เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 21 ม.ค. ที่ห้องประชุมเจ้าพระยา ศาลว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เขตพระนคร นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯ กทม. นายศุภกฤต บุญขันธ์ ผอ.สำนักเทศกิจ น.ส.อัญชนา บุญสุยา ผอ.เขตบางรัก ร่วมกันแถลงชี้แจงกรณีมีคลิปวิดีโอเทศกิจเขตบางรัก จัดระเบียบผู้ค้าบนถนนสีลม โดยมีการระบุว่า “รองผู้ว่าฯ กทม.ทำร้ายแม่ค้า” เมื่อวานนี้ (20 ม.ค.)

นายจักกพันธุ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทม. ลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับผู้ค้าบนทางเท้าที่ถนนสีลมเป็นระยะ โดยได้จัดเตรียมจุดการค้าแห่งใหม่ไว้ให้ 3 แห่ง ได้แก่ ซอยศาลาแดง ซอยคอนแวนต์ และซอยตรงข้ามวัดแขก ซึ่งพบว่าผู้ค้าส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือและดำเนินการย้ายไปขาย ณ จุดที่จัดเตรียมไว้ให้

สำหรับผู้ค้ารายที่เป็นประเด็น และมีภาพคลิปออกมาเมื่อวานนั้น ส่วนตัวตนได้พูดคุยด้วยหลายครั้ง โดยล่าสุดเจ้าตัวมาร้องเรียนที่ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 66 ที่ผ่านมา ซึ่งเจ้าตัว ระบุว่า ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางรัก จะเตรียมที่ค้าขายไว้ให้ในซอยศาลาแดง แต่ปัจจุบันยังไม่ดำเนินการใด ๆ ตนยืนยันว่าจะจัดการให้เพราะถ้ารับปากไว้แล้วก็ต้องดำเนินการ จากนั้นจึงโทรศัพท์ถึงหัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตฯ ทันที โดยระบุ ให้เตรียมสถานที่ไว้ให้กับผู้ค้า แต่มาทราบภายหลังว่า ผู้ค้ารายดังกล่าว ไม่ยอมเข้าไปในสถานที่ที่จัดไว้ 

นายจักกพันธุ์ กล่าวต่ออีกว่า จากการลงพื้นที่ในวันที่ 20 ม.ค. ที่ผ่านมา พบผู้ค้าเพียงรายเดียวลงมาทางเท้า หลังรับแจ้ง ตนจึงเดินไปเจอ พร้อมกับอธิบายว่า ผู้ค้าปฏิบัติไม่ถูกต้อง หัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตฯ ได้แจ้งให้ผู้ค้าย้ายออกจากจุดค้าขาย ขณะพูดคุย ผู้ค้ารายนี้กลับยกน้ำเต้าหู้เทลงไปในหม้อ จำนวน 2 แกลลอน เข้าใจว่าเตรียมจะขายของต่อ ตนจึงสั่งให้เจ้าหน้าที่ยึดของกลางขึ้นรถไปที่สำนักงานเขตฯ และตนก็เป็นคนยกแกลลอนน้ำเต้าหู้ไปไว้ที่หลังรถเทศกิจ ซึ่งก็มีเจ้าหน้าที่ได้ยกอุปกรณ์การขายบางส่วนขึ้นรถด้วยเช่นกัน  

พร้อมทั้งแจ้งผู้ค้าให้หยุดทำการค้าขายไปก่อน ระหว่างนั้นกลับมีกลุ่มคนประมาณ 10 คน ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง เข้ามารุมต่อว่า ด่าทอเจ้าหน้าที่ ขณะปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่ได้พูดตอบโต้ใด ๆ มีเพียงหัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตฯ ที่แจ้งว่าปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องปฏิบัติให้ถูกต้อง ซึ่งระหว่างชี้แจงก็มีประชาชนเดินเข้ามาด่าทอต่อว่าเจ้าหน้าที่เป็นระยะ 

ตนจึงแจ้งให้เจ้าหน้าที่ถอยออกและเดินหนี ไม่ต้องการให้มีการกระทบกระทั่ง แต่ระหว่างนั้นได้มีผู้หญิงรายหนึ่ง เดินเข้ามาประกบหัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตฯ ซึ่งยืนอยู่ใกล้ตนเอง ต่อว่าด่าทอ และล้มลงไปเอง ไม่มีใครทำอะไร จากนั้นก็มีผู้ชายรายหนึ่ง ชี้หน้าไปที่หัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตฯ พร้อมกล่าวว่า “ทำร้ายประชาชน” และระหว่างที่ตนเดินข้ามไปฝั่งถนนธนิยะ ก็ยังมีคนเดินตามมาพยายามจะทำร้ายและต่อว่าด่าทอ 

