เริ่มเขม่นกันมาตั้งแต่การ “ตกปลาในบ่อพี่” ได้ ส.ส. ไปเป็นกอบเป็นกำ ทำเอาพรรคพี่ เลือดไหลไม่หยุด โดย พปชร. พยายามอุดรอยรั่ว เปิดตัวว่าที่ผู้สมัครเข้ามาเติมเต็มอดีต ส.ส. ที่ย้ายออก รวมถึงสกัด ส.ส. ที่จะไหลออก โดยใช้ทั้งเกม “บนดิน” และ “ใต้ดิน” สกัดทุกวิถีทาง

ล่าสุดเกิด ศึกชิง ส.ส. ก็เกิดขึ้น เมื่อ “บิ๊กป้อม” ลาประชุม ครม. ในวันที่ 17 ม.ค. โดยไม่ได้แจ้งเหตุผลการลา แต่มีการให้ข้อมูลจากทีมงาน พล.อ.ประวิตร ว่า พล.อ.ประวิตร อ่อนเพลียจากการลงพื้นที่ตรวจราชการที่ จ.ลำปาง และ จ.พะเยา พร้อมกับไปรับ “ลูกชาย” ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ส.ส.พะเยา พรรคเศรษฐกิจไทย กลับบ้าน เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ที่ผ่านมา และ “บิ๊กตู่” มาเฉลยกับสื่อมวลชนว่า “วันนี้ท่านลาไป จ.ราชบุรี ไม่ใช่หรือ …มั้ง”

จากนั้นก็ปรากฏภาพ “บิ๊กป้อม” ไปปรากฏตัวที่บ้านใหญ่ จ.ราชบุรี ของนายวิวัฒน์ นิติกาญจนา นายก อบจ.ราชบุรี สามีนางบุญยิ่ง นิติกาญจนา ส.ส.ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ โดยไฮไลต์คือแวะไปปาดหน้า ล็อกบ้านใหญ่ราชบุรี ก่อนที่ “บิ๊กตู่” ที่จะพื้นที่ จ.ราชบุรี ในวันที่ 19 ม.ค. รวมถึงท่ามกลางกระแสข่าวว่า น.ส.กุลวลี นพอมรบดี ส.ส.ราชบุรี เขต 1 พรรค พปชร. ที่จะย้ายมาอยู่ รทสช. และวันที่ 20 ม.ค. นี้ “บิ๊กป้อม” ชิงหอบคณะตรวจราชการ จ.พิษณุโลก และ จ.นครสวรรค์ ก่อน “บิ๊กตู่” จะลงพื้นที่ปลายเดือน จ.พิจิตร และ จ.นครสวรรค์ 

ถัดมาในเรื่องการเปิด นโยบายพรรค ที่ “บิ๊กป้อม” นำทีมเปิดนโยบายแรก ชูเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการ 700 บาทต่อเดือน ทำเอา “รมต.วอลเปเปอร์” ธนกร วังบุญคงชนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แห่งพรรค รทสช. ออกมาบลัฟกลับทันทีว่า “บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ” ที่ พปชร. เปิดออกมานั้น “บิ๊กตู่” เป็นคนริเริ่ม เมื่อปี 2559-ปัจจุบัน เป็นผู้ให้แนวคิดเพื่อยกระดับประสิทธิภาพการจัดสรรสวัสดิการของประเทศไทยในรอบหลายสิบปี ทำให้เด็ก พปชร. นายทศพล เพ็งส้ม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำนายกรัฐมนตรี ปฏิบัติหน้าที่ประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) สวนกลับทันทีว่า “…“บิ๊กตู่” เป็นนายกฯ ของ พปชร. และโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ คือ 1 ในนโยบายพรรคที่ใช้หาเสียงเลือกตั้งปี 62…”

แค่เปิดนโยบายมาไม่ทันข้ามวัน บรรดา “กองหนุน-กองแช่ง-กองเสี้ยม” ซัดกันเละ แถมยังมีเรื่องการปาดหน้าแย่งชิง ส.ส. และดราม่านโยบาย “บัตรสวัสดิการแหงรัฐ” ถือเป็นศึกยกแรกระหว่าง พี่น้อง “2 ป.” ซึ่งคาดว่าต่อจากนี้ ก็คงมีต่อไปเรื่อยๆ ไม่จบง่ายๆ และจะโหมโรงเร็วเข้มข้นขึ้น หลังการเลือกตั้งมีอย่างเป็นทางการ

ก็ไม่รู้ว่าเมื่อถึงเวลานั้น จะเป็นการ “แยกกันเดิน รวมกันตี” หรือไปๆ มาๆ จะเป็นการ “แยกจากกัน เป็นการถาวร”.