ศิลปิน NFT Art ถือเป็นอาชีพที่ใหม่มาก ๆ สำหรับสังคมไทย เพราะเป็นโลกใหม่ที่หลาย ๆ คนยังไม่รู้จัก ยังไม่คุ้นเคย และวันนี้ “พี่เช Teen Zone” ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “วิว-พุธิตา มูลรัตน์” หรือ “วิว Pony cat” ศิลปิน NFT Art หรือ Crypto Art เจ้าของผลงาน Pony Cat ที่ทาสแมวหลายคนชื่นชอบ ซึ่งผันตัวเองจากงานประจำ ลาออกมาประกอบอาชีพเป็นศิลปิน NFT Art แบบเต็มตัว หลังเจอจุดเปลี่ยนสำคัญในห้อง ICU สู่การตามความฝันที่เคยละทิ้งมันไปแล้ว
โดย วิว Pony cat จะมาเล่าให้พวกเราฟังกันว่า…
NFT คืออะไร?
NFT Art คืออะไร?
ศิลปิน NFT Art สามารถทำเป็นอาชีพจริงจังได้หรือไม่?
หากคุณอยากเป็นศิลปิน NFT Art ต้องทำอย่างไรบ้าง?
ไปทำความรู้จัก “วิว Pony cat” และทำความรู้จักกับโลกของ NFT Art กันได้เลย…
แนะนำตัวหน่อยครับ
“สวัสดีค่ะ วิวนะคะ ในนามของ NFT ชื่อ วิว Pony cat เพราะว่าเราทำคอลเลกชั่น Pony Cat ทำมาตั้งแต่วันที่ 15 มีนาคม 2022 ก็ประมาณ 8 เดือนกว่า ๆ”
ตอนนี้วิวทำอะไรอยู่บ้าง?
“ณ ปัจจุบัน ทำ NFT คอลเลกชั่น อย่างเดียวเลย เป็น NFT Art ก่อนหน้านี้ทำงานประจำค่ะ แต่มีปัญหาเรื่องสุขภาพ หากยังทำงานประจำอยู่ คงไม่สามารถมาเวย์นี้ได้แน่นอน เพราะวนเวียนอยู่ในวัฏจักรของมนุษย์เงินเดือน ณ ตอนนั้น วิวทำงานหนัก เคร่งเครียดกับการทำงานมาก จริงจังกับงานมาก เป็นงานเกี่ยวกับตัวเลขยอดขาย จนทำให้วันหนึ่งวิวป่วยหนักต้องเข้าห้อง ICU วิวก็เลยคิดขึ้นมาว่า วิวต้องทำอะไรเพื่อตัวเองแหละ แล้วมีคนมาแนะนำว่า มันมีเวที NFT ให้เราสามารถโชว์ผลงานศิลปะได้ เราไม่ได้คิดถึงเรื่องรายได้ ก็เลยลองดูก่อน เก็บเป็นแกลลอรี่ของเรา นี่คือจุดเริ่มต้นที่ได้มาเป็นศิลปิน NFT Art ตอนนี้ก็ทำ NFT อย่างเดียวเลย 100% ไม่ได้ทำงานประจำแล้ว เพราะว่าตอบโจทย์อะไรหลาย ๆ เรื่อง ได้บำบัดด้วย ได้ดูแลสุขภาพด้วย ได้มีเวลาให้กับตัวเอง”
ก่อนหน้านี้วิววาดรูปอยู่แล้วหรือเปล่า?
