เป็นอีกหนึ่งข่าวใหญ่ในวันนี้ ที่สังคมไทยให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ภายหลังจากที่ปรากฏคำสั่งของ รมว.ยุติธรรม เซ็นคำสั่งให้ “ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และให้ พ.ต.ต.สุริยา สิงหกมล ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ และให้รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ
-ด่วน! เด้งฟ้าผ่า ‘ไตรยฤทธิ์’ พ้นเก้าอี้อธิบดีDSI เซ่นปมค้นบ้านอดีตกงสุลใหญ่นาอูรู

ทำให้ชื่อของ “ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” กลายเป็นที่สนใจของสังคมไทย ว่าเขาคือใคร มีที่มาเป็นอย่างไรกันแน่?

ชีวิตนายแพทย์สู่กระทรวงยุติธรรม
สำหรับ นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ หรือ “หมอต้น” นั้น เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2508 จบคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ในปี 2532 จบปริญญาเอก คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์เครื่องสำอาง มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ในปี 2552 เริ่มงานราชการเป็นนายแพทย์ 4 สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงสาธารณสุข

ต่อมาเป็นนายแพทย์ 6 หัวหน้ากลุ่มงานการรักษาศูนย์มะเร็ง จ.สุราษฎร์ธานี โดยหมอต้นได้เคยเล่าเรื่องราวชีวิตในช่วงนั้นกับ “สำนักข่าวอิศรา” เอาไว้ว่า หลังจากจบแพทย์เฉพาะทาง (บอร์ด) ด้านนิติเวช (เป็นคนแรกของกระทรวงสาธารณสุข) เป็นเวลาห้วงหนึ่ง ซึ่งห้วงเวลานั้น ผมมักจะต้องชันสูตรบาดแผล ชันสูตรศพ ผลการชันสูตรออกเร็วมาก และผมทำตรงไปตรงมา จนกระทั่ง มีการถูกกดดันจากกลุ่มผู้มีอิทธิพล ที่มีธงในการชันสูตร ผมถูกกดดันจนมีความรู้สึกว่า ต้องพกปืนไปทำงาน ผมมีความรู้สึกว่าถูกกดดันมาก แต่พนักงานสอบสวนจำนวนมาก คอยให้การสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม กระทั่งปี 2549 โอนย้ายมาเป็นนายแพทย์ระดับ 8 โดยเป็นการเชิญชวนจาก คุณหญิง พญ.พรทิพย์ โรจนสุนันท์ ให้มาเริ่มต้นตั้งสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ด้วยกัน ในตำแหน่ง หัวหน้ากลุ่มนิติเวชคลินิก เติบโตจนเป็น รอง ผอ.สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และชะตาพลิกผันอีกครั้งในปี 2561 หลังได้ย้ายมาเป็นรองอธิบดีดีเอสไอ ปี 2563 และได้ขยับขึ้นเป็นผู้ตรวจราชการกระทรวงยุติธรรม
ทั้งนี้ ในระหว่างทำงาน “หมอต้น” ได้เข้าอบรมหลักสูตรนักบริหารกระบวนการยุติธรรมระดับสูง (ยธส.) รุ่นที่ 1 และจบหลักสูตรวิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) รุ่น 6

ก้าวขึ้นเบอร์หนึ่ง “ซูเปอร์กรม”
หลังจากที่ พ.ต.ท.กรวัชร์ ปานประภากร อธิบดี DSI จะเกษียณอายุราชการวันที่ 30 ก.ย. 2564 ที่ผ่านมานั้น ได้มีคำสั่งแต่งตั้งให้ “ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” ผู้ตรวจราชการ ไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI)

ในช่วงที่ “นพ.ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” ก้าวขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งของ DSI นั้น ได้มีการแจ้งถือครองทรัพย์สิน โดยมีทรัพย์สินที่น่าสนใจ นั่นคือ ที่ดิน 9 แปลง 20.5 ล้านบาท, พระบูชา 19 องค์ ประเมินค่ามิได้ พระเครื่องสะสม 42 องค์ ได้มาระหว่างปี 2537-2548 รวม 8,842,000 บาท ทองคำแท่งหนัก 140 บาท ได้มาเมื่อปี 2549 รวมมูลค่า 3,969,000 บาท อีกด้วย

โดย “สำนักข่าวอิศรา” ได้เคยสัมภาษณ์ถึงเส้นทางการทำงานของ “หมอต้น อธิบดี DSI” เอาไว้ว่า “ผมมาอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ผมไม่มีรุ่น ผมก็ประสานกับพนักงานสอบสวนทุกรุ่นในกรมนี้ และช่วงหนึ่งที่ปฏิบัติราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เกือบ 6 เดือน ผมก็ต้องทำหน้าที่ในการเซ็นสำนวนออก มีการเซ็นแย้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดังๆ แต่ผมก็ไม่ได้เล่นกับข่าว จึงเป็นเรื่องที่พิจารณาและให้ความเห็นแบบเงียบๆ เพราะผมคิดว่าคดียังไม่ถึงที่สุด ในการเอาความลับในสำนวนมาพูด ก็จะเกิดการได้เสียของคู่กรณี และกฎหมายก็เขียนห้ามไว้ด้วย”

นอกจากนี้ ใน “สยามรัฐ” ยังเคยเปิดเผยบทสัมภาษณ์อีกด้วยว่า “ผมชอบการทำงาน แต่ไม่ชอบการปะทะ การทำงานจริงๆ ต้องอาศัยความร่วมมือ ร่วมแรงร่วมใจ และหลีกเลี่ยงการขัดแย้ง ถ้าเป็นไปได้ต้องมีการพูดคุยเพื่อหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อให้งานเดินหน้าได้สำเร็จ เพราะเราทำงานเพื่อประชาชน เราไม่ได้ทำเพื่อเอาชนะกัน ถ้าเรามีความขัดแย้งกัน คนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดก็คือประชาชน เพราะฉะนั้นในหน่วยงานก็จะมีปัญหา เช่น การสื่อสารไม่เข้าใจกัน จึงต้องมีการบูรณาการร่วมกัน”

คำสั่งสั่นสะเทือน
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 66 ชื่อของ “ไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์” ได้กลับมาเป็นสนใจของสังคมไทยอีกครั้ง เมื่อปรากฏว่า นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม ได้ลงนามในคำสั่ง โดยให้ นายไตรยฤทธิ์ เตมหิวงศ์ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ไปปฏิบัติหน้าที่ราชการที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และรักษาราชการแทนผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์

โดยมีการคาดการณ์ว่า การลงนามคำสั่งย้ายอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษในครั้งนี้ เป็นผลมาจากข้อครหาที่เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งมีรายงานว่า บุคคลซึ่งเป็น ผอ.กองคดีฯ และเป็นหน้าห้อง-มือขวาของอธิบดีดีเอสไอ ขอศาลอนุมัติหมายค้นบ้านพักกงสุลใหญ่นาอูรู จากนั้นเจ้าหน้าที่ดีเอสไอ รวม 5 คน นำโดย นายตฤณ พิชิตกุญชร ผอ.ส่วนกลั่นกรองและการข่าวคดีพิเศษภาค และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 191 ร่วมกันเข้าตรวจค้นบ้านพักอดีตกงสุลใหญ่นาอูรู ก่อนปรากฏข่าวเรียกรับผลประโยชน์จีนเทารวมเกือบ 10 ล้านบาท พร้อมปล่อยตัวผู้ต้องหาทั้งหมด จนหลบหนีออกนอกประเทศไปได้..