รอแล้วรอเล่า!! สำหรับของขวัญปีใหม่จากรัฐบาล “บิ๊กตู่” จากเดิมที่บอกจะส่งเข้า ครม.ประกาศได้ภายในเดือน พ.ย.65 แต่ทำไปทำมาก็ยังไม่ออกมาเสียที เพราะแว่วข่าวว่าบางกระทรวงทำงานล่าช้า ของขวัญเสร็จไม่ทันกำหนด จนทำให้เพื่อน ๆ ที่ทำเสร็จแล้วช้าไปด้วย เพราะต้องรอส่งเข้าที่ประชุม ครม.พร้อม ๆ กันออกมาเป็นแพ็กเกจใหญ่ตามสไตล์ของบิ๊กตู่ ว่ากันว่า…ครม.วันที่ 20 ธ.ค.นี้ “บิ๊กตู่” จ่อเคาะของขวัญชิ้นงาม ส่วนจะมีอะไรบ้าง? คงต้องรอลุ้น

แม้ของขวัญปีใหม่จะมาล่าช้า แต่ดูแล้วไม่มีทีเด็ดให้ตื่นเต้น เร้าใจ ถึงกับร้องว้าวเสียด้วย เพราะจากที่ไปคุ้ยแคะแกะเกา ต้องบอกว่า…ของขวัญปีใหม่รอบส่งท้ายรัฐบาลชุดนี้ เป็นเหมือนแค่เหล้าเก่าในขวดใหม่ ด้วยการหยิบงานประจำทั่วไป หรือผลงานที่ทำกันมาอยู่แล้ว นำมาห่อของขวัญ ผูกโบให้ดูเก๋ ๆ ที่สำคัญ!! ปีนี้กระทรวงการคลัง โต้โผใหญ่ที่ต้องชั่งน้ำหนักเรื่องเงิน เรื่องภาระงบประมาณ และเศรษฐกิจประเทศ ได้ระบุไว้ชัดเจนว่า…ปีนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นแล้วดังนั้น!! ความหวังที่จะเห็นมาตรการลดแลกแจกแถมสะบั้นคงมีน้อย

ส่งช้อปดีมีคืนชูโรง

อย่างไรก็ตามความหวังของประชาชนคนไทยตาดำ ๆ จะสมหวังมากน้อยเพียงใด ทีม “เศรษฐกิจเดลินิวส์” ได้สำรวจของขวัญปีใหม่ที่สารพัดหน่วยงานเตรียมไว้ เริ่มจาก…กระทรวงการคลัง ที่คาดว่าจะมีมาตรการชูโรงออกมามากสุด อย่าง มาตรการช้อปดีมีคืน ที่จะนำกลับมาอีกครั้ง เปิดให้นำค่าใช้จ่ายจากการซื้อสินค้าและบริการ มาลดหย่อนภาษีได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง ซึ่งแม้ทำมาหลายรอบแล้ว แต่ที่เพิ่มในปีหน้า ก็คือขยายวงเงินใช้จ่ายเพิ่มเป็นสูงสุด 40,000 บาท แบ่งเป็นวงเงินซื้อสินค้าและบริการไม่เกิน 30,000 บาท และที่เพิ่มเติมใหม่คือการใช้ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์อีก 10,000 บาทเพื่อส่งเสริมสังคมไร้เงินสด โดยเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค.-15 ก.พ. 66 รวม 46 วัน 

สินค้าที่นำมาลดหย่อนได้ ก็เหมือนกับปีก่อน ๆ ยกเว้นค่าซื้อสุรา เบียร์ ไวน์ ยาสูบ รถยนต์ จักรยานยนต์ เรือ ค่าที่พักโรงแรม ค่าไกด์นำเที่ยว ค่าสาธารณูปโภค ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต และค่าเบี้ยประกัน คาดว่าจะทำให้กรมสรรพากร สูญเสียรายได้กว่า 8,200 ล้านบาท แต่จะส่งผลดีให้เกิดเงินหมุนในระบบกว่า 56,000 ล้านบาท   

