ผ่านไปมาเมื่อไม่นานนี้ สำหรับการแข่งขัน “สุกรี เจริญสุข อินเตอร์เนชั่นแนล มิวสิค คอมเพติชั่น 2022” (Sugree Charoensook International Music Competition หรือ SIMC 2022) ณ ดร.ถาวร พรประภา ออดิธอเรียม ชั้น 5 อาคารสยามกลการ กรุงเทพมหานคร จัดโดยมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข
โดยคุณตปาลิน เจริญสุข หรือ ครูซอย ผู้อำนวยการการประกวด SIMC 2022 ได้กล่าวว่า “ในปี 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 จึงได้ริเริ่มจัดการประกวดดนตรี SIMC ในรูปแบบออนไลน์ขึ้นเป็นครั้งแรก ต่อมาในปี 2565 เกิดความคิดว่าถ้าหากมีการจัดประกวดดนตรีแบบออนไซด์ แบบแสดงต่อหน้าคณะกรรมการด้วยก็คงเป็นการดี แต่ก็ยังมีการเปิดโอกาสให้มีการประกวดในรอบแรกแบบออนไลน์ร่วมด้วย เพื่อให้ผู้เข้าประกวดจากต่างประเทศที่ไม่สะดวกเดินทางได้มีโอกาสเข้าร่วมการแข่งขันควบคู่กันไปทั้งสองแบบ”
สำหรับปีนี้มีผู้สมัครทั้งรูปแบบออนไซต์ และออนไลน์ ในรอบแรกรวม 501 คน จากนั้นมีผู้ผ่านเข้ารอบไฟนอล 238 คน อีกทั้งในปีนี้มีการเพิ่มการประกวดรูปแบบวงซึ่งมีผู้สมัครเข้าประกวด 21 วง และผ่านเข้ารอบชิงมาได้ถึง 15 วง จึงถือได้ว่าเป็นการประกวดที่เข้มข้น มีความหลากหลายของวง ชนิด และเครื่องดนตรี
ด้านการตอบรับจากผู้เข้าประกวดในระดับนานาชาติ มีทั้งจากฟิลิปปินส์ ฮ่องกง มาเลเซีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ หรืออย่างปีที่ผ่านมา ก็มีผู้เข้าประกวดจาก โปแลนด์ ออสเตรีย ให้ความสนใจเข้าร่วมประกวดด้วยเช่นกัน
โดยในรอบแรก ผู้เข้าแข่งขันจะได้รางวัลตามเกณฑ์คะแนน ทั้ง โกลด์ไพรส์ (Gold Prize), รางวัลดาวเด่น (Shining Star Prize), รางวัลดาวรุ่ง (Rising Star Prize) โดยผู้ที่ผ่านเข้ารอบไฟนอลได้ คือ ผู้ที่ได้รับรางวัลโกลด์ไพรส์ (Gold Prize) ซึ่งยังคงต้องมาแข่งขันกันอีกรอบ เพื่อทำการค้นหาผู้ชนะอันดับที่ 1 ถึง 3 และในท้ายที่สุด ผู้ที่ได้รับรางวัลสูงสุด ตำแหน่งแกรนด์ไพรส์ (Grand Prize) จะเป็นผู้ที่ได้รับรางวัลเป็นประสบการณ์พิเศษที่หาไม่ได้ในเวทีอื่นๆ
“ก่อนหน้านี้ได้ทำการปรึกษากับ อาจารย์สุกรี เจริญสุข ว่าจะเป็นไปได้ไหมว่าผู้ได้รับรางวัลที่ 1 แกรนด์ ไพรส์ แล้วเราจะมอบโอกาสให้พวกเขาได้ร่วมแสดงโซโล่ร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนจะมีโอกาสได้เล่นโซโล่ร่วมกับวงออร์เครสตรา ซึ่งอาจารย์สุกรีก็เห็นด้วย จึงเกิดเป็นรางวัล และรูปแบบการประกวดที่ไม่เหมือนเวทีอื่นๆ”
