นายสาธิต หาญรบ ปลัดอำเภอหนองบัวระเหว จ.ชัยภูมิ เปิดเผยว่า ขณะนี้ทางอำเภอได้มีการร่วมมือกับภาคเอกชน ผลักดัน และพัฒนาสถานที่พบซากดึกดำบรรพ์ กระดูกไดโนเสาร์ ที่บริเวณสระน้ำบ้านพนังสื่อ ต.หนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว เมื่อปี 2560 และมีนักบรรพชีวินวิทยา และนักธรณีวิทยา จากกรมทรัพยากรธรณี เข้ามาตรวจสอบและทำการขุดหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ค้นพบสัตว์ดึกดำบรรพ์ อายุกว่า 100 ล้านปี มากถึง 6 ชนิด ในพื้นที่เดียวกันกว่า 40 ชิ้น โดยเฉพาะซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ พบทั้ง ซี่โครง กระดูกเชิงกราน กระดูกขาขวาส่วนบน กระดูกสันหลัง เป็นสัตว์กินพืช ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ นอกนั้นยังพบ ฟันจระเข้ กระดูกปลาฉลาม สุสานหอย และอื่น ๆ รวมอยู่ในพื้นที่เดียวกันกว่า 6 ชนิด ฝังอยู่ในชั้นหินทรายลึกจากพื้นดินราว 5 เมตร

โดยซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ที่พบ เป็นชนิดกินพืช มีชื่อเรียกว่า ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน ซึ่งเบื้องต้น นักบรรพชีวินวิทยา และนักธรณีวิทยาจากกรมทรัพยากรธรณี ได้เข้าดำเนินการขุดหาซากดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์ และซากสัตว์ดึกดำบรรพ์ในพื้นที่ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง เพื่อศึกษาค้นคว้าพัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวประจำอำเภอ จังหวัด และระดับประเทศ รวมทั้งเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาในพื้นที่ให้มากขึ้น ซึ่งหลังจากโควิด-19 บางเบาลง แหล่งค้นพบไดโนเสาร์ ที่บ้านพนังเสื่อ ต.หนองบัวระเหว อ.หนองบัวระเหว จะเป็นทั้งแหล่งท่องเที่ยว แหล่งเรียนรู้ของนักเรียน ซึ่งทุกภาคส่วนกำลังเร่งพลักดันเข้าสู่จีโอพาร์ค ในเร็ว ๆ นี้ต่อไป

นางสวัสดิ์ หลวงนันท์ จากกรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า ในพื้นที่ดังกล่าว ได้มีการขุดพบซากสัตว์ดึกดำบรรพ์กว่า 6 ชนิดแล้ว มีชิ้นส่วนที่พบกว่า 40 ชิ้น ที่มีสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ โดยเฉพาะไดโนเสาร์ ตัวใหญ่ที่สุดในประเทศ เป็นที่ 1 ของเอเชีย ที่ 5 ของโลก คาดว่าบริเวณดังกล่าวน่าจะเป็นแหล่งอาหารที่อุดมสมบูรณ์ จึงทำให้พบซากชิ้นส่วนจำนวนหลายชนิด แตกต่างจากที่อื่นซึ่งจะพบเพียงชนิดเดียว

สำหรับ ภูเวียงโกซอรัส สิรินธรเน (Phuwiangosaurus Sirindhornae) เป็นไดโนเสาร์กินพืช เดิน 4 เท้า ความยาวประมาณ 15-20 เมตร คอและหางยาว มักอยู่รวมกันเป็นฝูง เป็นไดโนเสาร์สกุลใหม่ และชนิดใหม่ของโลก มีชีวิตอยู่ในยุคครีเทเชียสตอนต้น เมื่อประมาณ 130 ล้านปีก่อน พบครั้งแรกที่จังหวัดขอนแก่น “สิรินธรเน” เป็นชื่อชนิดของไดโนเสาร์  ตั้งขึ้นเพื่อถวายพรเกียรติแด่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้ทรงสนพระทัยในงานด้านบรรพชีวินวิทยาเป็นอย่างมาก.