อกหักไร้คนละครึ่ง 

อย่างไรก็ดี มาตรการที่ประชาชนส่วนใหญ่เฝ้าหวังอย่าง คนละครึ่ง ต้องอกหักเป็นเสี่ยง ๆ เพราะ รมว.คลัง ยืนยันว่าขณะนี้เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวจึงไม่จำเป็นต้องมีอีก นอกจากมาตรการใหญ่แล้ว กระทรวงการคลังยังมีมาตรการอื่น ๆ ยิบย่อย แต่เน้นเป็นมาตรการเดิม ๆ ที่มีอยู่แต่ต่ออายุใช้ให้ยาวขึ้นเท่านั้น เช่น การขยายเวลาลดภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินไอพ่นที่ใช้ในประเทศเหลือลิตรละ 0.20 บาท เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และลดค่าเดินทางให้ประชาชน มาตรการลดค่าเช่าที่ราชพัสดุของกรมธนารักษ์ โดยเฉพาะที่สำหรับอยู่อาศัย และการเกษตร  

ขณะเดียวกันต้องจับตามาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติมแก่ผู้มีรายได้น้อย บัตรคนจน รวมถึงกลุ่มเปราะบางที่อาจมีเซอร์ไพร้ส์ออกมาได้เช่นกัน รวมถึงมาตรการของสถาบันการเงินรัฐ เช่น การเพิ่มรางวัลพิเศษสำหรับสลากออมสิน รวมถึงมอบของขวัญปีใหม่สำหรับลูกค้าสินเชื่อที่มีวินัย ผ่อนชำระดีจะได้รับเงินคืนเข้าบัญชี 500-1,000 บาท 

กยศ.ลดดอกเบี้ยปรับ

ขณะที่ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่มีลูกหนี้เป็นล้านคน ก็มอบของขวัญด้วยการขยายมาตรการลดหย่อนหนี้ ต่ออีก 6 เดือน จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธ.ค.65 ไปสิ้นสุด 30 มิ.ย.66 โดยรายละเอียดมาตรการลดหย่อนหนี้ อาทิ ลดดอกเบี้ยเงินกู้ยืมจากเดิม 1% เป็น 0.01% ต่อปีสำหรับผู้กู้ยืมที่ผ่อนดี และลดเงินต้น 5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ไม่เคยเป็นผู้ผิดนัดชำระหนี้และต้องการปิดบัญชีในคราวเดียว ลดเบี้ยปรับ 80% สำหรับผู้กู้ที่ยังไม่ถูกดำเนินคดีที่ชำระหนี้ค้างทั้งหมดให้มีสถานะปกติ รวมถึงลดเบี้ยปรับเหลือ 0.5% สำหรับผู้กู้ยืมเงินที่ยังไม่ถูกดำเนินคดี นอกจากนี้ยังลดเบี้ยปรับ 100% สำหรับคนที่ปิดบัญชีด้วย  

มุกเก่าเล่าใหม่  

ด้าน “กระทรวงพาณิชย์” ที่ต้องดูแลปากท้องประชาชนคนทั้งชาติ ก็ครองความสม่ำเสมอนำของเก่ามาปรับใหม่ โดยการนำ โครงการลดค่าครองชีพประชาชน ที่เปลี่ยนจากพาณิชย์ลดราคา หรือธงฟ้า มาเป็น “นิว เยียร์ แกรนด์ เซล 2023” นำสินค้าและค่าบริการมาลดราคาพิเศษ รวมถึงขยายสิทธิต่าง ๆ อาทิ บริการออนไลน์ให้บริการประชาชนนอกเวลาทำการ ลดค่าธรรมเนียม ส่วนลด จัดกิจกรรมงานแสดงและจำหน่ายสินค้า รวมถึงส่งเสริมให้ความรู้ในการประกอบธุรกิจ ตลอดจนผลักดันประกันรายได้เกษตรกร 5 ชนิด ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา 

สำหรับแพ็กเกจปีใหม่กระทรวงพาณิชย์ จะเริ่มได้ตั้งแต่เดือน ธ.ค.65 ถึงเดือน ก.พ.66 เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชนในเทศกาลปีใหม่ยาวถึงเทศกาลตรุษจีนปีหน้า ซึ่งเป็นการร่วมมือกับภาคเอกชน โดยบรรดาห้างค้าปลีกและผู้ให้บริการต่าง ๆ พร้อมใจกันร่วมลดราคา เช่น สายการบินจัดโปรโมชั่นตั๋วเครื่องบินราคาพิเศษ โปรโมชั่นพิเศษจากแพลตฟอร์มฟู้ดดิลิเวอรี่ เป็นต้น

