เรียกได้ว่านาทีนี้ ชื่อของประเทศที่หลายๆ คนอาจจะไม่เคยได้ยินมาก่อน อย่าง “ประเทศนาอูรู” กำลังได้รับความสนใจจากสังคมไทยเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่มีคำสั่งโยกย้ายให้ “ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยมีการคาดคะเนว่า สาเหตุดังกล่าวนั้น มาจากการที่ ผอ.กองคดีฯ และเป็นหน้าห้อง-มือขวาของอธิบดีดีเอสไอ ขอศาลอนุมัติหมายค้นบ้านพักกงสุลใหญ่นาอูรู ก่อนปรากฏข่าวเรียกรับผลประโยชน์จีนเทารวมเกือบ 10 ล้านบาท พร้อมปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด จนหลบหนีออกนอกประเทศไปได้
-ด่วน! เด้งฟ้าผ่า ‘ไตรยฤทธิ์’ พ้นเก้าอี้อธิบดีDSI เซ่นปมค้นบ้านอดีตกงสุลใหญ่นาอูรู
-เปิดประวัติ ‘ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์’ อธิบดีDSIผู้ถูกปลดฟ้าผ่า เซ่นคดีฉาว!

แต่อันที่จริงแล้ว “ประเทศนาอูรู” อยู่ที่ไหน และมีความสำคัญอย่างไรกันแน่?

สาธารณรัฐนาอูรู (Nauru)
นาอูรูเป็นเกาะเดี่ยว ๆ ตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะคิริบาส มีพื้นที่ 21 ตารางกิโลเมตร เขตเศรษฐกิจจำเพาะ 320,000 ตารางกิโลเมตร โดยไม่มีเมืองหลวงเป็นทางการ แต่ส่วนราชการอยู่ที่เมือง Yaren

ด้วยพื้นที่เพียง 21 ตารางกิโลเมตร ทำให้นาอูรูเป็นประเทศที่มีขนาดเล็กที่สุดเป็นอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศโมนาโกและนครรัฐวาติกัน และเป็นสาธารณรัฐที่มีขนาดเล็กที่สุด มากไปกว่านั้นด้วยจำนวนประชากรเพียง 10,670 คน จึงทำให้ประเทศนาอูรู เป็นประเทศที่มีจำนวนประชากรน้อยที่สุดเป็นอันดับ 2 ของโลก รองจากนครรัฐวาติกัน

เดิมทีชาวไมโครนีเซียและชาวพอลินีเซีย เป็นกลุ่มแรกที่เข้ามาตั้งถิ่นในนาอูรูอย่างน้อย 3,000 ปีที่แล้ว ตามธรรมเนียมแล้ว สามารถแบ่งผู้คนในนาอูรูได้เป็น 12 เผ่า ซึ่งแทนด้วยดาว 12 แฉกที่ปรากฏบนธงชาตินาอูรู ประเพณีเดิมของชาวนาอูรู จะสืบตระกูลผ่านทางมารดา ชาวนาอูรูมีความชำนาญในการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ พวกเขาจะจับปลาอีบีจา นำปลาเหล่านั้นมาปรับตัวให้ชินกับสภาพแวดล้อมน้ำจืด และเลี้ยงดูปลาเหล่านี้ในลากูนบัวดา เพื่อเป็นแหล่งอาหารที่วางใจได้ นอกจากนี้ มีพืชท้องถิ่นอื่นที่เป็นส่วนประกอบอาหารของพวกเขา เช่น มะพร้าวและเตยทะเล เป็นต้น ชื่อ “นาอูรู” อาจมีที่มาจากศัพท์คำว่า Anáoero ในภาษานาอูรู อันมีความหมายว่าฉันไปชายหาดนั่นเอง

ประเทศที่ร่ำรวยที่สุด VS ประเทศที่ยากจนที่สุด
นาอูรูมีลักษณะภูมิประเทศเป็นเกาะรูปวงรี เป็นหนึ่งในสามประเทศที่เป็นเกาะที่มีหินฟอสเฟต ล้อมรอบด้วยแนวประการัง พื้นที่สูงสุดของประเทศ มีความสูง 65 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนใหญ่พื้นที่อุดมสมบูรณ์ของนาอูรู อยู่บริเวณแนวชายฝั่ง ซึ่งสามารถพบ มะพร้าว ต้นเตย และไม้เนื้อแข็ง รวมถึงพื้นที่ล้อมรอบทะเลสาบน้ำจืด Buada ส่วนที่ราบสูงของภาคกลาง เป็นบริเวณที่เพาะปลูกพืช เช่น กล้วย และ สับปะรด และผักต่างๆ

