เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวที่สะเทือนใจชาวเน็ตไปตามๆ กัน หลังล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ซึ่งเป็นวันเด็กแห่งชาติประจำปี 2566 ได้เกิดกระแสแชร์โพสต์จากผู้ใช้เฟซบุ๊ก @วันนั้นเมื่อฉันสอน ที่ขอแชร์เรื่องราวของตัวเองที่สุดปวดหัวใจ เมื่อวันที่ต้องนำของขวัญไปมอบให้กับ “อดีตลูกศิษย์”

โดยคุณครูเล่าว่า “ของขวัญที่ผมไม่ได้แกะ” เลิกงานจับของขวัญแล้ว ผมยังคงไม่แกะของขวัญที่จับได้จากนักเรียน และย้ำกับนักเรียนทุกคนว่า ห้ามแกะจนกว่าจะถึงบ้าน เพราะนอกจากลดขยะในโรงเรียนแล้ว ยังเป็นการต่อช่วงเวลาแห่งความสุขออกไปอีก ช่วงเวลาที่จะได้ลุ้นถึงสิ่งของที่อยู่ข้างใน ตอนนี้ผมอยากให้ความรู้สึกของการได้ลุ้นของนักเรียนเอ่อล้นอยู่ภายใน จนพวกเขาอยากที่จะกลับบ้านเร็ว ๆ แม้มันจะเป็นเทศกาลแห่งความสุข แต่ก็มีเด็กบางคนที่ขาดโอกาสนั้น เด็กที่ไม่มีโอกาสจะได้แกะกล่องของขวัญเหมือนคนอื่น

ผมคว้ามอเตอร์ไซค์คันเก่าของผมห้อยกล่องของขวัญขี่ไปตามหมู่บ้าน แม้จะมีรถยนต์แล้ว แต่ผมยังชอบบรรยากาศบนหลังมอเตอร์ไซค์ เพราะอยู่กับมันมามากกว่า 15 ปี และมันยังเข้าออกง่ายไปตามซอกซอย ซอยบ้านหลังเล็กที่รถยนต์ไม่อาจเข้าถึง…

ผมมาถึงบ้านหลังหนึ่งที่ผมคุ้นเคยเป็นอย่างดี บ้านหลังที่ผมเคยมาครั้งแรกเมื่อ 3 ปีก่อน บนถนนเส้นที่รถสวนกันไม่ได้ ผมจอดรถเอนหลังมองหา แต่เจ้าของบ้านไม่อยู่ตรงนั้น ผมรออยู่ซักพักชาวบ้านก็เรียกหาผมเพราะจำได้ “มันอยู่แถวนั้นแหละครู” ชาวบ้านร้องตะโกนมา หลังจากเสียงโหวกเหวกโวยวายนั้น ผมก็ได้พบกับคนที่ผมตามหา อดีตนักเรียนที่ผมรักมากที่สุดคนหนึ่ง…

เขาเดินเท้าเปล่ามาหาผม พร้อมกับยกมือสวัสดี “มานี่ซิ มาใกล้ ๆ” ผมเรียกเขาเข้ามาแล้วกวักมือ เด็กชายเดินมาอย่างว่าง่าย ก่อนที่ผมจะล้วงกล่องในถุงผ้าขนาดใหญ่ ออกมา “แท่ แด” เด็กชายดีใจที่ได้เห็นกล่องของขวัญและผมบอกกับเขาว่า “สวัสดีปีใหม่นะ ครูนำของขวัญมามอบให้เธอ” “ขอบคุณครับครู” เขารับกล่องของขวัญนั้นไว้

แต่ละปีผมจะนำของขวัญที่จับได้จากเด็ก ๆ มามอบให้กับนักเรียนที่ไม่มีโอกาสได้รับของขวัญจากใคร ของขวัญที่ผมเองก็ไม่รู้ว่าข้างในคืออะไร ปีนี้เด็กที่ผมเคยให้ก็ไม่อยู่ในหมู่บ้านนี้แล้ว แต่ดอกไม้แห่งความเศร้าไม่ได้บานดอกออกมาแค่เพียงดอกเดียว เพราะมันก็ยังมีคนใหม่ ๆ ที่เติบโตขึ้นมาและเป็นแบบเดียวกัน ผมกอดเขาไว้ ซึ่งบัดนี้เขาสูงเกือบเท่าตัวผมแล้ว “เธอยังเป็นนักฟุตบอลที่เก่งที่สุดของครูเสมอนะ” แม้มันจะเป็นประโยคสั้น ๆ แต่ก็เอ่อล้นด้วยหลากเรื่องราวที่อยู่ภายใน