ส่วนแนวคิดที่ให้ผู้ที่ได้รับรางวัลแกรนด์ ไพรส์ ที่ได้มีโอกาสเล่นร่วมกับวงไทยซิมฯ นั้น คุณซอยกล่าวว่า “การร่วมเล่นกับวงไทยซิมฯ นั้น ถือว่าเป็นทักษะอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นประสบการณ์ที่หาได้ยาก และใครจะมอบโอกาสแบบนี้ให้กับเด็กได้โซโล่กับวงออร์เคสตรา และในเมื่อเรามีวงออร์เคสตราของมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุขอยู่แล้วที่พร้อมจะสนับสนุนเด็กและเยาวชน ก็ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะมอบประสบการณ์ล้ำค่านี้ให้กับเด็กๆค่ะ”
“เราไม่รู้เลยว่าใครจะเป็นผู้ชนะ ไม่ทราบล่วงหน้าว่าวงไทยซิมฯ จะได้เล่นเพลงอะไร นักดนตรีจะได้โน้ตล่วงหน้า 1 วันก่อนที่จะซ้อม เพราะฉะนั้น นักดนตรีที่จะเล่นก็ต้องเป็นมืออาชีพจริงๆ ถึงจะเล่นได้ ข้อยากอีกอย่างก็คือ เราไม่มีเพลง บางเพลงเป็นเพลงโซนาต้าที่เล่นคนเดียว หรือเพลงที่เล่นกับเปียโน อาจารย์ป๋อง หรือ ดร. ธีรนัย จิรสิริกุล ซึ่งเป็นผู้อำนวยเพลง ต้องมาเรียบเรียงเพลงใหม่หมด เพื่อให้ประสานกลมกลืนเข้ากับโซโล่ ซึ่งเป็นการทำงานที่บีบคั้นด้วยระยะเวลาประมาณ 2 – 4 วันเท่านั้น รวมทั้งหมด 8 เพลงที่ต้องเรียบเรียงขึ้นใหม่ แล้วตัวเด็กๆผู้ชนะเลิศเอง ก็มีเวลาซ้อมเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น แล้วก็แสดงคอนเสิร์ตเลย ซึ่งถือว่ามีเวลาซ้อมน้อยมาก จึงเป็นข้อพิสูจน์อย่างหนึ่งแล้วว่า ผู้ที่ชนะเลิศแกรนด์ ไพรส์มานั้น เค้าต้องแม่นในเพลงที่ตัวเองแข่งขันมาจริง ต้องเก่งจริง ซึ่งทั้ง 8 คนพิสูจน์แล้วว่าทุกคนทำได้”
ด้านผู้เข้าร่วมการแข่งขันได้กล่าวความรู้สึกในการร่วมแข่งขันครั้งนี้ เริ่มที่ มิกกี้ – แอลเจโล มิกเกล เดลอส ซานโตส หนุ่มน้อยวัย 18 ปี จากฟิลิปปินส์ ปัจจุบันศึกษาดนตรีเอกไวโอลีน ที่ The Philippine High School for the Arts (PHSA) ที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้ของเมืองหลวงมะนิลา