“ตอนแรกครอบครัวของวิว ไม่สนับสนุนการวาดรูป เพราะเขามองว่าศิลปินไส้แห้ง อย่าไปเวย์นี้ แต่ว่าตอนมัธยม วิวชอบที่จะวาดรูปอยู่แล้ว ก็แอบไปเข้าชมรม ชอบไปศึกษาหาความรู้กับอาจารย์ เค้าก็จะมีส่งนักเรียนไปวาดรูปประกวด วิวก็ส่งงานประกวดจนได้รางวัลพระราชทานจากพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลีฯ เป็นรางวัลอันดับ 2 จากนั้นก็ได้ไปออกงานที่ประเทศจีนด้วย เป็นงานที่เราภาคภูมิใจที่สุด แต่ก็เป็นแค่งานอดิเรก เพราะที่บ้านอยากให้ไปทางสายวิชาการมากกว่า พอมองย้อนไปถึงวัยเด็กของเรา ตอนนั้นคือช่วงเวลาที่ดี ช่วงที่ได้ทำตามความสุขของเรา แต่พอโตขึ้น ด้วยภาระหน้าที่ เราต้องหาเงิน คือตัวแปรสำคัญ แต่เวที NFT Art มันเหมาะกับทุกคน ที่จะได้ทำตามความฝัน หรือคนที่อยากจะกลับมาทำงานศิลปะอีกครั้ง ไม่จำเป็นต้องเก่งมาก เพราะเวที NFT มันกว้างมาก”
แล้วตอนนี้คุณพ่อคุณแม่พูดว่าอย่างไรบ้าง? เพราะเรามาเป็นศิลปิน NFT Art เต็มตัวแล้ว
“คุณพ่อคุณแม่ก็เข้าใจ ตอนนี้ก็สนับสนุนแล้ว เพราะเราผ่านจุดที่ว่าทำงานจนจะตายมาแล้ว ล้มหน้างานเลย ต้องเข้า ICU ถ้าวันนั้นเราไม่ฟื้น เราไม่ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง เราก็คงไม่ได้กลับมาวาดรูปอีก เราก็จะตายไปแบบพนักงานคนหนึ่งที่ทำงานเพื่อบริษัทหนึ่งเท่านั้น วิวมองว่าการมาทำตรงนี้ไม่จำเป็นต้องเก่ง มันพัฒนาได้ แล้วศิลปะมันไม่มีคำว่าผิดคำว่าถูก มันอยู่ที่ความชอบ ความรัก ความสุข แล้วเวที NFT มันต่างจากเวทีอื่น เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียงมาก่อน ไม่จำเป็นต้องจบสถาบันศิลปะที่มีชื่อเสียง ก็สามารถมาทำตรงนี้ได้ พอเราปล่อยงานออกไป ทั่วโลกเห็นหมด”
ทำไมตอนนั้นถึงป่วยหนัก?
“คือเราไฟแรงจบใหม่ ก็ลุยงานหนัก กินข้าวไม่ตรงเวลา ไม่ค่อยพักผ่อน เครียด ไม่ได้ระบาย วันหยุดก็ยังทำงาน จนเกิดอาการเกร็งแล้วก็หมดสติไป หมอก็กลัวเราจะเป็นลมชัก ก็เลยส่งเข้า ICU ดูคลื่นหัวใจ ดูโน่นนี่นั่น สรุปคือเครียดเกินไป พักผ่อนไม่เพียงพอ ไม่ทานอาหาร สุดท้ายเราก็ปรึกษาคุณแม่ ก็ตัดสินใจลาออกเพื่อมาดูแลสุขภาพ”
แล้วเรามารู้จัก NFT Art ได้ยังไง?
“วิวเป็นคนไม่เล่นโซเชียล ไม่รู้เรื่องเลย แฟน (จ.ส.อ.พิธิวัต ไทยพาท) เป็นคนมาเล่าให้ฟัง เค้าศึกษาจากเพื่อนที่เป็นนักลงทุน ศึกษาเรื่องการลงทุน Cryptocurrency จากนั้นก็เลยเริ่มรู้จักคำว่า NFT แล้วค่อยรู้ว่ามันมี NFT Art แฟนก็มาถามว่าอยากกลับมาวาดรูปไหม มันมีทำงาน Art ไปขายได้นะ เอาจริง ๆ วิวขอบคุณการเข้า ICU มันได้หยุดทุกอย่างแล้วคิดกับตัวเองว่า จากนี้เราจะทำสิ่งที่เรารักให้ได้ก่อนตาย ก็เลยลองดู จากนั้นก็ไปศึกษาในคอมมูนิตี้ ในไทยจะมีคอมมูนิตี้ที่ชื่อว่า NFT and Crypto Art Thailand เป็นกลุ่มในเฟซบุ๊ก วิวก็ไปส่องอยู่พักหนึ่งว่าเค้าทำอะไรกันยังไง เริ่มต้นยังไง แล้วก็ดูงานของคนอื่นด้วย จากนั้นก็เลยเริ่มลองดู”
ปกติสมัยก่อนวิววาดมือใช่ไหม ไม่เคยใช้โปรแกรมวาด?
