ในปี 2566…เทรนด์เทคโนโลยีที่น่าสนใจและน่าจับตาจะมีอะไรบ้างที่จะเข้ามามีอิทธิพลและอาจเปลี่ยนชีวิตเราในอนาคต…ไปติดตามกันเลยเริ่มกันที่

เมตาเวิร์ส (Metaverse)

เทคโนโลยี “เมตาเวิร์ส” ได้เริ่มเป็นที่รู้จักของคนไทยและมีการพูดถึง เมื่อปลายปี 2564 หลังจากที่ “มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก” ซีอีโอและผู้ก่อตั้งเฟซบุ๊ก ได้ประกาศชื่อบริษัทเป็น  “เมตา”  (Meta) พร้อมกับเดินหน้าสู่โลกเมตาเวิร์สก็จะเห็นว่าองค์กรธุรกิจอื่น ๆ ก็ตื่นตัวมุ่งพัฒนาเมตาเวิร์ส จึงเป็นสิ่งที่ต้องจับตาในปี 2566 ซึ่งจะเป็นโลกเสมือนจริงที่จะเข้ามาเริ่มมีอิทธิพลในด้านต่าง ๆ ทั้งการใช้ชีวิตของคน ภาคธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจสื่อ บันเทิง การศึกษา การค้า อีคอมเมิร์ซ รวมถึงด้านการท่องเที่ยวด้วย

โดยทางการ์ทเนอร์ บริษัทวิจัยระดับโลกระบุว่าเมตาเวิร์ส จะสร้างขึ้นจากการผสานรวมโลกความเป็นจริงทางกายภาพ และดิจิทัลไว้ด้วยกัน โดยจะเกิดขึ้นต่อเนื่องและมอบประสบการณ์ที่สมจริงยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังได้คาดการณ์ว่าเมตาเวิร์สที่สมบูรณ์ไม่ได้ขึ้นกับอุปกรณ์ และจะไม่มีใครเป็นผู้จำหน่ายหรือเจ้าของแต่ผู้เดียว!

แต่จะมีระบบเศรษฐกิจเสมือนของตัวเอง โดยใช้สกุลเงินดิจิทัลและโทเค็นที่ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ (NFTs) ภายในปี 2570 คาดว่ามากกว่า 40% ขององค์กรขนาดใหญ่ทั่วโลก จะใช้เทคโนโลยีผสมผสานกัน เช่น Web3, AR Cloud และ Digital Twins ในโครงการบน “เมตาเวิร์ส” เพื่อช่วยเพิ่มรายได้

ซูเปอร์แอพ (Super apps)

เมื่อสมาร์ทโฟนได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไปแล้ว  ซูเปอร์แอพ ที่เป็นแอพพลิเคชั่นที่รวมการใช้งานต่าง ๆ ที่จำเป็นต่อชีวิตประจำวันเอาไว้ในแอพเดียวกัน เช่น สั่งอาหาร เรียกรถโดยสาร อ่านข่าว จองโรงแรม ตั๋วเครื่องบิน ซื้อของ ฯลฯ จะได้รับความนิยมและเข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น เห็นได้ว่าในปัจจุบันได้เกิดการพัฒนา “ซูเปอร์แอพ” หลาย ๆ ตัวแล้ว

รวมถึงผู้ให้บริการที่มีบริการเพียงหนึ่งเดียว ก็พยายามจะเพิ่มหรือจับมือกับพาร์ทเนอร์ ในการให้บริการอื่น ๆ มากขึ้น เพื่อต้องการยกระดับเป็นซูเปอร์แอพ เพราะการมีบริการเพียงหนึ่งเดียวไม่สามารถเติบโตหรือหารายได้ได้ตามเป้าหมายที่ต้องการ และพฤติกรรมการใช้งานของคนส่วนใหญ่ ก็ใช้งานประจำเพียงไม่กี่แอพเท่านั้น!

ทั้งนี้ทาง การ์ทเนอร์ ระบุว่า ซูเปอร์แอพจะเป็นการรวมคุณสมบัติของแอพ แพลตฟอร์มและระบบนิเวศไว้ในแอพพลิเคชั่นเดียว และยังเป็นแพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้กับบุคคลอื่นได้สร้างสรรค์พัฒนา และเปิดตัวมินิแอพด้วยและภายในปี 2570 คาดการณ์ว่าในแต่ละวันประชากรโลกมากกว่า 50% จะใช้ซูเปอร์แอพหลายตัว!!

