เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นายชัยยา ห้วยหงษ์ทอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ พร้อมเจ้าหน้าที่และกลุ่มนักอนุรักษ์ ออกตรวจพื้นที่หน่วยพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ขญ.2 ผากระดาษ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา เข้าตรวจสอบกระทิงเพศเมีย อายุประมาณ 18-20 ปี ตาบอดทั้ง 2 ข้าง ที่เจ้าหน้าที่นำมาดูแลหลังออกมาหากินนอกแนวเขตอุทยาน ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย. ที่ผ่านมา และนำมาดูแลอนุบาลช่วงบั้นปลายชีวิต ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขญ.2 ผากระดาษ

ผู้ที่พบเห็นต่างพูดว่า กระทิงตัวนี้ลักษณะคล้ายกระทิงชื่อ มะลิ ที่มีชาวไร่พบเห็นมีสุนัขจิ้งจอกไล่กัดจนมีบาดแผลในพื้นที่ อ.โป่งตาลอง อ.ปากช่อง อายุประมาณ 4-5 เดือน แล้วนำมาให้เจ้าหน้าที่หน่วยพิทักษ์อุทยานฯ ขญ.2 ผากระดาษ เลี้ยงดูแลไว้เมื่อ 18-20 ปีก่อน จนต่อมา พระเทพวิทยาคม (คูณ ปริสุทโธ) หรือ หลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ เจ้าอาวาสวัดบ้านำไร่ อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ทราบข่าวจึงได้เดินทางมาดู พร้อมขอเป็นผู้ดูแลอุปถัมภ์ ค่าใช้จ่ายการเลี้ยงดู และตั้งชื่อว่า มะลิ

ซึ่งกระทิง มะลิ เชื่องมาก ผูกพันกับเจ้าหน้าที่ เดินหากินในสนามหน่วยพิทักษ์จนโตเต็มวัยสาว และได้มีกระทิงหนุ่มมาผสมพันธุ์จนตั้งท้องและออกลูก เพศผู้ หลวงพ่อคูณ ได้ตั้งชื่อให้คือ เจ้าทองแดง เมื่อแม่มะลิเลี้ยงลูกทองแดงโตได้พาลูกออกหากินหายเข้าป่าเมื่อประมาณ พ.ศ. 2558 และไม่กลับมาอีกจนถึงปัจจุบันทั้งแม่มะลิและเจ้าทองแดง ช่วงปีเดียวกับท่านหลวงพ่อคูณมรณภาพ

ด้าน นายสัตวแพทย์ (น.สพ.) ภัทรพล มณีอ่อน หัวหน้ากลุ่มงานจัดการสุขภาพสัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กล่าวว่า หลังนำกระทิงเพศเมีย ตาบอด 2 ข้างมาดูแลที่หน่วยผากระดาษ ที่กำเนิดแม่มะลิพบว่าน่าแปลกใจ ปกติถ้าเป็นกระทิงป่าเมื่อได้กลิ่นมนุษย์จะตื่นตระหนกตกใจ ระแวงระวังตัว แต่กระทิงเพศเมียตัวนี้ ยอมให้เจ้าหน้าที่อาบน้ำจับลูบหัวและตัวได้ เชื่อง และรูปพรรณคล้ายกระทิงแม่มะลิ หรืออาจจะเป็นแม่มะลิคืนถิ่น จึงตั้งชื่อให้ว่า แม่มะลิ ตาบอดคืนถิ่น ปัจจุบันนำเชือกผูกคอ ล่ามให้กินหญ้าตามบริเวณสนามหญ้าบริเวณหน่วยพิทักษ์ผากระดาษ