เราผ่านหลายเรื่องราวด้วยกัน ผมเคยไปตามจับเขาที่ไร่อ้อยเพราะวิ่งหนีหมอฟัน เคยหามเขาออกจากสนามฟุตบอลเพราะโดนเตะขา เคยวิ่งไล่จับเขาในชั่วโมงพละ เคยพาเขาไปเลี้ยงข้าว เคยทานข้าวทานหมูกระทะด้วยกัน เคยติวหนังสือให้เขา และเคยพาเขาไปตกเบ็ดที่นาของผม แต่วันนี้ไม่มีกันอีกแล้ว หลังจบชั้น ป.6 เด็กชายก็ออกจากระบบการศึกษา ไม่ได้เรียนหนังสือต่อ เขาใช้ชีวิตรับจ้างรายวันเหมือนชาวบ้านทั่วไป เข้าสู่วัยทำงานเร็วกว่าเด็กในเมือง

“ครูถามอะไรหน่อยได้มั้ย”
“ได้ครับครู”
“เธอจะไม่เรียนต่อจริง ๆ ใช่มั้ย”
“ไม่แล้วครับ”

ชีวิตการเป็นครู คุณอาจจะจำเด็กที่เรียนกับคุณทุกคนไม่ได้ แต่เด็กคนที่คุณจะยังจำได้เสมอคือเด็กคนแรกของคุณที่ต้องออกจากการศึกษา เด็กที่ออกกลางคัน มันเป็นรอยแผลที่หยั่งลึกลงในใจของคนเป็นครู ไม่ว่าจะนานขนาดไหน ผมยังจำนักเรียนคนแรกของผมที่เรียนไม่จบได้ มันเจ็บปวดนะที่เราช่วยเขาไว้ไม่ได้ มีความพยายามหลายครั้งที่ผมจะดึงเขากลับไป แต่บางครั้งเราก็พบว่า “เราเจอกันช้าเกินไป” ผมมีเวลาแก้ไขเขาแค่ 2 ปี เราเหมือนหมอที่มาเจอคนไข้ที่เป็นมะเร็งในระยะสุดท้ายซึ่งลุกลามจนไม่อาจแก้ไข แต่ผมก็หวังเสมอนะหวังว่ามันจะเปลี่ยน

เด็กที่ออกจากระบบการศึกษาไม่ได้มีแค่เพียงไม่มีทุนทรัพย์ แต่มันยังประกอบไปด้วยครอบครัว ทัศนคติ เพื่อนและสภาพแวดล้อมเด็กที่เกิดในครอบครัวของนายแพทย์ ก็ยากที่จะไปเป็นคนเก็บขยะ เช่นเดียวกันกับเด็กที่ทำอาชีพเกษตรกรรม ก็ยากที่จะข้ามไปเป็นอีกชนชั้นของสังคมได้ ชีวิตที่ต้องการเงินเลี้ยงปากท้องทุกวันมันรอความสำเร็จเป็นสิบปีไม่ได้ มันเจ็บปวดจนเกินที่จะแบกรับไหว แต่เมื่อเขาเลือกทางนี้ผมก็จำเป็นต้องเคารพในการตัดสินใจ ไม่กระทำการใดที่จะฝืนจิตใจกันอีก ปกติเวลาทำงานส่งผมจะเขียนดาวกำกับไว้ในสมุดเสมอเพื่อเป็นรางวัล แต่ในวันนี้ครูไม่อาจให้ดาวเธอได้อีกแล้ว ครูไม่สามารถให้คุณให้โทษกับเธอได้อีก แต่ครูยังรักเธอเสมอ ดาวที่เธอเห็นต่อจากนี้จะเป็นเพียงดาวในชีวิตจริงบนท้องฟ้าโดยที่ไม่มีครูอยู่

ผมกอดเขาไว้ในวันที่อากาศของแดนอีสานยังหนาวเหน็บ พร้อมบอกเขาครั้งสุดท้ายว่า “ไม่เป็นไรนะ ถึงเธอจะเป็นคนตัดอ้อยก็จงเป็นคนตัดอ้อยที่เก่งที่สุด จงเทียบบัญญัติไตรยางค์หาคำตอบแล้วอย่าให้ใครมาโกงค่าแรงเธอได้”..

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก @วันนั้นเมื่อฉันสอน