นอกจากนี้ นาอูรูยังเป็นเกาะหินฟอสเฟตที่มี่ปริมาณเก็บไว้เป็นจำนวนมากใกล้ผิวดิน ซึ่งช่วยให้ง่ายต่อการทำเหมืองผิวดิน ทำให้ในปี ค.ศ. 1900 อัลเบิร์ต ฟูลเลอร์ เอลลิส นักสำรวจแร่ได้ค้นพบแหล่งแร่ฟอสเฟต จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1906 บริษัทแปซิฟิกฟอสเฟต ได้ทำข้อตกลงกับรัฐบาลของเยอรมนี ในการเริ่มต้นทำกิจกรรมเหมืองแร่ฟอสเฟต โดยเริ่มการส่งออกฟอสเฟตไปขายยังต่างประเทศในปี ค.ศ. 1907 เมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ในปี ค.ศ. 1914 กองทัพออสเตรเลียได้ส่งกองกำลังเข้ายึดครองนาอูรู จนกระทั่งถึงปี ค.ศ. 1919 ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร ได้ลงนามในข้อตกลงนาอูรู ซึ่งมีผลให้เกิดการสถาปนาคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษ (British Phosphate Commission-BPC) โดยคณะกรรมาธิการนี้มีสิทธิในการประกอบกิจการเหมืองฟอสเฟตในนาอูรู

ตลอดศตวรรษที่ 20 นาอูรูเปลี่ยนมือจากการตกเป็นเมืองขึ้นเยอรมนี ตกเป็นเมืองขึ้นออสเตรเลีย ไปตกเป็นเมืองขึ้นญี่ปุ่น แล้วกลับเป็นเมืองขึ้นออสเตรเลียอีก แต่ “นาอูรู” ก็ได้สิทธิในการปกครองตนเองในเดือนมกราคม ค.ศ. 1966 และเมื่อการประชุมร่างรัฐธรรมนูญได้ผ่านไป 2 ปีหลังจากนั้น นาอูรูจึงได้ประกาศเอกราชในปี ค.ศ. 1968 โดยมีประธานาธิบดีแฮมเมอร์ ดีโรเบิร์ต เป็นประธานาธิบดีคนแรก ในปี ค.ศ. 1967 ประชาชนชาวนาอูรูได้ร่วมกันซื้อทรัพย์สินของคณะกรรมาธิการฟอสเฟตของอังกฤษ ซึ่งนาอูรูได้สิทธิในการบริหารจัดการกิจการเหมืองแร่ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1970 ภายใต้การบริหารของบริษัทนาอูรูฟอสเฟต

รายได้ของนาอูรูที่ได้จากการทำเหมืองแร่ ส่งผลให้ประชาชนชาวนาอูรูมีรายได้มากกว่า 6 หมื่นสี่พันล้านบาทจากเหมือง เมื่อหารประชากร 7,000 คน ก็ได้คนละราว 9 ล้านบาท ทำให้พวกเขามีมาตรฐานการครองชีพสูงที่สุดในกลุ่มประเทศแถบแปซิฟิก

อย่างไรก็ตาม เมื่อแร่เริ่มหมด พวกเขาก็ขุดแร่หนักขึ้น และกว้างขึ้นเรื่อยๆ ทำลายธรรมชาติของเกาะ จนในที่สุดพื้นที่ 70% ของนาอูรูก็ถูกทำลายไม่อาจอยู่อาศัยหรือเพาะปลูกได้ ส่วนทรัพยากรฟอสเฟตที่เหลือ ไม่คุ้มค่าในการสกัด ตั้งแต่ยุค 2000s นาอูรูล้มละลาย กลายเป็นประเทศที่ยากจนที่สุดในโลกในชั่วข้ามคืน และซ้ำร้ายกว่านั้น ชาวเกาะกว่า 71% ยังเป็นโรคอ้วน เพราะพวกเขามีนิสัยกินดีอยู่ดีมาตั้งแต่ตอนรวย โดยพบว่ามีสัดส่วนเป็นเพศชายร้อยละ 97 และเพศหญิงร้อยละ 93 ส่งผลให้ประเทศนาอูรูอยู่ในอันดับสูงสุดของโลก ที่ประชากรมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่สอง มีประชากรมากกว่าร้อยละ 40 ได้รับผลกระทบจากโรคดังกล่าวด้วย ส่วนปัญหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการบริโภคของชาวนาอูรู คือ โรคไตและโรคหัวใจ อายุขัยโดยเฉลี่ยของชาวนาอูรู คือ 60.6 ปี สำหรับเพศชาย และ 68.0 ปี สำหรับเพศหญิง