รถบินได้ (Flying cars)

“รถบินได้” หรือโดรนสำหรับผู้โดยสารที่ใช้รับส่งในระยะทางสั้น ๆ เริ่มมีให้เห็นจริง ๆ แล้ว หลังจากที่แอร์คาร์ (AirCar) รถยนต์ไฮบริดบินได้เป็นยานพาหนะลูกผสมระหว่างรถยนต์กับเครื่องบินที่ได้รับการพัฒนาโดย Klein Vision บริษัทสตาร์ทอัพ จากประเทศสโลวาเกีย ได้เริ่มทดสอบการใช้งานแล้ว โดยสามารถบินได้ราว 1,000 กิโลเมตรที่ระดับความสูง 2,500 เมตร ทำความเร็วได้สูงสุด 170 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกคนได้ 2 คน น้ำหนักตัวรวมกันไม่เกิน 200 กิโลกรัม และใช้เวลา 2 นาที 15 วินาที ในการแปลงจากรถยนต์เป็นเครื่องบิน

ทั้งนี้ มีข่าวว่าผ่านมาตรฐานสำนักงานขนส่งแห่งสโลวาเกีย และสำนักงานความปลอดภัยการบินแห่งยุโรป (EASA) คาดว่าจะวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์เร็ว ๆ นี้

ขณะที่ฝั่งจีนก็ไม่น้อยหน้าได้เริ่มทดสอบ “รถบินได้” ที่สร้างโดยบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ชื่อ “เสี่ยวเผิง” (Xpeng) โดยได้ทดสอบการบินสาธารณะครั้งแรกที่นครดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อเดือน ต.ค. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งบริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์บินได้คันนี้ในตลาดระหว่างประเทศ

ด้าน มอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกได้คาดการณ์ว่าตลาดรถยนต์บินได้นี้อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 48 ล้านล้านบาท ภายในปี 2583 หรืออีกประมาณ 17 ปี ข้างหน้า!

แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับอุตสาหกรรม

ถือเป็นอีกหนึ่งเทรนด์ที่น่าสนใจสำหรับองค์กรธุรกิจในปี 2566 หลังจากเทคโนโลยีคลาวด์ได้เข้ามามีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยแพลตฟอร์มคลาวด์ของภาคอุตสาหกรรมจะนำเสนอบริการ SaaS แพลตฟอร์มเป็นบริการ (หรือ PaaS) และโครงสร้างพื้นฐานเป็นบริการ (IaaS) อย่างผสมผสานทำงานแบบแยกส่วนเฉพาะอุตสาหกรรม ซึ่งองค์กรต่าง ๆ สามารถใช้ความสามารถที่บรรจุไว้ของแพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับภาคอุตสาหกรรมในการสร้างสรรค์ไอเดียทางธุรกิจดิจิทัลที่ไม่เหมือนใครและแตกต่างได้ ด้วยความคล่องตัวมีนวัตกรรมล้ำสมัย ซึ่งภายในปี 2570 การ์ทเนอร์คาดการณ์ว่าองค์กรมากกว่า 50% จะใช้แพลตฟอร์มคลาวด์สำหรับภาคอุตสาหกรรมเพื่อเร่งการดำเนินโครงการใหม่ ๆ ของธุรกิจ

การทำงานแบบไฮบริด

ถือเป็นการทำงานรูปแบบใหม่ที่พนักงานสามารถทำงานจากที่บ้าน หรือที่ใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน โดยหลาย ๆ องค์กรระดับโลกได้เริ่มนำวิธีการทำงานรูปแบบนี้มาใช้หลังจากเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยอาศัยเทคโนโลยีและเครื่องมือต่าง ๆ อาทิ แอพพลิเคชั่น แชต สื่อสาร ประชุมออนไลน์ส่งงานได้ โดยที่ไม่จำเป็ตต้องเข้ามาทำงานในออฟฟิศอย่างเดียวอีกต่อไป

เทคโนโลยีเพื่อความยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง แต่สิ่งที่จะมีการพูดถึงมากขึ้นคือเรื่อง “ความยั่งยืน” ซึ่งเทคโน โลยีใหม่ ๆ ที่ถูกนำมาใช้จะต้องเกิดประโยชน์ ขณะเดียวกันต้องไม่ทำลายหรือต้องเป็นประโยชน์ต่อสิ่งแวดล้อมด้วย นั่นหมายความว่าการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมมีความสำคัญสูงสุด มากกว่าผลกำไรและรายได้ ซึ่งองค์กรธุรกิจจำเป็นต้องมีกรอบการทำงานด้านเทคโนโลยีที่ยั่งยืนใหม่ที่เพิ่มประสิทธิภาพด้านพลังงานและวัสดุอุปกรณ์ของบริการไอที ที่จะช่วยทำให้องค์กรมีความยั่งยืนผ่านเทคโนโลยีต่าง ๆ อาทิ ความสามารถในการตรวจสอบแบบย้อนกลับ การวิเคราะห์ พลังงานหมุนเวียน เทคโนโลยีเอไอ และปรับใช้โซลูชั่นไอทีเพื่อช่วยให้บรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนตามที่วางแผนไว้

ทั้งหมดเป็นเทรนด์เทคโนโลยีที่ต้องจับตาในปี 2566 และควรที่จะเรียนรู้เพื่อให้สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและธุรกิจให้ได้ในอนาคต.