จากการที่มีการสอบถามถึงความคืบหน้าของโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ซึ่งสืบเนื่องมาจาก โครงการเมืองต้นแบบที่ 1 ที่ อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เมืองต้นแบบที่ 2 ที่ อ.เบตง จ.ยะลา เมืองต้นแบบที่ 3 ที่ อ.สุไหงโก-ลก และเมืองต้นแบบสุดท้าย ที่ อ.จะนะ จ.สงขลา ตามมติ ครม. เมื่อ วันที่ 7 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา 

พล.ร.ต.สมเกียรติ ผลประยูร เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้กล่าวว่าสภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 หรือ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” โดยมี ศอ.บต. ทำหน้าที่เป็น คณะเลขานุการ ในการอำนวยความสะดวกให้กับคณะทำงานทุกคณะของโครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ขณะนี้โครงการเมืองต้นแบบที่ 4 ที่ อ.จะนะ อยู่ระหว่างการดำเนินการในรายละเอียดในการจ้างมหาวิทยาลัยในพื้นที่เป็นผู้ศึกษาออกแบบแผนแม่บท เพื่อการกำหนดพื้นที่แบ่งเป็นโซนต่างๆ ว่า อุตสาหกรรมอะไรควรจะอยู่ตรงบริเวณไหน เนื่องจากในโครงการนี้ จะมีอุตสาหกรรมหลายอย่าง อาทิ พลังงานไฟฟ้าทางเลือก, อุตสาหกรรมผลิตกังหันลมและเครื่องกำเนิดไฟฟ้า, อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร, อุตสาหกรรมผลิตอาหารแปรรูปและอุตสาหกรรมอาหารฮาลาล, อุตสาหกรรมผลิตหัวรถจักรและแคร่ขนตู้สินค้าและอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ฯลฯ ซึ่งจะต้องมีการแบ่งโซนแบ่งพื้นที่ ภายในพื้นที่ 17,000 ไร่ ที่เป็นของเอกชนผู้ลงทุน โดยมหาวิทยาลัยที่เป็นผู้ดำเนินการ จะมีการลงพื้นที่เพื่อพูดคุยกับคนในพื้นที่เพื่อการมีส่วนร่วมในทุกประเด็น เข้าใจว่าอีกประมาณ 2 เดือน จะมีการลงนามระหว่าง สภาพัฒนาเศรษฐกิจสังคมแห่งชาติกับมหาวิทยาลัยในพื้นที่ จ.สงขลา สำหรับโครงการ “เมืองอุตสาหกรรมแห่งอนาคต” แห่งนี้ อุตสาหกรรมทุกอย่างเป็นอุตสาหกรรมที่ทันสมัย และไม่มีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับปิโตรเคมี ซึ่งเป็นไปตามมติของ ครม. 

สำหรับในด้านอื่นๆ ในการขับเคลื่อนโครงการนี้  ศอ.บต.ได้ทำความเข้าใจเบื้องต้น ได้มีการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของคนในพื้นที่ และได้มีการจัดตั้งสภาสันติสุขขนาดเล็ก เพื่อให้คนในพื้นที่ได้ใช้เป็นช่องทางในการพัฒนาพื้นที่พัฒนาอาชีพตามความต้องการของคนในพื้นที่ โดย ศอ.บต. และส่วนราชการในพื้นที่เป็นผู้สนับสนุน และมีการดำเนินการในเรื่องของที่ดินที่ประชาชนทำกินอยู่โดยไม่มีเอกสารสิทธิ เพื่อให้มีเอกสารสิทธิในการทำกินโดยไม่ผิดกฎหมาย กรณีที่ที่ดินเป็นที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินในเขตห้ามล่าฯ ที่อยู่ในพื้นที่ทุ่งเลี้ยงสัตว์และอื่นๆ เพื่อให้ประชาชนที่อยู่ในที่ดินหลวงเหล่านี้ มีความมั่นใจว่าจะไม่ถูกหน่วยงานที่เป็นเจ้าของให้กฎหมายยึดคืน 

นายประสิทธิ์ เมฆสุวรรณ อดีตประธานภาคประชาสังคมจังหวัดชายแดนภาคใต้กล่าวว่า ถ้าผลการศึกษาถึงผลดีผลเสียของโครงการแล้ว และคนในพื้นที่ส่วนใหญ่เห็นด้วย รัฐบาลต้องเร่งผลักดันให้เกิดขึ้นเพราะขณะนี้ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เต็มไปด้วยคนตกงานเพราะ โควิด-19 โดยเฉพาะแรงงานไทยที่ตกงานจากมาเลเซีย และนักศึกษาที่จบออกมาปีละกว่า 20,000 กว่าคนใน 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้ หากในพื้นที่มีอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ที่สามารถป้องกันการทำลายสิ่งแวดล้อมได้ ก็จะช่วยให้ปัญหาความยากจน คนตกงาน และนักศึกษาที่จบมาแล้วมีงานทำ ก็จะเป็นผลดีกับการแก้ปัญหาของจังหวัดชายแดนภาคใต้