เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. นายเทพสุ บวรโชติดารา รองเลขาธิการ ปปง. รักษาราชการแทนเลขาธิการ ปปง. กล่าวว่า ตามที่ได้มีสื่อมวลชนนำเสนอข่าวการดำเนินคดีกับนายชัยณัฐร์ กรณ์ชายานันท์ หรือนายตู้ห่าว ซึ่งเป็นคดีที่อยู่ในความสนใจของสื่อมวลชนและประชาชนนั้น ในการนี้ สำนักงาน ปปง. ขอเรียนต่อสื่อมวลชนและประชาชนเพื่อทราบถึงการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (สำนักงาน ปปง.) ดังนี้ ตามมาตรา 40 (5) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 บัญญัติให้สำนักงาน ปปง. มีอำนาจหน้าที่ในการเก็บรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด โดยกรณีการดำเนินคดีกับนายตู้ห่าวนั้น สำนักงาน ปปง. ได้มีการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายมาอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ในการรวบรวมพยานหลักฐานและการขยายผลการตรวจสอบเพื่อยึดหรืออายัดทรัพย์สิน สำนักงาน ปปง. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับ สน.ยานนาวา กรมศุลกากร สำนักงาน ป.ป.ส. และคณะทำงานของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. มาโดยตลอด

นายเทพสุ กล่าวอีกว่า มีการประสานงานเพื่อรับและส่งข้อมูลธุรกรรมทางการเงิน การวิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงินของเครือข่ายนายตู้ห่าว ซึ่งมีการบูรณาการการทำงานร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติมาก่อนที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติจะเข้าดำเนินการตรวจค้นทั้งผับจินหลิงและผับท็อปวัน ซึ่งพบว่ามีกลุ่มทุนจีนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกันทั้งในพื้นที่ จ.ชลบุรี พื้นที่เมืองพัทยา และพื้นที่ จ.ภูเก็ต ทั้งนี้การเข้าตรวจค้นผับจินหลิงและผับท็อปวันของสำนักงานตำรวจแห่งชาตินั้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินของสำนักงาน ปปง. โดย ปปง. ได้มอบหมายผู้แทนให้เข้าร่วมประชุมวางแผนกับคณะทำงานของ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาโดยตลอด รวมทั้งเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 65 ที่ผ่านมา ได้เข้าร่วมการตรวจยึดเครื่องบินของนายตู้ห่าวในพื้นที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นายเทพสุ กล่าวด้วยว่า ส่วนกรณีการจับกุมและดำเนินคดีกับนายตู้ห่าวนั้น นอกจากสำนักงาน ปปง. จะได้ร่วมบูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ยังได้สนับสนุนข้อมูลการตรวจสอบและวิเคราะห์ข้อมูลการทำธุรกรรมทางการเงินข้างต้น ซึ่งเป็นการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการรับหรือส่งรายงานหรือข้อมูลเพื่อปฏิบัติการตามกฎหมายอื่นตามมาตรา 40 (3) แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เพื่อใช้เป็นพยานหลักฐานในการพิสูจน์หาความเชื่อมโยงของบุคคลผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ในการโอน รับโอนหรือเปลี่ยนสภาพทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือกระทำด้วยประการใดๆ เพื่อปกปิดหรืออำพรางลักษณะที่แท้จริง การได้มา แหล่งที่ตั้ง การจำหน่าย การโอน การได้สิทธิใดๆ ซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันอาจเป็นการกระทำความผิดฐานฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนั้น เพื่อประโยชน์ในการสืบสวนสอบสวน รวบรวมพยานหลักฐาน และมิให้เสียหายต่อรูปคดี สำนักงาน ปปง. จึงต้องดำเนินการในเรื่องดังกล่าวโดยทางลับ และยังไม่อาจเปิดเผยหรือประชาสัมพันธ์หรือให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนก่อนได้

นายเทพสุ กล่าวต่อว่า การดำเนินการเกี่ยวกับคดีนายตู้ห่าวนั้น สำนักงาน ปปง. ขอยืนยันว่าได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว และไม่ได้มีการเพิกเฉยต่อการปฏิบัติหน้าที่แต่อย่างใด อีกทั้งเนื่องจากพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 25 กำหนดให้คณะกรรมการ ปปง. มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแล ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติของสำนักงาน ปปง. รวมทั้งมีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแล และควบคุมให้คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงาน ปปง. และเลขาธิการ ปปง. ปฏิบัติหน้าที่อย่างเป็นอิสระและสามารถตรวจสอบได้ด้วยเหตุนี้ สำนักงาน ปปง. จึงได้ให้ความสำคัญกับการดำเนินการกับทรัพย์สินในคดีนายตู้ห่าวมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า สำนักงานอัยการสูงสุดอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินคดีฐานมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ พ.ศ. 2556 ซึ่งเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และหากมีความชัดเจนในฐานความผิดดังกล่าว สำนักงาน ปปง. จะพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยเร็วต่อไป.