เมื่อวันที่ 21 ส.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตามที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา (สบ 9) ดำเนินโครงการวิจัยเชิงสำรวจ หรือ พีเพิลโพล (People Poll) ซึ่งต่อยอดมาจากโครงการกองวิจัย สำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ ที่แต่เดิมกำหนดให้สำรวจความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมและความเชื่อมั่นประชาชนจากการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ ต้องทำแบบประเมินปีละ 1 ครั้ง สำรวจภาพรวมยังไม่เข้าถึงประชาชน ผู้บังคับบัญชาต้องรอผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนเป็นปี
ทั้งนี้โครงการวิจัยเชิงสำรวจ หรือ พีเพิลโพล (People Poll) อยู่ในระหว่างช่วงระยะเวลาทดสอบ 4 เดือน ระหว่างเดือนมิ.ย.-ก ย.นี้ ซึ่งได้มุ่งเน้นเรื่องความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมและความเชื่อมั่น ของประชาชนต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตํารวจ และความพึงพอใจต่อการให้บริการภายในสถานีตํารวจ โดยยึดหลักระเบียบวิธีวิจัยอย่างเคร่งครัด ได้กำหนดจำนวนกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่สถานีละ 100 ตัวอย่าง ครอบคลุม 1,484 สถานีทั่วประเทศ เก็บข้อมูลโดยใช้ระบบออนไลน์ หรือ google form ซึ่งโปรแกรมนี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย รวดเร็ว และประหยัดงบประมาณ ถือเป็นการประยุกต์ใช้นวัตกรรมส่งเสริมการทำงานของตำรวจ โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้
ประเด็นที่ 1 ทำไมต้องเก็บข้อมูลจากทุกสถานีตำรวจทั่วประเทศ เนื่องจากพีเพิลโพล ดำเนินงานโดยยึดหลักประชาชนเป็นศูนย์กลาง รับฟังความคิดเห็นของประชาชน ดังนั้น การเก็บข้อมูลจากทุกสถานีตำรวจครอบคลุมพื้นที่ทุกตารางเมตรของประเทศไทย ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจรับรู้ถึงความรู้สึก ทัศนคติ ความต้องการ และปัญหาของประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง ทำให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานสามารถปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที
ประเด็นที่ 2 ทำไมต้องวัดความหวาดกลัวภัย เพราะประสิทธิภาพของตำรวจด้านการป้องกันอาชญากรรม และความพึงพอใจของประชาชนที่มาติดต่อที่โรงพักตัวชี้วัดเรื่องความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม และความเชื่อมั่นฯ นั้นถือเป็นตัวชี้วัดสากล ที่ World Internal Security and Police Index ใช้วัดประสิทธิภาพตำรวจ และพระราชบัญญัติการจัดทํายุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 ได้กำหนดให้ตำรวจนำค่าเป้าหมาย และตัวชี้วัดดังกล่าวมาใช้วัดประสิทธิภาพตำรวจไว้เช่นกัน สำหรับการวัดความพึงพอใจนั้น สามารถสะท้อนให้เห็นคุณภาพการทำงาน และการมีจิตใจในการให้บริการของตำรวจบนโรงพัก
ประเด็นที่ 3 เป็นการเพิ่มภาระให้โรงพักหรือไม่ในเรื่องนี้ทุกสถานีเก็บข้อมูลกับประชาชนจำนวน 100 คนต่อเดือน (วันที 1-20) เฉลี่ยเพียงวันละ 5 คนเท่านั้น ซึ่งแต่ละวันตำรวจต้องพบปะให้บริการประชาชนในพื้นที่จำนวนมาก เช่น ตำรวจสายตรวจ ตำรวจชุมชนสัมพันธ์ และประชาชนที่มาใช้บริการบนโรงพัก ดังนั้น จึงไม่ถือว่าเป็นภาระเพิ่มเติม
ประเด็นที่ 4 พีเพิลโพล เชื่อถือได้หรือไม่ ในเรื่องนี้ พีเพิลโพล ดำเนินการโดยยึดหลักระเบียบวิธีวิจัยอย่างเคร่งครัด โดยทำงานร่วมนักวิชาการ และกองวิจัย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตั้งแต่กระบวนการออกแบบสอบถาม (อ้างอิง UNODC) แบบสอบถาม กำหนดกลุ่มตัวอย่าง การเก็บข้อมูล การประมวลผลข้อมูล ตลอดจนการวิเคราะห์ และนำเสนอผลข้อมูล
ประเด็นที่ 5 ทำอย่างไรหากพื้นที่นั้นไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ต ประเด็นดังกล่าวคณะทำงานได้คำนึงถึงเงื่อนไขนี้ตั้งแต่เริ่มดำเนินโครงการ โดยให้เน้นการเก็บข้อมูลตามจริง และสามารถนำจำนวนมาเฉลี่ยกับพื้นที่อื่น ๆ ภายในจังหวัดเดียวกันตามสัดส่วนของประชาชน โดยให้ยึดถือระเบียบวิธีวิจัย และสถิติเพื่อให้ข้อมูลมีประสิทธิภาพ เชื่อถือได้
จากการดำเนินโครงการพีเพิลโพลที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า ภัยอาชญากรรมที่ประชาชนมีความหวาดกลัวในลำดับต้น ๆ คือ ทำร้ายร่างกาย การถูกฆ่า ลักทรัพย์ ชิงทรัพย์ ยาเสพติด และอาชญากรรมไซเบอร์ นอกจากนี้ คณะทำงานยังได้รับข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งพล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ได้นำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ วางแผน กำหนดทิศทางการทำงาน โดยได้สั่งการให้ตำรวจทุกโรงพักปรับรูปแบบการทำงานให้เหมาะสมกับสถานการณ์ได้ทันท่วงที และตรงกับความต้องการของประชาชน อีกทั้งกำชับให้เก็บข้อมูลพีเพิลโพลตามที่มอบหมายกับประชาชนในพื้นที่เพื่อสะท้อนความคิดเห็นได้ตรงกับความเป็นจริง
โดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติเล็งเห็นว่า “การรับฟังเสียงของประชาชน คือ สิ่งสำคัญ เพราะ เสียงของประชาชนคือเสียงของเจ้าของประเทศ” ซึ่งพีเพิลโพล คือหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการวางแผนการบริหารงานทั้งระดับสถานีตำรวจ กองบังคับการ กองบัญชา จนถึงระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