“ใช่ค่ะ iPad นี่ซื้อเพื่องานนี้เลย ไม่เคยจับ ไม่เคยวาดมาก่อนเลย เคยใช้แต่มือถือเอาไว้คุยงานอย่างเดียว ก็ต้องมาฝึกเพื่อทำ NFT Art ผ่านโปรแกรมให้เป็นไฟล์ดิจิทัล ศึกษาทั้งโปรแกรมการวาด ทั้งเครื่องมือ การวาดผ่าน iPad กับวาดมือ มันต่างกันมาก ยังไงวาดมือก็เพียวกว่าพลิ้วกว่า มันต่างกัน”
ทำไมเราไม่วาดมือแล้วเอาไปสแกนเป็นไฟล์ดิจิทัล ทำไมเลือกใช้โปรแกรมวาด?
“เซฟต้นทุน ไม่ต้องลงทุนซื้อกระดาษ ไม่ต้องลงทุนซื้อสี มันเป็นคนละเวย์ด้วย ถ้าเราไปเวย์นั้น เราสู้เค้าไม่ได้ เพราะเราไม่ได้มีชื่อเสียงมาก่อน เราเป็นใครก็ไม่รู้ เรากำลังสร้างตัวตนในเวย์นี้ ภาพดิจิทัลมันสะดวกกว่า แล้ว NFT มันแยกไปหลายแขนง หลายหมวด เราต้องดูว่าเราเหมาะกับเวย์ไหน ก็เลยเลือกเวย์นี้”
NFT Art คืออะไร? แตกต่างจากงานศิลปะทั่วไปยังไง?
“NFT Art คือ Non-Fungible Token สินทรัพย์ดิจิทัลซึ่งอัพไปที่ Blockchain ที่รับรองว่าสินทรัพย์ดิจิทัลไม่ซ้ำกัน มีแพลตฟอร์มเป็นตัวรองรับไลเซนส์ของเราว่า ภาพนี้จะเป็นหนึ่งเดียวในโลกไม่สามารถทำซ้ำได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปถ่าย วิดีโอ เสียง และไฟล์ดิจิทัลประเภทอื่น ๆ ส่วนความแตกต่างระหว่างงานศิลปะทั่วไปกับ NFT Art ก็คือ งาน NFT Art สามารถดูข้อมูลย้อนหลังประวัติการซื้อขายบน Blockchain ที่ใช้สกุลเงินดิจิทัลได้หมด ทำให้เรารู้ว่าใครคือเจ้าของที่แท้จริง และมีการซื้อขายมาแล้วกี่ครั้ง ใครเป็นคนซื้อ ใครเป็นคนขายบ้าง สามารถดูได้หมด แต่งานศิลปะทั่ว ๆ ไป ไม่สามารถเช็กได้ ถ้าไม่ได้มีการจดบันทึกเอาไว้ และไม่สามารถเช็กได้ด้วยว่า งานนี้เป็นของแท้หรือไม่ แต่ NFT Art เช็กได้เลยว่าเป็นของแท้”
NFT Art มีกี่ประเภท?
