ในปี 2566 ประเทศไทยยังเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG (‘Bio-Circular-Green’ Economy ) เป็นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวมที่มุ่งเน้นการพัฒนา 3 เศรษฐกิจไปพร้อมกัน ได้แก่

1.Bioeconomy มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรชีวภาพเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยเน้นการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์มูลค่าสูง เศรษฐกิจหมุนเวียน

2. Circular Economy คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าหรือยาวนานที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว

3.Green Economy การพัฒนาเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงความยั่งยืนของทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม ตามแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจ BCG พ.ศ. 2564-2569 โดยเน้นดึงคนรุ่นใหม่ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาร่วมขับเคลื่อนประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจ BCG ใช้จุดเด่นและศักยภาพของประเทศไทยในเรื่อง  เกษตรและอาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงาน วัสดุและเคมีชีวภาพ การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจ

ข้อมูลจาก จากเว็บไซต์ https://bcg.in.th ระบุว่า BCG มี เป้าหมายและตัวชี้วัดปี 2570 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของประเทศเพื่อใช้ในการขับเคลื่อน BCG Model ดังนี้

1. เพิ่มอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มูลค่าจีดีพีหรือ มูลค่าเศรษฐกิจทั้งหมดที่เกิดขึ้นในประเทศ ของเศรษฐกิจ BCG เพิ่มขึ้น 1 ล้านล้านบาท สัดส่วนผลิตภัณฑ์และบริการมูลค่าสูงเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การเพิ่มขึ้นของรายได้ของเศรษฐกิจฐานรากไม่น้อยกว่าร้อยละ 50

2.ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ลดความเหลื่อมล้ำทางรายได้ 10 ล้านคนจำนวนผู้ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารและทุพโภชนาการต่ำกว่าร้อยละ 5 จำนวนผู้เข้าถึงยา เวชภัณฑ์ และเครื่องมือแพทย์ราคาแพงแม้ในภาวะวิกฤติได้เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 3 แสนคน จำนวนชุมชนมีความสามารถในการพึ่งพาตนเองด้านพลังงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

3.สร้างความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 จากปัจจุบันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกร้อยละ 20-25 เมื่อเปรียบเทียบกับ ปี 2548 ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการฟื้นฟู เช่น เพิ่มพื้นที่ป่าไม้ 32 ล้านไร่

4.การพึ่งพาตนเอง จำนวนผู้ที่ได้รับการพัฒนาให้มีทักษะที่สูงขึ้น ไม่น้อยกว่า 1 ล้านคน จำนวนสตาร์ทอัพ และ IDEs (Innovative Driven Enterprises) ที่เกี่ยวข้องกับ BCG 1,000 ราย ดุลการชำระเงินทางเทคโนโลยีขาดดุลลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 การนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์และสุขภาพลดลงไม่น้อยกว่าร้อยละ 20

ทั้งนี้ใน เวทีเสวนา Green” จริง หรือ แค่ “ฟอกเขียว” ซึ่งจัดโดย Bangkok Tribune News, Decode.plus, Backpack Journalist, นักข่าวพลเมือง (Thai PBS), ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้พูดถึงการขับเคลื่อน BCG ที่ยังมีจุดที่ต้องเติมเต็ม พร้อมให้ข้อคิดเห็นอย่างกว้างขวาง

.ดร.ฐิตินันท์ พงษ์สุทธิรักษ์ ผู้อำนวยการสถาบัน ศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ (ISIS) กล่าวว่า BCG ต่อยอดมาจากสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ซึ่งเป็นวาระของรัฐบาล BCG ในหน้ากระดาษกับชีวิตที่สัมผัสได้เป็นคนละเรื่อง การพัฒนาอุตสาหกรรมเชิงยุทธศาสตร์ อุตสาหกรรมอาหาร การแพทย์ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ การท่องเที่ยวนวัตกรรม แต่ละคำฟังดูสวย เป็นการพูดแบบตีกินซึ่งไม่เกิดเลย ทั้งนี้ในเยอรมันเรื่องนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว เมื่อ 30 ปีที่แล้วมีการแยกขยะเป็น 6 ถัง ทำเรื่องสภาพแวดล้อม BCG เป็นคำพูดที่ดูเท่แต่ประเทศไทยมีปัญหาแยกขยะไม่เป็น

.ดร.ฐิตินันท์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยากมีนวัตกรรมแต่ยังมีความย้อนแย้ง ในความเป็นจริงกลุ่มเยาวชนยังไม่มีพื้นที่ปลดปล่อยพรสวรรค์ ไม่มีพื้นที่เสรีภาพทางวิชาการ ความคิด คำพูด ซึ่งเป็นเวทีพื้นฐานที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อน