เปิดผับตีสี่เที่ยวด้วยกัน

ขณะที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ดูแล้วพอจะเห็นเนื้อเห็นหนังมากสุด เพราะถือว่าเข้ามาช่วยเติมเต็มชีวิต ในช่วงที่คนไทยอยากเดินทางพักผ่อนสุดขีด โดยจะเสนอ 3 มาตรการใช้งบกว่า 8,700 ล้านบาท ก้อนแรกทำโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 วงเงิน 5,400 ล้านบาท หวังแจกสิทธิต่ออีก 1.5 ล้านสิทธิต่อคืนต่อห้อง ทั้งมอบส่วนลดที่พัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาท คูปองอาหารและท่องเที่ยว มอบส่วนลด 40% สูงสุดไม่เกิน 600 บาท แต่สิทธิขอคืนเงินค่าตั๋วเครื่องบินจะไม่มีแล้ว ส่วนอีกก้อนจะทำมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยว 3,300 ล้านบาท แทนมาตรการบูสเตอร์ช็อต วางเป้าหมายกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งระบบ และมาตรการสุดท้าย ถือเป็นของใหม่แกะกล่องซึ่งต้องลุ้นว่าจะผ่านหรือไม่ คือการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจากตีสองเป็นตีสี่ เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยว โดยปักหมุด แหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยม  8 จังหวัด เช่น ถนนข้าวสาร ถนนพัฒน์พงศ์ ถนนเพลินจิตเชื่อมโยงถึงแยกอโศกในกรุงเทพฯ ถนนบางลาภูเก็ต อ่าวนาง จ.กระบี่ เขาหลัก จ.พังงา เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี วอล์คกิ้ง สตรีท จ.ชลบุรี หัวหินจ.ประจวบคีรีขันธ์ และ จ.เชียงใหม่ 

งานประจำคือของขวัญ

หันมาที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ของขวัญที่เตรียมไว้ให้กับประชาชนในช่วงปีใหม่ก็ดูแล้วงง ว่าแตกต่างจากงานประจำอย่างไร อาทิ การแจ้งเตือนภัยการหลอกลวงทางสื่อออนไลน์และข่าวปลอม ให้กับประชาชนผ่านแอพพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ที่มีคนไทยใช้งานกว่า 40 ล้านคน ป้องกันมิจฉาชีพหลอกลวง และแจ้งเตือนให้มีความรวดเร็วมากขึ้น ส่วนหน่วยงานในสังกัดอย่าง… สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือเอ็ตด้า ก็เตรียมลงพื้นที่ให้ความรู้ และส่งเสริมให้ผู้ประกอบการโดยเฉพาะบรรดาเอสเอ็มอี รวมถึงประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ มากกว่า 10 จังหวัดในปีหน้า เพื่อเข้าไปพัฒนาทักษะประชาชน ขณะเดียวกันในส่วนของบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือ ปณท ก็จัดโปรโมชั่นมอบส่วนลดค่าส่งอีเอ็มเอสในช่วงปีใหม่ หรือจะเป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที ก็เปิดให้ลูกค้าที่ใช้บริการโทรศัพท์บ้าน เน็ตบ้าน และมือถือรับสิทธิใช้ฟรี ในช่วงปีใหม่ด้วยเช่นกัน   

รมว.อุตฯ ยังเมิน

เช่นเดียวกับ “กระทรวงอุตสาหกรรม” ที่เตรียมของขวัญรอเแจกทั้งประชาชน และผู้ประกอบการกว่า 17 โครงการ จำนวนดูเยอะ แต่ส่วนใหญ่เป็นโครงการที่เหมือนเดิมเคยทำมาแล้ว ขนาดเจ้ากระทรวง “สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ” รมว.อุตสาหกรรม เห็นแล้วยังมึน จนต้องสั่งการให้ไปหาของขวัญใหม่ว้าว ๆ มาเพิ่ม เบื้องต้นที่นำเสนอ เช่น ให้สินเชื่อพิเศษดีพร้อมเปย์ วงเงิน 70 ล้านบาท ให้เงินกู้ระยะสั้น วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 2 ล้านบาท ต่อเวลายกเว้นค่าธรรมเนียมรายปีให้ผู้ประกอบกิจการโรงงาน จากหมดอายุ 9 มิ.ย.66 ไปเป็น 9 มิ.ย.67 รวมทั้งลดค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนเครื่องจักรปี 66 ที่จะขยายข้ามปีไปถึง 21 ม.ค.67  

ขณะที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เอส หรือ มอก.เอส ไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายเพิ่ม รวมทั้งให้ส่วนลดการจำหน่ายมาตรฐานไอเอสโอและไออีซี อัตรา 30% ของราคามาตรฐาน และของกระทรวงอุตฯ ยังมีโครงการกระจายรายได้ให้ประชาชน ทั้งโครงการพัฒนาอาชีพเสริม เพิ่มรายได้ให้ชุมชนดีพร้อม 7 แสนรายทั่วประเทศ คาดจะทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจไม่น้อยกว่า 12,490 ล้านบาท รวมทั้งชดเชยดอกเบี้ยให้เกษตรกรชาวไร่อ้อย บริหารจัดการแหล่งน้ำ และซื้อเครื่องจักรกลการเกษตรในไร่อ้อย เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