“มีเยอะมาก ไม่ใช่มีแค่งานวาดนะ มันมีทั้งบทความ มีทั้งเพลง มันค่อนข้างเปิดกว้าง อย่างอาร์ตที่ได้รับความนิยม มีงาน Profile Pic Non Fungible Token หรือ PFP NFT งานรูปโปรไฟล์ คือการวาดงานหลาย ๆ ตัวขึ้นมา แต่ว่าเป็นธีมเดียวกัน มาสร้างเป็นคอลเลกชั่นอย่าง Pony Cat ของวิว เปลี่ยนแค่เพียงชุด พื้นหลัง โน้น..นี่..นั่น.. ให้คนที่ซื้อเอาไปตั้งเป็นรูปโปรไฟล์แทนตัวเองในโลกออนไลน์ อย่างงานที่เป็นสเกลใหญ่ อลังการ คล้าย ๆ ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ (ขออนุญาตอ้างอิงถึงนะคะ) มันจะเป็นอีกกลุ่มตลาดหนึ่ง เป็นกลุ่มตลาดของนักสะสม ส่วนงาน PFP คนจะซื้อมาเก็งกำไร ไปขายต่อเป็นมือหนึ่ง มือสอง มือสาม จากตอนแรกราคาอาจจะไม่เท่าไหร่ แต่พอศิลปินเริ่มดังขึ้นเรื่อย ๆ งานก็แพงขึ้น ขายต่อไปก็ได้กำไร อย่างพวกภาพถ่ายก็เอาไปขายเป็น NFT Art ได้”
ทำไมวิวถึงเลือกมาผลิตงาน PFP NFT ?
“ด้วยความที่วิวเพิ่งกลับมาวาดภาพอีกครั้ง วิวต้องรื้อฟื้นฝีมือ ความสามารถ การจับ iPad ครั้งแรกเพื่อวาดภาพ เส้นมันยึกยือมาก มันต้องเรียนรู้โปรแกรม เรียนรู้การใช้เครื่องมือบวกคู่กับสกิล จึงเลือก PFP เพราะมันง่าย มันเปลี่ยนแค่โครงสร้างภายนอก อย่างชุด พื้นหลัง แต่โครงเดิมก็คือเป็นรูปแมว เหมือนอย่างตัวคาแรกเตอร์เฮลโลคิตตี้ ของซานรีโอ้ ที่จะมีการเปลี่ยนชุด เปลี่ยนโน่น..นี่..นั่น ตามสไลต์ของเขาไป วิวเลยตั้งเป้าว่า ถ้าวาด PFP Pony Cat ครบ 200 ชิ้น วิวน่าจะชำนาญการใช้เครื่องมือแล้ว จากนั้นก็จะขยับไปทำอย่างอื่น ใจจริงอยากวาดภาพสเกลใหญ่ผ่าน iPad นี่แหละ แต่ก็จะไม่ทิ้งงานเพียวอาร์ต ก็จะฝึกฝน เรียนรู้ พัฒนา ตามข่าวสารต่าง ๆ ของโลก Cryptocurrency และ NFT ต่อไป”
แล้วเจ้าตัว Pony Cat ได้รับแรงบันดาลใจมาจากไหน?
“คาแรกเตอร์นี้ วิวดึงมาจากน้องแมวที่วิวเคยเลี้ยง น้องชื่อ Pony แต่เสียชีวิตไปแล้ว เป็นแมวตา 2 สี มีเอกลักษณ์ชัดเจน เราสามารถดึงคาแรกเตอร์มาจากความซน ความซ่า ของเขา ทำให้มีพวกรอยแผล หน้าตาดุ ๆ หน่อย แล้วน้องเค้าชอบยืน 2 ขา ยืนท่าแบบในรูป PFP เลย วิวก็สเก็ตจากท่านั้นมาเป็นภาพการ์ตูน จึงเป็นที่มาของคอลเลกชั่น Pony Cat อยากสร้างคาแรกเตอร์นี้ให้น้องมีชีวิตขึ้นมาอีกครั้ง ผ่านการใส่ชุดต่าง ๆ ที่เราชอบ สำหรับงานของวิวมี 5 ระดับ Commom (1 ดาว), Rare (2 ดาว), Super Rare (3 ดาว), Epic (4 ดาว), Legendary เป็นตัวระดับ 5 ดาวที่มีแค่ 10 ชิ้น ซึ่งจะมีสิทธิพิเศษอะไรบางอย่างเหนือกว่าตัวทั่ว ๆ ไป อะไรประมาณนี้ เพื่อดึงดูดความสนใจ มีการใส่การตลาดเข้าไปช่วยในการขายงานด้วย”
ผลงานที่ขายได้แพงที่สุดราคาเท่าไหร่?
