เมื่อวันที่ 22 ม.ค. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี เสด็จออก ณ บริเวณด้านหน้าพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต ทรงประกอบพิธีสังเวยพระป้าย เนื่องในเทศกาลตรุษจีน พุทธศักราช 2566 ในการนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดเทียนทอง เทียนเงิน ธูป ที่โต๊ะเครื่องสังเวย ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปหางแล้วทรงปักที่เครื่องสังเวย จากนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทรงกราบ เสร็จแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ทรงเผากระดาษเงินกระดาษทอง สมควรแก่เวลาจึงเสด็จขึ้นพระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต

พระราชพิธีสังเวยพระป้าย เริ่มมีมาตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระสยามเทวมหามกุฏวิทยมหาราช รัชกาลที่ 4 ดังรายละเอียดปรากฏในราชกิจจานุเบกษา เล่มที่ 7 ตอนที่ 37 หน้า 324 วันที่ 14 ธันวาคม จุลศักราช 1890 “พระราชพิธีสังเวยพระป้าย” หรือ “การแต้มป้ายตามพิธีจีน” ซึ่งเป็นธรรมเนียมของชาวจีนที่ดีงาม สำหรับพระป้าย นั้น ชาวจีนเรียกว่า เกสิน หมายถึง ป้ายชื่อของบรรพบุรุษ บุพการีที่ตั้งไว้สำหรับบูชาประจำบ้าน เป็นประเพณี ธรรมเนียมจีน ที่เคารพนับถือ กตัญญูกตเวทีต่อบรรพบุรุษ

การบวงสรวง บูชา เป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ส่งผลให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองแก่ผู้ปฏิบัติและครอบครัว ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดพระราชพิธีขึ้น และได้เป็นพระราชพิธีสำคัญในช่วงตรุษจีนของทุกปีจวบจนถึงปัจจุบัน.