ส่วนกรณีมีคลิปวิดีโอเผยแพร่ในโซเชียลมีเดียกล่าวหาว่า รองผู้ว่าฯ กทม. ไปตบตีแม่ค้านั้น นายจักกพันธุ์ กล่าวยืนยันว่า ไม่เป็นความจริง พร้อมมอบหมายให้หัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตฯ ไปแจ้งความดำเนินคดีกล่าวโทษผู้ที่กล่าวเช่นนั้นแล้ว ส่วนเย็นวันนี้ หากยังมีผู้ค้าฝ่าฝืนตั้งแผงค้าบนทางเท้า ก็จะเข้าไปพูดคุยทำความเข้าใจเช่นเดิม 

สำหรับการจัดระเบียบผู้ค้าบนทางเท้านั้น นายจักรพันธ์ กล่าวว่า ต้องยอมรับว่า มีผู้ค้าบนทางเท้าในพื้นที่ กทม. เป็นจำนวนมาก จากช่วงเวลาที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน จากตัวเลขในขณะนี้มีผู้ค้าบนทางเท้าประมาณ 700 แห่ง ผู้ค้าประมาณ 2 หมื่นราย สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของการสร้างทางเท้าขึ้นมา ก็เพื่อให้ประชาชนได้ใช้สอยในการเดินทาง แต่ในขณะเดียวกันต้องยอมรับว่าในอดีตที่ผ่านมา ก็มีกฎหมายที่สามารถให้ประชาชนหรือว่าผู้ค้า ที่มีความประสงค์จะมาทำการค้าได้ ต้องขออนุญาต ซึ่งการขออนุญาตก็มีอยู่ตามกระบวนการ 

ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. เป็นต้นมา ได้มอบหมายให้สำนักเทศกิจและสำนักงานเขต ไปสำรวจที่ใน กทม. ที่ไม่ใช่พื้นที่ทางเท้า อาจจะเป็นพื้นที่ของหน่วยงานราชการอื่น พื้นที่ของ กทม. หรือพื้นที่สาธารณะ เพื่อจัดเตรียมสถานที่ให้ผู้ค้าที่ค้าขายอยู่บนผิวจราจรได้เข้าไปขายในพื้นที่ที่เหมาะสมและมีความถาวรต่อไปในอนาคต ขณะนี้สำรวจได้แล้ว 125 แห่ง รับผู้ค้าได้ประมาณ 1 หมื่นราย ทั้งนี้ถึงแม้ว่าจะเป็นผู้ค้าขายบนทางเท้าที่ไม่ได้รับอนุญาต แต่ กทม. ก็จะพยายามให้ค้าขายได้แต่มีเงื่อนไขว่า จะต้องเป็นระเบียบและต้องไม่รบกวนทำให้ประชาชนที่ใช้ทางเท้า จนเกิดความไม่สะดวกสบาย หรืออาจก่ออันตรายให้เกิดกับการสัญจรไปมาได้ การจัดระเบียบเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งในบางจุด กทม. จัดหาพื้นที่ให้แล้ว และให้ผู้ค้าย้ายเข้าค้าขายไปในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้ระยะเวลาในการย้ายเข้าจุดที่จัดเตรียม ซึ่งการค้าขายบนทางเท้าในปัจจุบันก็ยังมีอยู่ แต่ในขณะเดียวกัน ความเป็นระเบียบเรียบร้อย และไม่กีดขวางทางสัญจรของประชาชน ไม่มีความสกปรกรกรุงรัง เป็นเรื่องสำคัญที่สุดที่ กทม. ต้องดำเนินการ 