“เป็น PFP NFT คอลเลกชั่น Pony Cat ผลงานระดับ 5 ดาว หรือ Legendary ที่มีแค่ 10 ชิ้น ปล่อยไปแล้ว 3 ชิ้น ชิ้นล่าสุดถูกประมูลไป 105 NEAR ซึ่งตอนนั้น 1 NEAR ประมาณ 150 บาท (เดือนมีนาคม 2565) รวมแล้วขายได้ราคาประมาณ 15,750 บาท และชิ้นงาน Legendary ทั้งหมด ผู้ครอบครองจะได้สิทธิพิเศษในการได้ส่วนแบ่งเป็นเงิน 1 เปอร์เซ็นต์จากยอดขายงานระดับ 3 ดาวขึ้นไปในคอลเลกชั่น Pony Cat ทั้งหมดในอนาคตด้วย เรื่อง NFT ในไทย การตลาดสำคัญมาก จะขายเพียว ๆ อย่างเดียวไม่ได้ ต้องมีสิ่งมากระตุ้นการขาย”
รายได้อื่น ๆ ที่เข้ามา นอกเหนือจากการขายงาน NFT Art หลังมาเป็นศิลปิน NFT?
“ก็มีขายของที่ระลึกที่ผลิตจากงานของเรา ได้รับเชิญไปพูดเรื่อง NFT Art และกำลังมีแผนจะนำตัวคาแรกเตอร์ Pony Cat ไปทำเป็นแบรนด์เพื่อขายสินค้าต่อไป โดยเตรียมจะนำไปทำเป็นโมเดล เป็นอาร์ตทอย อย่าง Art Toy Pony Cat ชิ้นแรก ตอนนี้จัดแสดงอยู่ที่ Central The Original Store จนถึงวันที่ 8 มกราคม 2566 นอกจากนี้ มีแผนจะนำตัว Pony Cat เข้าสู่โลกเมตาเวิร์ส ซึ่งเป็นช่องทางที่ทำให้เรามีรายได้มากขึ้น”
ค่าใช้จ่ายต่อเดือนสำหรับการเป็นศิลปิน NFT Art?
“ถ้าไม่นับรวมราคาอุปกรณ์อย่าง iPad ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ถือว่าไม่เยอะค่ะ หลักร้อยต่อเดือน มันอยู่ที่ว่าเราลงงานขายมากหรือน้อย สำหรับแพลตฟอร์มที่วิวอยู่ paras เวลาเราโพสต์งานหนึ่งชิ้น มีค่าใช้จ่ายน้อยมาก ชิ้นละ 1-3 บาทเท่านั้น (ขึ้นลงตามค่าเงินในช่วงนั้น ๆ) บางแพลตฟอร์มก็เสียแค่ครั้งเดียวแล้วไม่เสียอีกเลย หลักพันเท่านั้น”
คนส่วนใหญ่ซื้อ NFT Art ไปทำไม?
“ถ้าเป็นในเมืองนอก คนที่ได้ครอบครอง NFT Art เขาจะมีความภาคภูมิใจ คนที่ซื้องานสเกลใหญ่ ก็จะปริ้นท์งานออกมา เพื่อเอาไปประดับบ้าน ประดับที่ทำงาน ด้านคนที่ซื้องาน PFP NFT ก็จะเหมือนเราซื้อรถเฟอร์รารี่ แล้วเอารูปรถไปตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ทางออนไลน์ หรือเอาไปโพสต์โชว์ทางโซเชียล แต่เปลี่ยนจากรถมาเป็นงาน NFT Art ซึ่งมันเท่กว่า แล้วมาตั้งเป็นรูปโปรไฟล์ มาโพสต์โชว์เพื่อแสดงสถานะทางสังคมและการเงินของเรา ส่วนถ้าเป็นในไทย ก็จะซื้อไปเก็งกำไรเพื่อขายต่อ ซื้อเพื่อรับสิทธิพิเศษต่าง ๆ ที่สามารถสร้างรายได้ในอนาคต หรือบางท่านชอบงานเรา เห็นว่าสวยดี อยากสนับสนุนศิลปิน แต่ส่วนใหญ่จะซื้อเพื่อการเทรด หรือไปเก็งกำไรต่อ สำหรับคนไทยนะคะ และนักสะสมคนไทยจะชอบถามว่า ซื้องานไปแล้วได้อะไร ถ้าเรามีสิทธิพิเศษอื่น ๆ เพื่อจูงใจให้กับนักสะสมเกิดแรงจูงใจในการสะสมงานของเราก็จะดีมากค่ะ ส่วนของวิวคือการดีลพาร์ทเนอร์ ร้านกาแฟ ร้านชาบู ร้านคาเฟ่แมว ฯ ตอนนี้วิวมีพาร์ทเนอร์ 5 ร้าน เมื่อโชว์งาน NFT Art ของวิว ก็จะได้รับส่วนลดหรือสิทธิพิเศษไปเลยจากร้านพาร์ทเนอร์”
ศิลปิน NFT Art ที่เราชื่นชอบ?