มิกกี้ เล่าย้อนกลับไปว่า ตนเองนั้นเริ่มเล่นไวโอลีนตั้งแต่อายุ 4 ขวบ ซึ่งเป็นกิจกรรมอดิเรกร่วมกับชุมชนบ้านเกิดของเขา แต่เมื่อได้เรียนไวโอลีนกับคุณครู ก็ทำให้เขาหลงรักไวโอลีนมากยิ่งขึ้น รู้ตัวอีกทีไวโอลีนก็กลายเป็นเครื่องดนตรีคู่ใจไปเสียแล้ว สำหรับการประกวดในครั้งนี้ มิกกี้ได้รับทราบข่าวสารจากเพื่อนร่วมชั้น และเพื่อนของเขาที่ได้เข้าร่วมการประกวด SIMC เมื่อปีที่ผ่านมา “ก่อนหน้านี้ ผมเคยเข้าแข่งขันดนตรีระดับนานาชาติที่เวียนนาแต่นั่นเป็นการแข่งขันรูปแบบออนไลน์ แต่การแข่งขัน SIMC ครั้งนี้เป็นการแข่งขันดนตรีระดับนานาชาติในรูปแบบการแสดงต่อหน้าคณะกรรมการครั้งแรก ซึ่งแน่นอนว่ามันให้ความรู้สึกที่แตกต่างไป มันเป็นความรู้สึกที่พิเศษมากๆ เพราะผมต้องฝึกซ้อมกับครูมาอย่างหนักมาตลอดปีที่ผ่านมา ความพยายามจากการฝึกฝนอย่างหนัก ทำให้รู้สึกว่าการได้ผ่านเข้ารอบมันคือความรู้สึกที่ดีจริงๆ นี่มันเป็นสิ่งที่ผมไม่คาดคิดมาก่อน เพราะตอนที่ผมแข่งในรอบชิงชนะเลิศ ยังรู้สึกว่าทำได้ไม่ค่อยดีเท่าไหร่นัก ทำใจไว้แล้วว่าอาจพลาดไม่ได้รางวัลใหญ่ แต่ในวันประกาศผลว่าผมเป็นผู้ชนะเลิศอันดับหนึ่ง มันทำให้ผมประหลาดใจมาก ตอนนั้นคือ ผมช๊อก ตกตะลึงจนพูดอะไรไม่ออก พักใหญ่พอตั้งสติได้จึงค่อยโทรแจ้งข่าวดีกับพ่อ และเพื่อนให้ทราบผลกัน”
หนึ่งในประสบการณ์ที่ผู้ชนะเลิศจะได้รับก็คือ การได้แสดงโซโล่ร่วมกับวงไทยซิมโฟนีออร์เคสตรา มิกกี้กล่าวว่า เขารู้สึกตื่นเต้นมาก และรู้สึกกังวลไปในเวลาเดียวกัน เพราะไม่เคยแสดงร่วมกับวงออร์เคสตรามาก่อน นี่คือความรู้สึกใหม่ที่หาไม่ได้จากที่ไหน รวมถึงเป็นประสบการณ์ที่วิเศษ เขามีความสุข และรู้สึกภูมิใจที่ได้ร่วมการแสดงกับวงไทยซิมฯ
ทางน้องลิลลี่-อลินลดา ลิลลี่ แว็คยอคสกี้ จากโรงเรียนเตรียมอุดมดนตรี วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาวน้อยวัย 17 ปี ที่นำเสียงอันมีเสน่ห์มาสะกดใจกรรมการจนได้รับรางวัลแกรนด์ไพรส์มาครอง และที่สำคัญเวทีนี้คือเวทีที่เธออยากกลับมาพิสูจน์ตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เปิดเผยว่า “ปีที่แล้วที่เพิ่งเข้าสู่การร้องเพลงคลาสสิกใหม่ๆ ได้มีโอกาสเข้าร่วมประกวดในเวที SIMC 2021 และได้รับรางวัล Shining Star พอ SIMC 2022 มีประกาศรับสมัคร จึงเลือกที่จะกลับมาประกวดที่เวทีนี้อีกครั้งหนึ่ง เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่ามีการพัฒนามากขึ้นขนาดไหน” และลิลลี่เชื่อว่าการเข้าร่วมการประกวดจะช่วยให้ตัวเองพัฒนาได้ไวขึ้น เพราะมีเป้าหมายว่าซ้อมไปเพื่ออะไรและมุ่งมั่นว่าทุกเวทีการประกวดจะต้องทำให้ดีขึ้น เต็มที่ขึ้น ดีที่สุดเท่าที่เราจะทำได้”