ขณะที่ น.ส.อัญชนา กล่าวถึงไทม์ไลน์ของการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยที่ถนนสีลมของสำนักงานเขตบางรัก ว่า วันที่ 21 ต.ค. 65 สำนักงานเขตบางรัก ออกประกาศ ห้ามปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้า และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะ มีผล 1 พ.ย. 65 ต่อมาสำนักงานเขตจัดเจ้าหน้าที่เทศกิจประจำจุดพื้นที่ เพื่อประชาสัมพันธ์ กวดขันการค้าบนถนนสีลมทุกวัน ผู้ค้ากลุ่มแรก 20 ราย เริ่มย้ายไปอยู่จุดผ่อนผันถนนคอนแวนต์ (ซอยคอนแวนต์) ต่อมา 25 ธ.ค. 65 ประชาสัมพันธ์แจ้งผู้ค้า ให้เคลื่อนย้ายแผงค้าออกจากทางเท้า นอกจุดผ่อนผันถนนสีลม ตั้งแต่วันที่ 2 ม.ค. 66 เป็นต้นไป พร้อมให้แจ้งความประสงค์ทำการค้าในจุดผ่อนผัน ซึ่งได้ประชาสัมพันธ์กับผู้ค้าเรื่อยมา จากนั้นช่วงต้นเดือน ม.ค. 66 ได้เชิญผู้ค้าทั้งในช่วงกลางวันและกลางคืนมาประชุมชี้แจ้งทำความเข้าใจและขอความร่วมมือ พร้อมแจ้งให้ทราบว่าสำนักงานเขตจัดหาจุดผ่อนผันไว้ให้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในวันที่ 13 ม.ค. สำนักงานเขตได้ออกประกาศห้ามปรุงอาหาร ขาย หรือจำหน่ายสินค้า และติดตั้ง ตาก วาง หรือแขวนสิ่งใด ๆ ในที่สาธารณะ มีผล 17 ม.ค. 66 และในวันที่ 17 ม.ค. ก็ถือวันดีเดย์ในการเริ่มดำเนินการจัดระเบียบ

น.ส.อัญชนา ยืนยันว่าสำนักงานเขตบางรัก ดำเนินการตามขั้นตอน ไม่ต้องการให้เกิดการกระทบกระทั่ง เจ้าพนักงานเทศกิจลงพื้นที่ทุกวัน เพื่อแจ้งรณรงค์ประชาสัมพันธ์ 

น.ส.อัญชนา ยังได้เล่าย้อนเหตุการณ์ในวันเกิดเหตุ หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตบางรัก ประกาศให้ให้ย้ายจุดค้าขาย แต่ผู้ค้าไม่ขยับ ซึ่งปกติผู้ค้าลงไม่ได้ลงมาขายของบนทางเท้าเช่นนี้ ตนเองจึงอธิบายว่า ผู้พิการจะต้องเจอกับสิ่งใดบ้าง ซึ่งประชาชนที่ต่อคิวรอซื้อก็เข้าใจ ไม่ซื้อของ 

ส่วนที่มีภาพปรากฏ คนลงไปนอนกับเพื่อน กราบ ร้องไห้ เหมือนเราดำเนินการรุนแรงกลั่นแกล้ง ขอยืนยันว่า สำนักงานเขตบางรัก ปฏิบัติหน้าที่ดูแลทุกท่านตามลำดับขั้นตอน ลงปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่ ไม่มีการกระทบกระทั่ง

ด้านนายศุภกฤต กล่าวว่า เทศกิจมีบทบาทหน้าที่หลักๆ 4 เรื่องคือ การจัดระเบียบเมือง การดูแลความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินของประชาชน การอำนวยความสะดวกของประชาชน และการบังคับการตามกฎหมายของผู้ที่กระทำความผิดตามกฎหมาย สำหรับการจัดระเบียบหาบเร่แผงลอยนั้นมีกระบวนการทำงานที่ชัดเจนคือการทำตามพระราชบัญญัติรักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมือง พ.ศ. 2535 เบื้องต้นถ้าหากพบผู้กระทำความผิด ต้องชี้แจงให้แก้ไข แต่ถ้าไม่แก้ไขก็จะสามารถสั่งให้เจ้าพนักงานจับกุมผู้กระทำความผิดได้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทางเทศกิจได้ลงพื้นที่มาตลอดและประชาสัมพันธ์มานานแล้วว่าให้แก้ไข แต่ผู้ค้ารายดังกล่าวก็ยังไม่ทำตามที่ประชาสัมพันธ์ ทางเทศกิจจึงได้เข้าจับกุม และให้มาชำระค่าปรับที่เขตเรียบร้อยแล้ว