ค่าไฟเอ็นจีวีพุ่งต่อ  

ปิดท้ายกันที่ กระทรวงพลังงาน ที่ถูกคาดหวังว่าจะมีอะไรดีมาช่วยเหลือประชาชนจริง ๆ หลังจากปีที่ผ่านมาต้องทนทุกข์
กับภาวะน้ำมันเบนซิน ดีเซล ก๊าซหุงต้ม ปรับขึ้นแบบอุตลุด แต่สุดท้ายสิ่งที่ทำได้ดีสุด คือประคองไม่ให้แย่ไปกว่าเดิม ประกาศตรึงราคาก๊าซหุงต้มภาคครัวเรือนถัง 15 กก. ที่ 408 บาทต่อไปอีกแค่เดือนเดียวถึง 31 ม.ค.66 ขยายเวลาลดค่าซื้อก๊าซแอลพีจี สำหรับผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อคน ต่อ 3 เดือน ขยายเวลาลดค่าซื้อก๊าซแอลพีจี สำหรับกลุ่มหาบเร่ แผงลอย 100 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ตรึงราคาน้ำมันช่วงปีใหม่ตั้งแต่ 24 ธ.ค.65 – 3 ม.ค.66 แต่ค่าก๊าซเอ็นจีวีกลับเพิ่มขึ้นอีก กก.ละ 1 บาท  

ที่เหลือเป็นมาตรการยิบย่อย เช่น นำรถยนต์เข้าตรวจสภาพฟรีได้กว่า 35 รายการ ลดค่าที่พักเขื่อนของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำหน่ายผลิตภัณฑ์ชุมชนราคาพิเศษ และแจกน้ำดื่มประชาชนเดินทางกลับบ้านกว่าล้านขวด ขณะที่มาตรการค่าไฟก็จะคงค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) เท่าเดิมอีก 4 เดือน ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย แต่ที่ร้องโอ้ยเยอะหน่อย คือภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมที่จะถูกขึ้นค่าไฟเป็นหน่วยละ 5.69 บาท ซึ่งห่วงว่า จะมีกระทบค่าไฟฟ้าตามมาอีกเพียบ แว่วมาว่ากระทรวงฯ เตรียมจัดมาตรการช่วยค่าไฟอีกรอบ ไม่รวมกับ กกพ. รอลุ้นกันว่าจะออกมาถูกใจหรือไม่!!!

ก่อนหน้านี้โฆษกรัฐบาลออกมาระบุถึงผลสำรวจของขวัญปีใหม่ที่คนไทยต้องการ โดยเป็นการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ หรือสสช. ที่ออกสำรวจความคิดเห็นสมาชิกในครัวเรือนที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป จำนวน 6,970 ราย ระหว่างวันที่ 17-31 .. ที่ผ่านมา ซึ่งใน 5 เรื่องสำคัญนั้นพบว่า เรื่องแรกที่คนไทยอยากได้ก็หนีไม่พ้นการควบคุมราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รองลงมา คือ ลดค่าไฟฟ้า ค่าน้ำประปา อันดับ 3 คือ เร่งแก้ปัญหาด้านการเกษตร เช่น ราคาพืชตกต่ำ จัดหาตลาดรองรับผลผลิต และราคาปุ๋ยแพง ต่อด้วยอันดับที่สี่ คือ เรื่องของการแก้ปัญหาการว่างงาน และเรื่องสุดท้ายที่คนไทยยังคงต้องการต่อเนื่อง คือมาตรการมาช่วยเหลือเยียวยา อย่างโครงการคนละครึ่ง บัตรคนจน การลดค่าไฟฟ้า โครงการเราชนะ โครงการ ม.33 เรารักกัน เป็นต้น เพราะเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ต่อประชาชนในชุมชน ในหมู่บ้าน ทั่วประเทศ มากที่สุด

 เหล่านี้เป็นหน้าตาของขวัญปีใหม่ของรัฐบาลในช่วงส่งท้ายก่อนเดินหน้าเข้าสู่หมวดการเลือกตั้ง จะถูกใจมากน้อยแค่ไหนก็ลองถามใจตัวเอง!!.

…ทีมเศรษฐกิจ…