จากกรณี เพจเฟซบุ๊ก “ประชาสัมพันธ์ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช” โพสต์ภาพวิเคราะห์สภาพซากเสือโคร่ง พร้อมข้อความระบุว่า “พบเสือโคร่งตายในพื้นที่ อช.แม่วงก์ ตรวจสอบจากฐานข้อมูลตรงกับ “เสือวิจิตร” เสือหนุ่มจากห้วยขาแข้ง คาดสาเหตุเกิดจากการต่อสู้แย่งชิงอาณาเขต 14 มกราคม 2566 ทั้งนี้ สภาพที่พบนอนนิ่งอยู่บริเวณริมลำห้วยในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ มีบาดแผลเต็มตัว” นั้น

ตายเยี่ยงเสือ! สิ้น ‘วิจิตร’ เสือโคร่งหนุ่มจากห้วยขาแข้ง รอยแผลเต็มตัว

ตำนานพยัคฆ์พเนจร วิถีเสือผู้กล้านาม ‘วิจิตร’ ความไม่พร้อมที่นำมาสู่ความสูญเสีย!

เปิดที่มา! ทำไมต้องชื่อ ‘เสือวิจิตร’ เหลือเพียงตำนานที่กล่าวขานไม่รู้จบ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลัง สูญเสียเสือวิจิตร ในพื้นที่ อช.แม่วงก์ ล่าสุดทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) ได้เข้าไปตรวจพิสูจน์หาสาเหตุการตายในพื้นที่ โดยพบว่า เป็นเสือโคร่งเพศผู้ ตัวโตเต็มวัย ความยาวลำตัว 265 เซนติเมตร ความกว้าง 120 เซนติเมตร ความยาวขาหน้าซ้าย 85 เซนติเมตร ความยาวขาหน้าขวา 85 เซนติเมตร ความยาวขาหลังขวา 80 เซนติเมตร ความยาวขาหลังซ้าย 80 เซนติเมตร ความกว้างอุ้งเท้าหน้าซ้าย 9.1 เซนติเมตร น้ำหนักประมาณ 100 กิโลกรัม อายุประมาณ 7-8 ปี ลักษณะภายนอก สภาพซากเริ่มเน่าเปื่อย ขนหลุดร่วงเป็นบางบริเวณ พบหนอนแมลงวันขนาดเล็ก และขนาดใหญ่ คาดว่าตายมาประมาณ 3 วัน

จากนั้นพิจารณาแล้วเห็นว่าซากเสือโคร่งที่ไม่เน่าเสีย ได้แก่ กระดูก มีคุณค่าสมควรแก่การเก็บรักษาไว้เพราะเป็นซากสัตว์ป่าคุ้มครองที่หายากใกล้สูญพันธุ์ ดังนั้นเพื่อประโยชน์ในทางราชการและการศึกษาวิจัย จึงให้เก็บรักษาซากสัตว์ป่าไว้มิให้ทำลาย โดยวิธีการต่อกระดูกสัตว์ ในส่วนของซากอื่น ๆ ได้แก่ หนัง และเนื้อ เห็นควรทำลายซากโดยวิธีการเผา ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามระเบียบกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ว่าด้วยการดำเนินการแก่สัตว์ป่า ซากสัตว์ป่า หรือผลิตภัณฑ์จากซากสัตว์ป่า และค่าใช้จ่ายในการดูแลสัตว์ป่า พ.ศ. 2565 โดยเคร่งครัด

ทาง ทีมสัตวแพทย์ประจำสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 12 (นครสวรรค์) จึงได้ทำการเลาะกระดูกเสือโคร่ง ก่อนส่งต่อให้กรมอุทยานฯ เพื่อดำเนินการเก็บรักษา ตามขั้นตอนต่อไป.

ขอบคุณภาพและข้อมูล กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช