เมื่อวันที่ 18 ม.ค. เพจประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้โพสต์ข้อความระบุว่า #ปลอดภัย…ทีมสัตวแพทย์พร้อมลูกเสือโคร่ง เดินทางถึงศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากแล้ว รวมระยะเวลาเดินทางกว่า 8 ชั่วโมง

18 มกราคม 2566 เวลา 05.00 น. ทีมสัตวแพทย์ สัตวบาล ขนย้ายลูกเสือโคร่งของกลาง จำนวน 3 ตัว ตามที่ได้ดำเนินการจับกุม เมื่อวันที่ 15 พ.ย.65 (คดีอาญา 1684/65 ยึดทรัพย์ 250) จากสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) มาเลี้ยงดูแล ณ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จ.สุพรรณบุรี เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ย้าย 3 ลูก ‘เสือโคร่ง’ ของกลาง จากอุบลฯไปบึงฉวาก แวะพักสระบุรีเหตุเมารถ

โดยคณะเจ้าหน้าที่สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) ดำเนินการส่งมอบ-รับมอบ ลูกเสือโคร่งของกลาง ตามคดีอาญาที่ 1684/2565 ยึดทรัพย์ที่ 250/2565 จำนวน 3 ตัว ได้แก่ มุกดา เพศเมีย สะหวัน เพศเมีย และข้ามโขง เพศผู้ โดยมี นายธีระยุทธ วงศ์ไพเสริฐ ผู้อำนวยการส่วนอนุรักษ์สัตว์ป่า สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) แทนผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 (อุบลราชธานี) เป็นผู้ส่งมอบ นางสาวธชพรรณ ลีลาพตะ นายสัตวแพทย์ และนางสาวมาริษา ชุ่มวิจิตร นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้รับมอบ

การเคลื่อนย้ายลูกเสือโคร่งดังกล่าวข้างต้น ใช้รถยนต์ราชการหมายเลขทะเบียน ฮต 6406 กรุงเทพมหานคร และหมายเลขทะเบียน กจ 2619 ราชบุรี เคลื่อนย้ายไปยังศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก จังหวัดสุพรรณบุรี โดยมี นางสาวธชพรรณ ลีลาพตะ และนางสาวมาริษา ชุ่มวิจิตร นายสัตวแพทย์ กลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า เป็นผู้แทนเป็นผู้ควบคุมการขนย้าย พร้อม สพ.ญ.กนกวรรณ ตรุยานนท์ นายสัตวแพทย์ชำนาญการพิเศษ สอป.สบอ.3 (บ้านโป่ง) และ สพ.ญ.ณฐนน ปานเพ็ชร นายสัตวแพทย์ชำนาญการ ศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวาก คณะทำงานผู้ดูแลสุขภาพลูกเสือโคร่งระหว่างการเคลื่อนย้าย

คณะเริ่มทำการขนย้ายตั้งแต่ช่วงเวลา 19.00 น. ของวันที่ 17 ม.ค. 2566 และเดินทางถึงยังศูนย์พัฒนาฯ บึงฉวากเวลา 03.33 น. ของวันที่ 18 ม.ค. 2566 เป็นที่เรียบร้อย รวมระยะเวลา 8 ชั่วโมง 33 นาที ตลอดการเดินทางไม่เกิดเหตุฉุกเฉิน สภาพร่างกายลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว ปกติ นอนหลับตลอดการเดินทาง ซึ่งปกติแล้วลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว จะมีพฤติกรรมนอนหลับช่วงเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ ทีมสัตวแพทย์จึงวางแผนการเดินทางเป็นช่วงเวลากลางคืน นอกจากนี้ยังมีพี่เลี้ยงดูแลลูกเสือโคร่งทั้ง 3 ตัว อย่างใกล้ชิด ซึ่งหากพบความผิดปกติจะทำการแจ้งทีมสัตวแพทย์ สัตวบาลทันที ภารกิจขนย้ายลูกเสือโคร่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

ทั้งนี้ ขณะนำส่งลูกเสือโคร่ง 3 ตัว นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 9 ร่วมกับผู้เลี้ยงได้อุ้มลูกเสือนำไปใส่กรงท้ายรถตู้ ระหว่างนั้น สัตวแพทย์หญิงคชรินทร์ ราชสินธุ์ กลั้นน้ำตาไว้ไม่ได้ ด้วยความผูกพันและคุ้นชินกับลูกเสือทั้ง 3 ตัว ด้านนายชัยวัฒน์ ให้เหตุผลว่า “การที่ลูกเสือ ทั้ง 3 ตัว ไปอยู่ที่ศูนย์พัฒนาฯ บึงฉวาก เป็นข้อดีมากกว่า ในทุกๆ ด้าน ทั้งด้านงบประมาณ ที่สถานีเพาะเลี้ยงจุฬาภรณ์ มีไม่เพียงพอ ด้านการดูแลรักษาสุขภาพที่ศูนย์พัฒนาฯ บึงฉวาก มีความพร้อมกว่าแน่นอน รวมถึงด้านบุคลากร ที่สถานีเพาะเลี้ยงจุฬาภรณ์มีน้อยกว่ามาก อีกทั้งที่ศูนย์พัฒนาฯ บึงฉวาก มีความพร้อมของสถานที่ อุปกรณ์ และยังมีงบประมาณเพียงพอที่จะดูแลลูกเสือทั้ง 3 ตัวนี้

ภายหลังจากเคลื่อนย้ายมาถึงศูนย์พัฒนาการจัดการสัตว์ป่าบึงฉวากเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ลูกเสือทั้ง 3 ตัวสามารถกินนมได้ตามปกติ มีการเดินสำรวจสถานที่เลี้ยงใหม่ และยังคงร่าเริงเล่นได้ปกติ โดยทีมสัตวแพทย์จะทำการประเมินสุขภาพของสัตว์เพิ่มเติมและทำการสังเกตอาการของตัวสัตว์อย่างใกล้ชิด หลังจากเคลื่อนย้ายเป็นเวลา 24-48 ชั่วโมง และจะรายงานให้ทราบเป็นลำดับต่อไป.