ เช่น หมู ปลา ไก่ เนื้อและอื่นๆ ไปอบในโอ่งได้อีกด้วย โดยใช้แทนการเผาข้าวหลามแบบเผาลานที่ต้องก่อไฟเป็นแนวยาวได้เป็นอย่างดี ซึ่งข้าวหลามอบโอ่งกำลังจะมีการรวมกลุ่มกันในชุมชน เพื่อผลิตเป็นสินค้าโอทอป ส่งขายสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านอีกทางหนึ่งด้วย

ขณะที่ นายเปลื้อง เกษตรกรผู้ทำข้าวหลามอบโอ่งรายแรกใน จ.ตรัง กล่าวว่า มีแนวคิดจากการที่ตอนเด็กๆ ได้ไปเที่ยวงานเฉลิมพระชนมพรรษาของ จ.ตรัง ซึ่งเป็นงานประจำปี เห็นว่าคนเฒ่าคนแก่มาขายข้าวหลามในงาน และจะมีคนซื้อข้าวหลามกลับมาบ้าน เพราะเป็นอาหารที่ขึ้นชื่อของ จ.ตรัง ซึ่งตนก็กลับมามองว่าในเมื่อตนปลูกไผ่แล้วก็น่าจะต่อยอดได้ ไม่ต้องพึ่งธุรกิจใหญ่ๆ เพราะเป็นของชุมชนเราเอง เราต้องพึ่งตนเอง ซึ่งกลิ่นหอมจากการอบโอ่ง ยังทำให้ไม่มีควันไฟ หากเผาในที่โล่งกลิ่นควันไฟจะเข้าไปในเนื้อของข้าวหลาม ถ้าอบในโอ่งจะประหยัด มีกลิ่นหอมและไม่ร้อนในขณะปฏิบัติงาน จะง่ายและสะดวกดี ซึ่งถ้าทำขายจะทำให้ลูกค้าได้สัมผัสกลิ่น สัมผัสครบทั้งตา หู กาย จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งจะนำเข้าไปสู่การขายได้ง่ายขึ้นจากการที่ลูกค้าได้สัมผัส และนำไปต่อยอดนำไปอบไก่ อบปลาก็ได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ถ่ายทอดวิชาความรู้จากครูบาอาจารย์หรือจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งจะมีการส่งไม้ในรุ่นต่อๆ ไป เพื่อพัฒนาชุมชนให้เกิดประโยชน์ในการพึ่งตนเอง อยู่อย่างมีความสุขได้

นายเปลื้อง กล่าวอีกว่า ยอดการกินข้าวหลามของคนตรังเยอะมาก และเป็นเมืองท่องเที่ยวด้วย เลยคิดประยุกต์จากการที่อยู่ในกลุ่มไผ่ จ.ตรัง ในการปลูกไผ่ผสมผสานอยู่แล้ว จึงคิดว่าทำอย่างไรให้เราอยู่อย่างพึ่งตนเอง ชุมชนพึ่งตนเอง ไม่ต้องไปพึ่งธุรกิจใหญ่ข้างบน เลยเห็นว่าน่าจะมีการประยุกต์จากการเผาแบบลาน แบบชาวบ้านพื้นถิ่นที่เป็นภูมิปัญญาที่ทำต่อกันมานาน ตนจึงเห็นว่าเป็นการประหยัดพลังงาน ใช้ถ่านเพียงนิดเดียวสามารถทำข้าวหลามได้ 3 กิโลกรัม หรือประมาณ 20 กว่ากระบอก พอทดลองมา 4-5 ปีโดยไม่ได้ทำขาย ส่วนใหญ่จะแจกเพื่อนบ้านที่มาที่บ้าน เลยทำข้าวหลามแล้วชวนคุยเรื่องของไผ่ และนำไปช่วยงานในแต่ละงาน เพื่อต้องการสื่อสารในเรื่องของวิถีชีวิตในท้องถิ่นของตน.