เมื่อปริมาณสำรองฟอสเฟตหมดลง ประกอบกับความเสียหายอย่างรุนแรงของระบบนิเวศจากการทำเหมืองทรัสต์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเพื่อจัดการความมั่งคั่งของเกาะมีมูลค่าลดน้อยลง นาอูรูจึงกลายเป็นที่หลบภาษี (tax haven) และศูนย์กลางของการฟอกเงินในช่วงสั้น ๆ เพื่อหารายได้ จากปี 2001 ถึง 2008 และอีกครั้งตั้งแต่ปี 2012 รัฐบาลนาอูรูได้อนุญาตให้ออสเตรเลียตั้งศูนย์ประมวลผลภูมิภาคนาอูรู (Nauru Regional Processing Centre) ซึ่งเป็นสถานกักกันคนเข้าเมืองนอกชายฝั่ง แลกกับเงินช่วยเหลือ ด้วยการพึ่งพาออสเตรเลียเป็นอย่างมาก แหล่งข้อมูลบางแห่งระบุว่านาอูรูเป็นรัฐบริวารของออสเตรเลีย นาอูรูในฐานะรัฐเอกราชเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ กรอบการประชุมหมู่เกาะแปซิฟิก เครือจักรภพแห่งชาติและองค์การรัฐแอฟริกา แคริบเบียนและแปซิฟิก

การต่างประเทศ
นาอูรูเป็นสมาชิกพิเศษของเครือจักรภพ (Commonwealth of Nations) มาตั้งแต่ ปี 2511 นาอูรูได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกของสหประชาชาติในปี 2542 นอกจากนี้ นาอูรูยังเป็นสมาชิกของ Pacific Island Forum (PIF) และ Western and Central Pacific Fisheries Commission (WCPFC) นาอูรูยังสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตกับทั้งไต้หวันและจีน โดยใช้การสถาปนาความสัมพันธ์ดังกล่าว เพื่อแลกกับความช่วยเหลือทางการเงิน

นาอูรูไม่มีกองทหารเป็นของตนเอง การป้องกันประเทศเป็นหน้าที่ของรัฐบาลออสเตรเลีย ภายใต้ข้อตกลงอย่างไม่เป็นทางการของทั้งสองประเทศ ส่วนการรักษาความสงบเรียบร้อยจะใช้กองกำลังตำรวจขนาดเล็กซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของฝ่ายพลเรือนเป็นผู้ดูแล นอกจากการป้องกันประเทศแล้ว นาอูรูและออสเตรเลียได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเดือนกันยายน ค.ศ. 2005 โดยในบันทึกความเข้าใจนี้ออสเตรเลียจะให้เงินช่วยเหลือแก่นาอูรู รวมไปถึงการส่งผู้เชี่ยวชาญทางด้านการเงิน การสาธารณสุขและการศึกษา เพื่อเป็นที่ปรึกษาให้แก่รัฐบาลนาอูรู ทั้งนี้ ผลประโยชน์ที่นาอูรูได้รับ จะต้องแลกเปลี่ยนกับการที่นาอูรูจะให้ที่อยู่อาศัยกับกลุ่มผู้ขอลี้ภัยเข้าออสเตรเลีย ในระหว่งที่กระบวนการพิจารณากำลังดำเนินการอยู่ ในปัจจุบันประเทศนาอูรูใช้สกุลเงินดอลลาร์ออสเตรเลีย

ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสาธารณรัฐนาอูรูนั้น ได้สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูต เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2548 โดย รัฐบาลนาอูรูได้เปิดสถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทยและแต่งตั้งนาย Alex Ying Jie Ke ชาวจีน สัญชาตินาอูรู เป็นกงสุลใหญ่ (อาชีพ) สถานกงสุลใหญ่นาอูรูประจำประเทศไทย เป็นกงสุลใหญ่นาอูรูแห่งเดียวในทวีปเอเชีย และนาอูรูยังเป็นประเทศแรกและประเทศเดียวของประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ที่มีผู้แทนทางการทูตในไทย และในปัจจุบันไม่มีคนไทยอาศัยอยู่ในนาอูรู..