ด้าน ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่าประเทศไทยจะเกิดความยั่งยืนไม่ได้ถ้ายังไม่มีความเท่าเทียม และความมั่นคงแต่ไม่ใช่ความมั่นคงทางทหารแต่ต้องมี “ความมั่นคงทางอาหาร” “ความมั่นคงทางพลังงาน” “ความมั่นคงทางน้ำ” ซึ่งเป็นที่มาของภาพใหญ่ เมื่อทำแล้วประเทศไม่ได้ประโยชน์เท่านั้น แต่โลกต้องได้ด้วย BCG ไม่ควรเป็นสแตนอโลน

ดร.สุวิทย์ ยังกล่าวอีกว่า BCG ในอนาคตต้องเติมเต็มด้วยการระดมสมอง แต่วันนี้ปัญหาของ BCG 1.ความเข้าใจไม่เท่ากัน 2. BCG มีจุดตายเรื่องการสื่อสาร ดังนั้นต้องทำให้ BCG เป็นเรื่องใกล้ตัวเป็นของสำคัญ ของที่จับต้องได้ ขณะนี้ในหน่วยงานภาครัฐแต่ละกระทรวงยังทำเรื่อง BCG เป็นแบบไซโลของตัวเอง ประเด็นสำคัญคือวิสัยทัศน์การพัฒนาไปสู่การกระทำ จะเป็นอีกหนทางที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจในนามของประชาชนเพื่อสอดรับกับพลวัตโลก เราควรพยายามบริหารจัดการให้ชัด

ขณะที่ สฤณี อาชวานันทกุล กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด และนักวิจัยธุรกิจที่ยั่งยืน ให้มุมมองว่า เรื่องของ BCG ดูแผนปฏิบัติการที่เพิ่งเผยแพร่เมื่อกลางปีที่แล้ว ต้องให้เวลา เมื่อมีแผนปฏิบัติการแล้ว ต้องมีความพยายามในการหางบประมาณซึ่งถือว่าอยู่ในช่วงเริ่มต้น มีข้อสังเกตว่าเมื่อต้องการสนับสนุน BCG ถ้าเป็นภาคเกษตร ต้องมีการคุ้มครองสิทธิเกษตรกร อย่างที่เรามักใช้คำว่า “ภูมิปัญญาท้องถิ่น” มากมายทั้งประเทศไทย รวมถึงพี่น้องชนเผ่าต้องใช้ภูมิปัญญาที่มี เรื่องนิเวศวัฒนธรรม นิเวศเกษตรกรรมต้องคุ้มครอง ยกตัวอย่างเช่น เมล็ดพันธุ์ หากไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้เพื่อปลูกในฤดูกาลถัดไป ถือว่าลิดรอนการคุ้มครองสิทธิเกษตรกรหรือไม่

กรรมการผู้จัดการ ด้านการพัฒนาความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ยังบอกอีกว่า Circular Economyจะไม่มีทางสื่อสารกับชาวโลกได้ ถ้าเราไม่พูดถึงการจัดการขยะลดขยะให้ได้มากที่สุด ประเทศไทยเมื่อพูดถึงปัญหาการลดขยะอาหารไม่พูดถึงภาพใหญ่ วันนี้เราจัดการขยะได้แค่ 30% เท่านั้น ขณะที่ประเทศไทยยังติดอันดับ 6 ของโลกที่ทิ้งขยะลงทะเล เราเริ่มเป็นประเทศที่นำเข้าขยะจากต่างประเทศเข้ามาจัดการ

BCG จะนำไปสู่ประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืน ต้องประกอบไปด้วย 1.ต้องดูแลสภาพแวดล้อม และกระจายการทำงาน 2.เน้นการมีส่วนร่วมทุกขั้นตอน 3.ต้องมีกฎกติกากำกับการดูแลให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะกำลังพูดถึงฐานทรัพยากรของเราทุกคน“ สฤณี ฝากประเด็นให้คิด

ทั้งนี้เป้าหมาย BCG ที่ชัดเจนคือการลดการใช้ทรัพยากรลง 1 ใน 4 แต่ได้ผลผลิตเท่าเดิม ลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก 1 ล้านตันคาร์บอนได ออกไซด์ และทำให้คนมีรายได้เพื่อจะเพิ่มจีดีพีให้ได้ 1 เปอร์เซ็นต์.

ทีมสิ่งแวดล้อม : รายงาน