“ไม่ใช่แค่งานพี่เค้าดีอย่างเดียวนะคะ ด้านทัศนคติของพี่เขาก็ดีมาก ๆ ด้วยค่ะ เขาคือ พี่ไตเติ้ล Flipped Face ค่ะ เป็นคนไทยคนแรกที่ทำงาน NFT Art แล้วได้ขึ้นเวทีที่นิวยอร์ก ถึงแม้เขาจะมีชื่อเสียงระดับนั้น แต่ก็ยังช่วยสนับสนุนศิลปินใหม่ ๆ และยังช่วยสนับสนุนงานของวิวด้วยค่ะ งานของพี่เขาจะเป็นภาพคนหันหัวกลับด้าน เวลาพี่เขาไปพูด เขาจะให้ความรู้ด้านทัศนคติ มายด์เซต การใช้ชีวิตต่าง ๆ วิวได้ความรู้ในการให้คำแนะนำ ให้แง่คิดต่าง ๆ ตามสถานที่ ๆ พี่เขาไปขึ้นเวทีต่าง ๆ เยอะมาก
อีกท่านคือ พี่แมว-จิรศักดิ์ ปานพุ่ม วิวได้มีโอกาสนำผลงาน NFT Pony cat ไปคอลแลปส์กับพี่แมวด้วย ทำให้ Pony Cat ของวิวมีเพลงประกอบ NFT ด้วยค่ะ พี่แมวนอกจากจะเป็นนักร้องนักดนตรีที่มากความสามารถแล้ว ยังเป็นศิลปิน NFT ที่สร้างสรรค์ผลงานได้สุดยอดเช่นกันค่ะ ชื่อคอลเลกชั่นที่โดดเด่นคือ Goat Republic และยังมีทั้งผลงานภาพ 2D 3D ผลงานเพลง และนำผลงาน NFT มาร่วม Collapse กันทำเป็นซีรีส์ NFT ซึ่งบางผลงานมีเพลงประกอบที่ขับร้องโดยพี่แมวเองด้วยค่ะ”
ให้คำแนะนำสำหรับคนที่อยากเป็นศิลปิน NFT Art แบบวิวหน่อย?