“ก่อนหน้าที่จะประกวดมีอาการเส้นเสียงบวม ซึ่งเป็นผลพวงมาจากอาการภูมิแพ้ทำให้มีอุปสรรคเล็กน้อยในการร้องเพลงที่เราตั้งใจว่าจะร้องในตอนแรกเราร้องไม่ได้ จึงต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการเปลี่ยนเพลง บวกกับอาการป่วยดังกล่าวก็ทำให้เกิดความกังวล แต่เราก็ได้รับกำลังใจจากอาจารย์ ครอบครัว เพื่อนพี่น้องที่รู้จักกันให้กำลังใจเราอย่างเต็มที่ ทำให้ลดความกังวลและพยายามอย่างเต็มที่กับสิ่งที่เราตรงหน้า ในวันที่ทำการประกวดจำได้เลยว่าบรรยากาศเหมือนการได้มาโชว์ ได้มาเอ็นจอยกับสิ่งที่เราทำ เราก็เลยไม่กังวล ไม่กดดันตัวเอง แต่ด้วยความสุขใจและพร้อมมอบความสุขให้ผู้ฟัง เมื่อประกาศผลออกมาว่าเราเป็นผู้ชนะก็รู้สึกดีใจมาก นั่นยิ่งเป็นการตอกย้ำว่าสิ่งที่เราตั้งใจและพยายามฝึกฝนเต็มที่ มันผลิดอกออกผลอย่างที่ตั้งใจให้มันเกิดขึ้นจริงๆ”
ฝั่งเด็กชายภูริ ปึงพิพัฒน์ตระกูล อายุ 11 ปี จากโรงเรียนนานาชาติปัญญาเด่น จ.เชียงใหม่ หนุ่มน้อยในมาดสุขุมผู้ชนะแกรนด์ไพรส์จากเปียโนโซโล่ ซึ่งชื่นชอบและหลงใหลเสียงดนตรีมาตั้งแต่เด็กๆ และเปียโนก็เป็นเครื่องดนตรีแรกที่เรียน ทุกครั้งที่ได้สัมผัสเปียโนและเห็นตัวโน้ตก็จะเล่นดนตรีอย่างมีความสุข
น้องภูริ เปิดใจว่า “การได้มาแสดงต่อหน้าคณะกรรมการจะตื่นเต้นและประหม่าในเสมอ แต่ในการประกวดครั้งนี้ได้มีการเตรียมตัวมาอย่างดีประกอบกับประสบการณ์ที่ผ่านมาทำให้ลดความตื่นเต้นลงไปได้มาก ตอนแรกไม่คาดหวังเลยว่าจะเป็นผู้ชนะในรายการนี้ เพราะว่าเพื่อนๆ ที่มาเข้าร่วมแข่งขันก็เก่งกันทุกคนเลย แต่พอประกาศว่าเราได้เป็นผู้ชนะก็ตกใจ ดีใจและภูมิใจกับสิ่งที่ทุ่มเทมาตลอดครับ ในส่วนความประทับใจอย่างหนึ่งคือได้มีโอกาสร่วมแสดงกับวงไทยซิมฯ เพราะในชีวิตไม่เคยมีโอกาสร่วมเล่นกับวงออร์เคสตรามืออาชีพระดับประเทศ ซึ่งเพลงที่ผมเล่นตอนประกวด มันถูกออกแบบให้เปียโนเล่นเดี่ยว แต่เมื่อได้มีการเรียบเรียงเพลงใหม่เพื่อเล่นร่วมกับวงไทยซิมฯ ก็ดีใจและประทับใจมากครับ ที่ครั้งหนึ่งได้มีโอกาสเล่นเพลงร่วมกับวงออร์เคสตรามือหนึ่งของประเทศครับ”
ปิดท้ายด้วย อาจารย์สุกรี เจริญสุข ประธานมูลนิธิอาจารย์สุกรี เจริญสุข ได้กล่าวถึงว่า “Practice makes perfect อัจฉริยะมาจากการฝึกฝน สมัยก่อนเราเชื่อว่าเด็กเก่งมาจากพรสวรรค์ แต่ตอนนี้มันพิสูจน์แล้วว่ามันเป็นความเชื่อ ฉะนั้นเด็กที่เก่งดนตรี มาจากการฝึกฝนเท่านั้น กระบี่อยู่ที่ใจ เสียงดนตรีอยู่ที่ใจ อาวุธอยู่ที่ใจ ดนตรีนี้เหมือนภาษาเพราะว่าเด็กเป็นลูกของสิ่งแวดล้อม สิ่งแวดล้อมเป็นยังไงเด็กก็จะเป็นเช่นนั้น เพราะฉะนั้นเด็กที่อยู่กับครูที่เก่ง กับเพื่อนที่เก่งได้เห็นของดี เห็นคนเก่ง เด็กก็จะทะเยอทะยานไปสู่ความเก่งอันนั้น นั่นคือสิ่งแวดล้อม”
ขณะที่อาจารย์สุกรีได้กล่าวว่า การแข่งขันดนตรี SIMC นี้ก็ได้เป็นอีกก้าวหนึ่งของการสร้างมาตรฐานให้กับการประกวดดนตรีของไทย เพราะ “การประกวดคุณภาพที่ได้มาตรฐานในบ้านเรานั้น ต้องคัดสรรคณะกรรมการที่เก่ง เป็นคนที่มีความสามารถ มีตัวตนของเค้าอย่างชัดเจน นอกจากนี้กรรมการที่เก่งยังไม่พอ ต้องดีด้วย เมื่อเก่ง ดีแล้ว ทุกคนก็จะมีความสุข เมื่อเด็กเก่ง กรรมการเก่ง ครูก็ต้องเก่งด้วยจะทำให้คนมีพลัง ทำให้คนมีความเชื่อมั่น มีความมั่นคง เมื่อรวมกันมันทำให้เกิดความสุข รอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความปีติสุข ที่เกิดขึ้นจากความสุข ที่สำคัญคือ ความรู้สึกที่ทำให้เกิดอยากให้ อยากแบ่งบัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นพื้นฐานของการจัดงานในครั้งนี้ และเมื่อทุกอย่างรวมกัน คือราคาความน่าเชื่อถือของการจัดการแข่งขันในครั้งนี้”
“สำหรับผมมาตรฐานมันอยู่ใต้รองเท้า พื้นฐานที่สุดคือมาตรฐาน แต่หากจะพูดถึงมาตรฐานมันยาก เราขึ้นไปสูงกว่าสแตนดาร์ดแล้ว การจัดการประกวด คือ การยกเบสิคพื้นฐานทั้งหมดให้พ่อแม่ผู้ปกครองเป็นคนพัฒนาลูกหลาน ให้ครูไปทำ มาประกวดที่นี่คือการสร้างต้นแบบการประกวดดนตรี ผู้มาประกวดได้รางวัลก็เป็นเพียงเบสิคเบื้องต้นไม่ใช่จุดสุดยอด แต่เป็นเบื้องต้นที่ยังมีหนทางข้างหน้าอีกยาวไกล”
อาจารย์สุกรี ได้กล่าวถึงผู้ที่สนใจอยากเข้าร่วมประกวด SIMC ในครั้งถัดไปว่า “ต้องเตรียมตัวที่ดีที่สุด ถ้ายังไม่ชนะแสดงว่ายังเตรียมตัวไม่พร้อม ไม่ดีพอ ไม่ใช่ว่าไม่ได้รางวัลแล้วยอมแพ้ ท้อถอยนั่นไม่ไหว นั่นแสดงว่าเค้ากำลังแพ้ตัวเอง เพราะเราต้องแข่งกับตัวเอง ไม่ใช่แข่งกับคนอื่น ถ้าหากใจไม่สู้ แสดงว่าความเป็นเลิศชัยชนะไม่ได้มาจากความสามารถเป็นคนเก่งเท่านั้น แต่มันขึ้นกับขนาดของหัวใจ ความเก่งเท่าเทียมกันหมด แต่ขนาดของหัวใจไม่เท่ากัน ชัยชนะไม่ได้อยู่ที่ความสามารถและฝีมือเท่านั้น แต่ขึ้นอยู่กับขนาดหัวใจ”
ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/sugreeimc