“ต้องสำรวจความชอบของตัวเองก่อน สิ่งที่เราสนใจ อันนี้สำคัญมาก อย่างเช่น ถ้าเราไม่ได้ชอบวาดรูป แต่ชอบถ่ายรูป พอเรารู้แล้วว่าเราชอบอะไร เราก็ต้องไปดู Blockchain ที่เหมาะกับเรา ว่ามีแพลตฟอร์มอะไรบ้าง คนที่ชอบเสพงานศิลปะภาพถ่ายอยู่ที่ไหนบ้าง จากนั้นก็ต้องดูว่าเราสามารถนำงานของเราไปโปรโมทที่ช่องทางโซเชียลไหนได้บ้าง ทวิตเตอร์, อินสตาแกรม, เฟซบุ๊ก ต้องโปรโมตด้วยการติด#อะไร จากนั้นก็คิดคอนเซปต์ขึ้นมาว่าจะผลิตงานเป็นแบบไหน เช่น เราชอบถ่ายรูป จะทำงาน NFT Art ภาพถ่าย เราคิดคอนเซปต์เป็นคอลเลกชั่น ยกตัวอย่างเช่น ภาพพระอาทิตย์ตก ก็ถ่ายเป็นภาพพระอาทิตย์ตกจากทั่วทุกมุมโลก สร้างเป็นคอลเลกชั่นขึ้นมา และต้องศึกษาหาข้อมูลทุกวัน รวมทั้งต้องระวังเรื่องอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ จะกดลิ้งก์อะไร ต้องศึกษาให้ดีว่ากดได้ไหม ต้องระวังป้องกันกระเป๋าเงินดิจิทัลของเราให้ดีด้วย”
คำแนะนำสำหรับคนที่ขายงาน NFT Art อยู่แล้ว แต่ขายไม่ค่อยได้ ต้องทำยังไง?
“มันต้องอยู่ให้ได้นาน ต้องผลิตงานต่อเนื่อง ต้องมีวินัย ไม่ใช่ว่าทำ ๆ หาย ๆ คนที่เค้าจะมาสนับสนุน เค้าดูหลายอย่าง ถ้าอยากจะเติบโตในไทย ต้องเข้าใจลักษณะนิสัยของคนไทยก่อนด้วยค่ะ เข้าใจกลุ่มคนที่สะสมงานของเขาด้วย ว่าเขาชอบแบบไหน เราก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับกลุ่มเป้าหมายของเรา ต้องปรับตัวเองให้เข้ากับสถานการณ์ให้ได้ด้วยค่ะ”
คิดว่าอนาคตของ NFT Art ในไทยจะเติบโตไปได้ขนาดไหน?
“ตอนนี้ยังตอบไม่ได้ว่ามันจะเติบโตไปในทิศทางไหน แต่สิ่งที่เริ่มมีข่าวออกมาในปีหน้า สิ่งที่จะเกิดขึ้น ณ ตอนนี้ ไม่ใช่แค่ภาคเอกชนที่สนใจในด้านนี้อย่างเดียวแล้ว แต่จะมีภาครัฐที่ตามเข้ามาเห็นเสน่ห์ของ NFT ด้วย อย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย มีแผนจะกระตุ้นการท่องเที่ยว ด้วยการนำ NFT มาแจกตามจุดต่าง ๆ ทั่วประเทศ เช่น ททท. อยากโปรโมตสถานที่ท่องเที่ยวนี้ ถ้าเราไปถึงไปสแกน QR Code ก็จะได้ NFT จากโลเกชั่นนี้ เราต้องเดินทางไปจริง ๆ ให้ถึงโลเกชั่นนั้น ๆ ถึงจะได้ NFT นั้น ๆ มา มันก็จะมีความ Rare ททท. เริ่มทำแล้ว อย่าง สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ ก็เริ่มเห็นคุณค่าของ NFT ให้คนในประเทศหันมาสนใจ NFT มากยิ่งขึ้น โดยการจัดประกวดผลงาน NFT และจัดแสดงโชว์ผลงานที่ได้คัดเลือกที่ จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 9-11 ธ.ค. 65 เมื่อภาครัฐเริ่มเข้ามากระตุ้นตรงนี้มากขึ้น ทิศทางน่าจะดี แต่การรับรู้ของคนไทยจะเปิดใจได้มากแค่ไหน อยู่ที่พวกเราทุกคน ถ้าการสื่อสารประสบความสำเร็จ เมื่อภาครัฐเข้ามาช่วยส่งเสริม ภาคเอกชนก็ให้ความสนใจอยู่แล้ว มีโอกาสที่มันจะบูม มันจะเริ่มเป็นกระแส มีการบอกต่อแบบปากต่อปาก มันก็จะเริ่มเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้คนไทยของเรามีช่องทางการทำรายได้เพิ่มขึ้นด้วยค่ะ”
สามารถติดตามผลงานของ “วิว Pony cat” ได้ที่ https://linktr.ee/viewponycat